เวิร์คพอยท์ พึ่ง “ทีวีช้อปปิ้ง” กู้รายได้ หลังรายการใหม่ไม่ปัง

สถานการณ์ช่วงนี้ของ “เวิร์คพอยท์” ต้องเจอโจทย์ยากขึ้นทุกที เมื่อยังไม่มีรายการวาไรตี้ใหม่ๆ สร้างกระแสความนิยมและเรตติ้งได้ ทำให้เวิร์คพอยท์ต้องหันมาพึ่งพารายการ “โฮมช้อปปิ้ง” ที่หวังเป็นช่องทางสร้างรายได้ใหม่ให้กับช่อง 

ล่าสุด เวิร์คพอยท์ได้เปิดตัวรายการ Hello Shops ในวันที่ 14 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยเป็นรายการจำหน่ายสินค้าโฮมช้อปปิ้ง ครอบคลุมสินค้า 5 ประเภท คือ เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า ไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยว แฟชั่น สุขภาพและความงาม เพื่อเจาะกลุ่มเพศหญิง ซึ่งเป็นแม่บ้าน โดยออกอากาศ 4 ช่วงเวลา ช่วงละ 10 นาที และช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน

ปรากฏว่าผังรายการใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เวิร์คพอยท์ได้เพิ่มช่วงเวลา Hello Shops อีก 4 ช่วงเวลาในระหว่างวัน ตั้งแต่ช่วงสาย บ่าย เย็น และดึก ช่วงเวลาละ 10 นาที รวมทั้ง 8 ช่วงต่อวัน รวมทั้งหมด 80 นาทีต่อวัน ซึ่งถือว่าให้เวลากับรายการนี้เยอะมาก

สำหรับรายการ Hello Shops เป็นความร่วมมือกับบริษัท นาโนนีเซีย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเวิร์คพอยท์เอง โดยตั้งเป้ารายได้จากการขายสินค้าผ่านทีวีช้อปปิ้งในปี 2562 ทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 365 ล้านบาท

ผลประกอบการของเวิร์คพอยท์ใน 3 ไตรมาสของปี 2561 ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น มีรายงานไว้ว่า มีรายได้จากธุรกิจทีวีช้อปปิ้งอยู่ที่ 105 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากสินค้าภายใต้แบรนด์ Let Me Beauty ที่ขายสินค้าควบคู่กับรายการ “Let Me In ศัลยกรรมพลิกชีวิต” ซึ่งเป็นสินค้าที่จำหน่ายโดยบริษัท นาโนนีเซียเช่นกัน

ส่วนผลประกอบการเฉพาะไตรมาส 3/2561 นั้น เวิร์คพอยท์มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,007.11 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,166.51 ล้านบาท หรือ 14%

สาเหตุสำคัญที่ทำให้รายได้และกำไรลดลงนั้น เกิดจากรายได้ธุรกิจทีวี และช่องทางทีวีออนไลน์ ซึ่งเป็นรายได้จากค่าโฆษณาและให้เช่าเวลาลดลง จึงมีรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 769.78 ล้านบาท ลดลง 26% หรือคิดเป็นวงเงิน 266.69 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ไตรมาส 3/2560 ที่มีรายได้ธุรกิจทีวีรวม 1,036.47 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ธุรกิจทีวีช้อปปิ้งถือว่า “ท้าทาย” ไม่น้อยเลย เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ซึ่งบริษัท นาโนนีเซีย เป็นบริษัทที่เวิร์คพอยท์ถือหุ้นใหญ่ถึง 100% ยังเป็นบริษัทใหม่ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มาก

โดยทีวีดิจิทัลก็ให้น้ำหนักกับธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง ไม่ว่าจะเป็นช่อง 8 ของ เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์ ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง โดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากทีวี แต่ใช้ทีวีเป็นตัวช่วยโปรโมตสินค้า และสปริงนิวส์ ที่ถูกทีวีไดเร็ค Take over ไปแล้ว ในขณะที่รายการขายสินค้าทีวีช้อปปิ้งแทรกซึมเข้าไปในทุกช่วง ในทุกช่องทีวีดิจิทัลแล้ว

