ชีวิตในหมอกพิษ

อิษณาติ วุฒิธนากุล

ภาพหมอกควันฝุ่นพิษที่ดูอัดแน่นอยู่ในอากาศ เป็นภาพที่หลายคนคงไม่อยากเชื่อว่าจะเกิดขึ้นกับกรุงเทพมหานครของเรา ก่อนหน้านี้คนไทยส่วนใหญ่คงเคยได้ยินปัญหาทางด้านมลพิษทางอากาศจากข่าว หรือได้สัมผัสจากการไปเที่ยวประเทศอย่างจีนหรืออินเดีย แต่คงมีน้อยคนที่คิดว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับเมืองหลวงของเรา

อย่างไรก็ตาม วันนี้มันชัดเจนแล้วว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาทางด้านมลพิษทางอากาศอย่างเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป สิ่งที่น่าสะท้อนใจคือนอกจากที่เราและรัฐบาลไม่เคยจริงจังกับการป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้น กระทั่งปัจจุบันที่ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วก็ยังดูเหมือนไม่มีแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมออกมา ลองหยุดคิดกันดูมั้ยครับว่า หากปัญหาทางด้านมลพิษทางอากาศมันแย่ลงเรื่อยๆ ชีวิตของเราจะมีผลกระทบหรือเปลี่ยนไปในรูปแบบใด? เพราะมันมีความเป็นไปได้ว่าเราอาจไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างที่เคยเป็นมาได้อีกเลย

หากอยากเห็นภาพว่าเรากำลังต้องใช้ชีวิต หรือเรากำลังต้องเผชิญกับอะไร วิธีที่ง่ายที่สุดคือหันไปมองประเทศที่เคยประสบกับปัญหานี้มาก่อน โดยประเทศแรกๆ ที่ต้องต่อสู้กับมลพิษทางอากาศนั้นไม่ใช่ประเทศจีนแต่คือประเทศอังกฤษ อังกฤษเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำการปฎิวัติอุตสาหกรรม ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมาจนไม่กี่สิบปีก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมทั้งหมดของอังกฤษ เช่น ไฟฟ้า รถไฟ เรือยนต์ เหล็ก แร่ โรงงาน กระทั่งครัวเรือน ต่างก็ใช้พลังงานจากถ่านหินเป็นส่วนใหญ่ทั้งสิ้น การพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินเป็นหลัก ทำให้อังกฤษต้องมีการถลุงและเผาไหม้ถ่านหินเป็นจำนวนหลายล้านตันต่อปี ซึ่งการเผาไหม้นี้ก็ได้ทำให้มลพิษทางอากาศของอังกฤษแย่ลงมาเรื่อยๆ จนในช่วงธันวาคมปี 1952 สภาพมลพิษทางอากาศของลอนดอนได้เข้าสู่จุดที่แย่ที่สุด หมอกพิษแผ่ปกคลุมทั่วเมือง โดยหมอกพิษรอบนั้นได้คร่าชีวิตประชาขนชาวลอนดอนอย่างน้อย 4,000 คน และอีกกว่า 100,000 คนต้องเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศ ไม่เพียงแค่มนุษย์ แต่สัตว์เลี้ยงจำนวนมากอย่างวัวก็ได้ตายลงเช่นกัน เหตุการณ์นั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อังกฤษตัดสินใจจัดการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเด็ดขาดและจริงจัง โดยโศกนาฏกรรมจากหมอกพิษครั้งนั้นได้ถูกเรียกว่า “The Great Smog of London” ภาพด้านล่างคือภาพบรรยากาศของลอนดอนในตอนนั้น

Source : www.britannica.com, www.thoughtco.com

จริงอยู่ว่ามลพิษทางอากาศของกรุงเทพฯ ยังไม่ได้แย่เท่ากับสิ่งที่ลอนดอนต้องเผชิญในปี 1952 แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ถือได้ว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า หากเราและรัฐบาลยังไม่รีบจัดการกับปัญหานี้ ยังทำหรือคิดว่าปัญหามลพิษทางอากาศไม่ใช่เรื่องใหญ่ หรือคิดว่าอีกไม่นานจะหายไปได้เอง สุดท้ายแล้วกรุงเทพฯ เราอาจจะต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมที่คล้ายกันก็เป็นได้

