ไม่ต้องตกใจ! ปี 2018 คนไทยส่งสติกเกอร์ไลน์กว่า 11,000 ล้านครั้ง

Thanatkit

คนไทยชอบใช้สติกเกอร์ไลน์ขนาดไหน? ดูได้จากสถิติที่ไลน์เผยออกมา ตลอดทั้งปี 2018 มีคนไทยส่งสติกเกอร์รวมกันกว่า 11,000 ล้านครั้ง จากจำนวนผู้ใช้ไลน์ทั้งหมด 44 ล้านบัญชี โดยเป็นยอดการส่งจากสติกเกอร์ที่เสียเงินซื้ออย่างเดียว ไม่ได้รวมกับแจกฟรี

กณพ ศุภมานพ ผู้อำนวยการธุรกิจสติกเกอร์ LINE ประเทศไทย บอกว่า ไฮไลต์ของกลุ่มธุรกิจไลน์สติกเกอร์ซึ่งติด Top 3 ธุรกิจที่ทำรายได้สูงสุดร่วมกับโฆษณาและออฟฟิเชียล แอคเคาท์ ให้กับไลน์ ประเทศไทย ในปีที่ผ่านมามีด้วยกัน 2 ข้อคือ

  1. เติบโตเป็นเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศผู้ใช้งานสติกเกอร์ไลน์สูงสุด 4 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย และอินโดนีเซีย โดยจำนวนผู้ซื้อสติกเกอร์สูงขึ้นกว่า 28%
  2. สัดส่วนยอดขายระหว่างออฟฟิเชียลสติกเกอร์ และครีเอเตอร์สติกเกอร์ ได้ปรับใหม่จาก 60:40 เป็น 50:50 โดยยอดขายจากครีเอเตอร์สติกเกอร์เติบโต 40%

ชื่อเล่นคำตัวใหม่คนดัง” 4 เทรนด์ที่คนใช้ชอบ

การเติบโตของไลน์สติกเกอร์ในปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากหลายปัจจัยทั้งในเรื่องของตัวคอนเทนต์เอง ไม่ว่าจะเป็นความโดดเด่นของสติกเกอร์

โดย 4 เทรนด์สติกเกอร์ที่คนไทยนิยมใช้ในปีที่ผ่านมาคือสติกเกอร์ชื่อ นิยมอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก กระตุ้นให้คนที่ไม่เคยซื้อสติกเกอร์หันมาซื้อ เพราะอยากมีไว้โต้ตอบคนคนอื่นๆ สติกเกอร์เล่นคำเป็นไปตามพฤติกรรมของคนไทยที่ชอบคำกวนๆ หรือการใช้สติกเกอร์ที่ทำเป็นโจทย์ออกมาให้หาคำตอบ

สติกเกอร์ตัวอักษรใหญ่ใช้ง่ายไม่ต้องคิดเยอะ และสติกเกอร์คนดังอย่างตอนต้นปีสติกเกอร์บุพเพสันนิวาส และ BNK48 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ยอดขายหลักๆ จะอยู่ในกลุ่มแฟนคลับที่ซื้อ เพื่อแสดงออกถึงความชื่นชอบและสนับสนุนศิลปิน ซึ่งบางรายออกมาเจาะเฉพาะแฟนคลับเลยก็มี

ความชื่นชอบในศิลปินของแฟนคลับทำให้ไลน์สามารถเพิ่มยอดขายให้กับธีมมากขึ้นด้วยนอกเหนือจากการออกธีมที่มีราคาเริ่มต้นที่ 30 บาท จากปรกติเริ่มต้นที่ 90 บาทแล้ว ไลน์ยังผลักดันให้กลุ่มศิลปินออกธีมมากขึ้น โดยพบว่า 1 ใน 4 ของคนที่ซื่อสติกเกอร์ศิลปินจะซื้อธีมด้วย

อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจับตามองคือการทำ Collaboration Stickers หรือการออกสติกเกอร์ที่เป็นคอนเทนต์จากค่ายผู้ผลิต ที่ออกแบบโดยครีเอเตอร์ชื่อ เช่น Jay the Rabbit X Shewsheep Happy Duo และ Jumbooks X GMM Music วิธีนี้ไลน์เชื่อว่าจะทำให้ได้ฐานแฟนคลับของทั้งคู่รวมกันซื้อ

ผู้ชายซื้อเยอะขึ้น

หนึ่งในพฤติกรรมผู้ใช้ที่ไลน์พบในปีที่ผ่านมาคือ ผู้ชายหันมาซื้อสติกเกอร์เยอะขึ้นจากสัดส่วน 30% เป็น 40% “กณพอธิบายว่า มาจากสติกเกอร์ที่หลากหลายมากขึ้น แต่การที่จะออกมาเพื่อให้ผู้ขายโดยเฉพาะอาจไม่ถูกซื้อ