เป้าลด Cost การผลิตรายการลงกว่า 200 ล้านบาทปีนี้

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่ง ระบุว่า เวิร์คพอยท์นอกจากหาทางเพิ่มรายได้จากธุรกิจทีวี ช้อปปิ้งแล้ว ก็ยังมีแผนลดต้นทุนในการผลิตรายการลงด้วย โดยลดงบลงทุนเหลือ 650 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่ใช้งบส่วนนี้ไปทั้งหมดประมาณ 800 ล้านบาท

ที่ผ่านมา เวิร์คพอยท์เป็นช่องที่มีความโดดเด่น ในด้านความเป็นครีเอทีฟทีวี นำเสนอรายการวาไรตี้หลากหลาย ทั้งจากรายการที่คิดขึ้นเอง และรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์มาผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตรายการสูง แม้ต้นทุนสูงแต่งานคุณภาพ ก็ได้รับผลตอบรับที่ดีกลับมาไปในแง่ความนิยม และเรตติ้งของแต่ละรายการและเรตติ้งช่องโดยรวม

แต่ในปีที่ผ่านมา เมื่อยังไม่มีรายการใหม่ติดตลาด และการดันรายการใหม่ๆ ก็ดูเหมือนเป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เวิร์คพอยท์จึงเลือกใช้วิธีลดต้นทุน

นักวิเคราะห์มองว่า การลดต้นทุน เป็นกลยุทธ์ที่ดีในช่วงที่สถานการณ์รายได้มีแนวโน้มลดลง แต่ในทางกลับกัน การลดต้นทุนการผลิตรายการ อาจจะมีผลกระทบต่อคุณภาพของแต่ละรายการที่ผลิตและออกอากาศด้วย และที่สำคัญอาจจะกระทบต่อความนิยมเรตติ้งรายการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับรายได้จากค่าโฆษณา

หวัง 4 รายการใหม่ ชูโรงด้วย Earth Quake “ตา-ปัญญา” ต้องลุยเอง

สำหรับรายการวาไรตี้ของเวิร์คพอยท์ ที่ตั้งความหวังไว้สูงในปีนี้ ประกอบด้วย รายการ “Super Boy Thailand” รายการค้นหาชายหนุ่มที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี, รายการ “10 Fight 10 หรือ 10 สู้ 10” ซุปตาร์ท้าชก ที่ได้ “เจ เจตริน” มาเป็นคีย์แมนสำคัญในรายการ, รายการ “The Rapper ซีซัน 2” และรายการ “Earth Quake เกมแผ่นดินไหว” ที่มีปัญญา นิรันดร์กุล เป็นพิธีกรเอง

ปัจจุบัน “ตา-ปัญญา” ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้งเวิร์คพอยท์ ทำหน้าที่เป็นพิธีกรรายการ “ปริศนาฟ้าแลบ” เพียงรายการเดียว จึงมีการคาดการณ์กันว่า รายการ “เกมแผ่นดินไหว” น่าจะมาแทนรายการ “ปริศนาฟ้าแลบ” ที่อาจจะต้องถึงเวลา Refresh รายการใหม่ เพราะออกอากาศมายาวนานกว่า 4 ปีแล้ว

ขณะเดียวกันเรตติ้งของเวิร์คพอยท์เฉลี่ยทั้งปี 2561 อยู่ที่ 0.810 อยู่ในอันดับ 4 ลดลงจาก 1.001 ที่อยู่ในอันดับ 3 ในปี 2560 เนื่องจากยังไม่มีรายการได้รับความนิยมสูงเท่ากับ The Mask Singer ซึ่งช่วยดันเรตติ้งให้ช่องทั้งปี 2560 ซึ่งปี 2560 ถือเป็นปีทองของเวิร์คพอยท์ ในฐานะช่องวาไรตี้และครีเอทีฟที่ประสบความสำเร็จสูงสุด

ส่วนเรตติ้งในปี 2562 เรตติ้งของเวิร์คพอยท์ประจำสัปดาห์ 14-20 ม.ค. ได้เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.802 ยังอยู่ในอันดับ 4

รายการที่ได้รับความนิยมสูงสุดของเวิร์คพอยท์ในขณะนี้ คือ กลุ่มรายการตระกูลไมค์ ตั้งแต่ ไมค์ทองคำ ไมค์ทองคำเด็ก ไมค์หมดหนี้ ส่วนรายการช่วงไพรม์ไทม์คือ I can see your voice และ กลุ่มรายการ The Mask Singer.


ข่าวเกี่ยวเนื่อง