ความโชคดีคือมันยังมีความเป็นไปได้น้อยที่กรุงเทพฯ เราจะประสบปัญหาคล้ายกับลอนดอนในช่วงปี 1952 เพราะปัญหาหลักๆ ของลอนดอนในยุคนั้นเกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินจำนวนมหาศาล ในขณะที่กรุงเทพฯ ยุคปัจจุบันไม่ได้มีการพึ่งพาถ่านหินสำหรับพลังงานขนาดนั้น ต้นเหตุของมลพิษในกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์มากกว่า ดังนั้นหากอยากเห็นภาพหรือสิ่งที่กรุงเทพฯ กำลังต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้ ก็คงต้องมองไปยังเมืองที่มีปัญหาคล้ายกับกรุงเทพฯ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นเมืองใหญ่ของจีนอย่างปักกิ่ง หรือ เซี่ยงไฮ้ จริงอยู่ว่าจีนอาจจะมีบางปัญหามากกว่าที่ไทยต้องเผชิญเช่นถ่านหิน แต่ถึงแบบนั้นทราบกันมั้ยครับว่าปัจจุบันมีวันจำนวนหลายวันที่เมืองอย่างปักกิ่งมีคุณภาพอากาศที่ดีกว่ากรุงเทพฯ เราแล้วนะครับ แปลว่าสิ่งที่ปักกิ่งเคยเผชิญหรือต้องเผชิญไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป แต่คือความเป็นจริงที่เราอาจะต้องประสบด้วยตัวเองในไม่ช้านี้

Source: aqicn.org, 23 Jan 2019

ในเดือนมกราคม ปี 2013 จากจำนวน 31 วันของเดือนมกราคม มี 25 วันที่ PM 2.5 เกินค่ามาตราฐานในปักกิ่ง หลายคนในปักกิ่งตอนนั้นก็คงคล้ายกับหลายคนในกรุงเทพฯ ในตอนนี้ ที่คิดว่าไม่เป็นไรเดือนหน้าหรืออีกไม่นานสภาพอากาศก็คงจะดีขึ้น โดยรัฐบาลจีนในยุคนั้นก็มีความคล้ายคลึงกับรัฐบาลไทยในยุคนี้ ที่เลือกที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลทางด้านอากาศบางส่วนรวมถึงอันตรายจากมลพิษทางอากาศทั้งหมดต่อประชาชน ซึ่งสุดท้ายแล้วความหวังว่าสภาพอากาศจะดีขึ้นในไม่กี่วันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

Source: www.qz.com, Data: Fresh-Ideas Studio

หากดูข้อมูลจากสามเมืองใหญ่ของจีนตามกราฟด้านบนจะพบว่า ในปี 2013 แทบไม่มีวันไหนเลยที่เมืองใหญ่อย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และ เฉิงตู มีคุณภาพอากาศที่เรียกได้ว่าดีกลับกันตลอดทั้งปีสภาพคุณภาพอากาศอยู่ในขั้นมีผลต่อสุขภาพและยังมีอีกหลายวันในช่วงเดือนมกราและกุมภาที่คุณภาพอากาศเข้าขั้นอันตรายคำว่าอันตรายไม่ใช่แค่ค่า PM 2.5 เกิน 300 แต่ช่วงกลางเดือนมกราคมในปี 2013 ค่า PM 2.5 ของปักกิ่งเคยพุ่งไปถึง 993