จำนวนของครีเอเตอร์เพิ่มขึ้นเฉพาะปี 2018 ปีมีครีเอเตอร์หน้าใหม่ลงทะเบียนกว่า 420,000 คน เติบโต 75% ทำให้มีสติกเกอร์จากครีเอเตอร์เพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัว วางขายกว่า 1.4 ล้านเซต

ไม่มีใครตอบได้ว่าผู้ใช้ชอบสติกเกอร์แบบไหนกันแน่ สิ่งที่ไลน์ทำได้คือการผลักดันครีเอเตอร์ ให้ทำผลงานออกมาให้มากที่สุด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้และเป็นการขยายฐานผู้ใช้งานไปในตัว

กณพแนะนะข้อควรระวังสำหรับครีเอเตอร์ที่อยากทำสติกเกอร์ ต้องเป็นคอนเทนต์ไม่รุนแรง หยาบคาย สื่อความหมายทางเพศ กระทบกับศาสนา ซึ่งแม้ไลน์จะเปิดโอกาสให้เครีเอเตอร์เลือกจำหน่ายในระบบกว่า 220 ประเทศ แต่บางประเทศก็จะมีกฎที่เข้มงวด เช่น อินโดนีเซีย การ์ตูนผู้หญิงที่แต่งตัวไม่เรียบร้อย หรือไม่มีผ้าคลุมศีรษะ จะไม่ได้รับการอนุญาตให้ออกจำหน่าย

จับมือ ยูทูบเบอร์” ขยายฐานสติกเกอร์

ช่วงกลางปี 2019 ไลน์เตรียมเปิดตัวสติกเกอร์ใหม่ๆ หนึ่งในนั้นผลักดันให้ยูทูบเบอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ มาทำเป็นออฟฟิเชียลสติกเกอร์ ซึ่งหลักๆ ไลน์จะวัดจากจำนวนผู้ติดตาม ซึ่งแม้จะมีฐานแฟนคลับที่ไม่มากเท่ากับศิลปิน แต่กลุ่มนี้กลับมีเอ็นเกจเมนต์มีมากกว่า

โดยไลน์มีสล็อตเวลาที่ชัดเจนสำหรับเปิดตัวออฟฟิเชียลสติกเกอร์ คือทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี จำกัดวันละไม่เกิน 3 ชุด เพราะไม่อย่างนั้นจะมีการดึงความสนใจของกันเอง และอาจจะทำให้มีผลต่อการขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตารางขาย

ไลน์เชื่อว่าเมื่อเทียบอัตราการเข้าถึงสติกเกอร์ในเมืองไทยยังสามารถเติบโตได้อีก ในปีนี้ไลน์จึงเตรียมใช้ระบบ BCRM (Business Connect for CRM) เข้ามาช่วยโปรโมตผ่าน ออฟฟิเชียล แอคเคาท์ของไลน์สติกเกอร์ที่มีสมาชิกกว่า 30 ล้านคน

ระบบ BCRM ช่วยให้ไลน์เลือกกลุ่มเป้าหมายได้ แรกๆ จะเป็นการยิงโฆษณากว้างๆ ระหว่างชายและหญิง แต่ต่อไปอาจขึ้นขั้นออกโปรโปรชั่นเฉพาะบุคคลได้

ความท้าทายอยู่ที่ขยายช่องทางชำระเงิน

สิ่งที่เป็นความท้าทายของไลน์ที่สุดเวลานี้อยู่ที่ช่องทางการซื้อยังไม่ครอบคลุม โดยเมื่อ 2 ปีก่อน 39% ของกลุ่มผู้ใช้ไลน์ไม่รู้วิธีในการซื้อสติกเกอร์ และต้องจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตปลายปี 2017 จึงเพิ่มช่องทางการซื้อผ่านตู้เติมเงินบุญเติมและเติมสบายพลัส รวมกัน 170,000 ตู้ ปีที่ผ่านมามีผู้ที่ซื้อผ่านช่องกว่านี้กว่า 1 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 60-70% เป็นลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยซื้อมาก่อน

ในปี 2019 ไลน์จะเพิ่มการชำระเงินผ่าน Mobile Banking ในไตรมาส 2 กณพ มองว่าเมื่อรวบทุกธนาคารรวมกันจะมียอดผู้ใช้ที่แอคทีฟเกิน 10 ล้านบัญชี ไลน์เชื่อว่าช่องทางนี้จะเพิ่มยอดชำระเงินจากผู้ใช้ใหม่อีก 30% รายได้และกำไรที่อาจเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า 30% ให้กับเจ้าของระบบปฏิบัติการอีกต่อไป

ส่วนในช่องทางเติมอย่างตู้เติมเงินไลน์เตรียมทำกิจกรรมเข้าหาผู้ใช้มากขึ้น เช่นกลุ่มของสติกเกอร์ลูกทุ่ง เช่น ต่าย อรทัย, เปาวลี และ เต๋า ภูศิลป์ ต่อไป ศิลปินที่มีงานโชว์ตัวหรือคอนเสิร์ต ไลน์จะนำตู้ไปจัดกิจกรรมด้วย.