หากอ้างอิงจาก aqicn.org ค่า PM 2.5 ของกรุงเทพ ณ วันที่ผมเขียนบทความนี้ อยู่ที่ 151 หรือแปลว่ามีผลต่อสุขภาพและจะอยู่ราวๆ ระดับนี้ไปอีกหลายวัน ซึ่งเป็นค่ากลางที่ปักกิ่งและเฉิงตูเผชิญตลอดปี 2013 หากเทียบกับปักกิ่งนับได้ว่ากรุงเทพฯ เพิ่งเจอกับสภาพมลภาวะทางอากาศแบบนี้มาไม่กี่วัน และมันคงเป็นอะไรที่ดีมากหากสภาพอากาศสามารถดีขึ้นได้ในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีมาตรการในการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังแล้วนั้น กรุงเทพฯ จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ ที่จะต้องเผชิญกับจำนวนวันที่มีคุณภาพอากาศที่เลวร้ายยาวนานขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถึงจุดหนึ่งสภาพอากาศที่เลวร้ายนี้จะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตรวมไปถึงคุณภาพชีวิตของเราไปอย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้าคือ คนส่วนใหญ่จะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เราทุกคนจะเริ่มเช็คคุณภาพอากาศตอนตื่นหรือก่อนออกจากบ้าน เราจะเริ่มแพลนกิจวัตรประจำวันของเราโดยอิงจากคุณภาพอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ หน้ากากจะเป็นไอเท็มที่เริ่มขาดไม่ได้ เครื่องกรองอากาศจะมีในทุกๆ บ้าน เด็กเล็ก คนแก่ และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะถูกจำกัดบริเวณให้อยู่ภายในบ้าน ลองคิดสภาพที่ว่าเราไม่สามารถวิ่งออกกำลังกายนอกบ้านได้ หรือหากวันหนึ่งมีลูก เราก็จำเป็นต้องเลี้ยงลูกอยู่แต่ในห้องและในบ้านเป็นหลัก ไม่สามารถจูงมือเขาเดินเที่ยวสวนสาธารณะ หรือกระทั่งเดินเล่นที่ถนนหน้าบ้านได้ หากจะออกไปก็ออกไปได้แค่เฉพาะวันที่คุณภาพอากาศดี ซึ่งเดือนๆ หนึ่งมีอยู่ไม่กี่วันเท่านั้น เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล่าแต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้วในปักกิ่ง และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นที่ไทยในอีกไม่ช้าหากยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

Source : Quartz

ช่วงเดือนมกราคมปี 2013 โรงพยาบาลในปักกิ่งต้องรักษาเด็กกว่า 7,000 คนที่มีโรคเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ จำนวนผู้ป่วยที่ต้องแอดมิดเพิ่มขึ้น 30% ในช่วงที่คุณภาพอากาศเลวร้าย จากการศึกษายังพบว่ามลพิษทางอากาศเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรจีนกว่า 1.2 ล้านคนในปี 2010 ที่เลวร้ายที่สุดคงเป็นเคสที่ตรวจพบมะเร็งปอดในเด็กวัยเพียงแปดปีจากหมอกพิษนี้ หากเด็กคนนั้นคือลูกหลานเรา เราจะรับมันได้มั้ย?

อย่าคิดว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นที่ไทยเหมือนที่เราเคยคิดมาตลอดว่าอากาศในกรุงเทพฯ จะไม่มีทางแย่เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากเรายังคิดว่าปัญหามลพิษทางอากาศเกิดขึ้นเพราะลมนิ่ง เกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงโดยไม่ยอมรับว่าพฤติกรรมของเรา ธุรกิจของเรา อุตสาหกรรมของเราเองนี่แหละที่เป็นต้นเหตุหลักของปัญหานี้ หากรัฐบาลยังมองไม่เห็นและตระหนักถึงอันตรายทั้งๆ ที่มีตัวอย่างจากหลายหลายเมืองทั่วโลก หากรัฐยังไม่ให้ความสำคัญว่านี่คือวาระระดับชาติ และยังปล่อยปละละเลยไม่จริงจังกับการแก้ปัญหา ทำเพียงฉีดน้ำหรือทำฝนเทียมซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือคิดง่ายๆ ว่าพอรถไฟฟ้าสร้างเสร็จทุกสายปัญหาทางมลพิษทางอากาศก็จะหายไปเอง มลพิษทางอากาศของกรุงเทพฯ เราก็คงเข้าสู่จุดวิกฤตในไม่ช้า ก็ได้แต่หวังว่าทุกฝ่ายจะรู้สึกตัว ร่วมมือ และหันมาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังก่อนที่กรุงเทพฯ เราจะเป็นเหมือนปักกิ่งหรือลอนดอน อย่าให้สุดท้ายแล้วเราต้องเจอกับบทเรียนราคาแพงเหมือนที่ลอนดอนและจีนเคยต้องเจอมาเลย.