เมื่อเดินเข้าไปใน “7–Eleven” ท่ามกลางอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งแบบแช่แข็งและแช่เย็น สารพัดเมนูที่วางขายบนเชลฟ์และในตู้แช่ ไม่ได้มีเพียงสินค้าที่ผลิตโดย “ซีพี แรม” บริษัทในเครือของ “ซีพี ออลล์” ซึ่งเป็นเจ้าของร้าน 7–Eleven เท่านั้น แต่ยังมีอาหารไม่น้อยเช่นกันที่ถูกผลิตโดย “ซีพีเอฟ”
“ซีพีเอฟ” หรือชื่อเต็ม “บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)” มีธุรกิจหลัก 3 ส่วนคือ อาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ และอาหาร วางขายทั้งเมืองไทยและส่งออกอีก 30 ประเทศกระจายในทุกทวีป โดยผลประกอบการที่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 9 เดือนแรกของปี 2018 มีรายได้ 418,402.25 ล้านบาท กำไร 13,854.51 ล้านบาท
ถือเป็นตัวเลขที่ไม่ได้ห่างจากผลงานที่ทำได้ในปี 2017 มากนัก คือมีรายได้ 523,179.98 ล้านบาท กำไร 15,259.32 ล้านบาท
เมื่อเจาะลึกเข้าไปในกลุ่ม “ธุรกิจอาหาร” หนึ่งในครัวเบื้องหลัง ที่เสิร์ฟอาหารให้กับ “7–Eleven” เฉพาะในเมืองไทย ไม่นับต่างประเทศซึ่งซีพีเอฟบอกว่า มีการเสิร์ฟอาหารให้กับคนกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลก มีแบรนด์หลักๆ ที่วางขายอยู่ 5 แบรนด์ได้แก่ ซีพี คิทเช่นจอย ห้าดาว บีเค และบีเคพี
แม้ธุรกิจอาหารในเมืองไทยสร้างรายได้หลักหมื่นล้าน ซึ่งตัวเลขที่ว่านี้ไม่ได้มีเฉพาะอาหาร ยังรวมไปถึงช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่มีถึง 6 โมเดลด้วยกันคือ ธุรกิจห้าด้าว บริหารจัดการจุดขายห้าดาวในรูปแบบแฟรนไชส์ ร้านอาหารเซสเตอร์ ธุรกิจอาหารจานด่วน ร้านอาหารซีพี คิทเช่น ร้านอาหารบริการด่วน
ร้านค้าปลีกซีพี เฟรชมาร์ท ร้านค้าปลีกที่เน้นสินค้าเกี่ยวกับการทำอาหาร อาหารสด อาหารปรุงสดพร้อมรับประทาน และอาหารแห้ง ศูนย์อาหารซีพี ฟู้ดเวิลด์ เป็นศูนย์อาหารที่เปิดในมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล มีบริการจัดเลี้ยงด้วย ตู้เย็นชุมชน และร้านเป็ดย่างเจ้าสัว
เรียกว่า ซีพีเอฟทำธุรกิจครบตั้งแต่ต้นน้ำ วัตถุดิบจากสัตว์ที่เลี้ยงเอง กลางน้ำ นำเนื้อสัตว์ที่ได้มาแปรรูปเป็นอาหาร และปลายน้ำ ช่องทางการขายที่มีอยู่ในมือ และในเครืออื่นๆ ไม่ใช่แค่ 7–Eleven ยังมีแม็คโคร เป็นต้น
เทเงิน “พันล้าน” สร้าง “ศูนย์ R&D”
แต่การที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน พร้อมกับมีตัวเลือกใหม่ๆ เข้าไม่มาหยุดหย่อน จากคู่แข่งมากหน้าหลายตา ที่หวังจะเข้ามาชิงเค้กก้อนใหญ่นี้ ผลักให้ซีพีเอฟต้องหาวิธีรับ ซึ่งหนึ่งในวิธีสำคัญคือการที่หา “เมนูใหม่ๆ” ออกมาเสิร์ฟให้กับผู้บริโภคอยู่เสมอ
หากที่ผ่านมาการวิจัยอาหารเมนูใหม่ๆ จะแยกกันอยู่ในโรงงานต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ด้วยการแข่งขันที่ไม่ได้วัดกันที่ใครใหญ่กว่าเท่านั้น ความเร็วเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ทำให้ซีพีเอฟตัดสินใจสร้าง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหาร” หรือ “CPF RD Center” ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 1,350 ล้านบาท บนพื้นที่ 10 ไร่ บริเวณ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
สุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ซีพีเอฟ เล่าถึงเบื้องหลังก่อนจะมาเป็น CPF RD Center ใช้เวลาผลักดัน 2 ปี ก่อสร้างอีก 1 ปี และเพิ่งเปิดให้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม 2018
ศูนย์แห่งนี้อยู่ภายได้การดำเนินงานของ บริษัท ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารซีพีเอฟ จำกัด จดทะเบียนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2015 ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ซึ่งนอกจากบริษัทนี้แล้ว ภายใต้กลุ่มธุรกิจอาหารยังได้เปิดบริษัทใหม่ขึ้นมาอีก 2 แห่ง เมื่อเดือนเมษายน 2018 ที่ผ่านมา คือ
ซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ ทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท ดูแลธุรกิจอาหารสำเร็จรูป และ ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ดูแลกิจการห้าดาวและร้านอาหาร ซึ่งทั้ง 2 บริษัทเป็นการรับโอนกิจการมาจากซีพีเอฟ (ประเทศไทย) บริษัทในเครือซีพีเอฟอีกต่อหนึ่ง
หาอาหารที่กินแล้วเป็น “ยา”
สำหรับพื้นที่ของ CPF RD Center แบ่งออกเป็น 2 อาคาร คือ 1. อาคารวิจัยและพัฒนาอาหาร เฉพาะที่นี่กินงบการก่อสร้างไปถึง 70% ซึ่งหมดไปกับเครื่องมือทำวิจัยต่างๆ “สุขวัฒน์” อธิบายว่า ที่ต้องทุ่มทุนเครื่องมือ เพราะจะเป็นการดึงดูดให้นักวิจัยเก่งๆ เข้ามา
อย่างตอนนี้แม้จะเพิ่งเปิดได้เพียง 3 เดือน มีนักวิจัยระดับปริญญาเอกถึง 9 คน ก็อยู่ระหว่างศึกษาหลายๆ โปรเจกต์สำคัญ เช่น การหาสารธรรมชาติที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง นาโนแคปซูล ที่สามารถห่อหุ้มรสชาติและกลิ่นของอาหาร และนาโน เซลลูโลส หาอาหารที่ให้พลังงานต่ำแต่มีไฟเบอร์สูง เป็นต้น
เป้าหมายที่เราอยากเห็นจากการวิจัย คือ อาหารที่กินแล้วสามารถเป็นยาไปในตัว
ที่นี่ยังรวมนักวิทยาศาสตร์การอาหาร 9 สายงาน กว่า 188 คน จากจำนวนพนักงานในศูนย์ทั้งหมด 250 คนมาไว้ที่เดียวกัน จากแต่ก่อนที่กระจัดกระจาย การมาอยู่ด้วยกันซีพีเอฟบอกว่า จะทำให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้รองรับการค้นหาเมนูใหม่ๆ มาเสิร์ฟในเมืองไทย แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนาเมนูใหม่ที่เสิร์ฟในต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ซีพีเอฟวางแผนที่จะเพิ่มงบสำหรับการทำวิจัยปีละ 0.5% ของรายได้ทั้งหมดจากกลุ่มอาหาร ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประมาณ 600 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1% หรือประมาณ 1,300 ล้านบาท “สุขวัฒน์” บอกว่าจริงๆ แล้ว งบสำหรับวิจัยยังสามารถเพิ่มได้มากกว่านี้อีก เพราะบริษัทใหญ่ๆ ใช้เงินกว่า 6% จากยอดขายมาทุ่มให้การทำวิจัย
2. อาคารโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) มีการย่อส่วนเครื่องจักรต่างๆ ที่อยู่ในโรงงานจริงมาไว้ด้วย ทำให้เมื่อวิจัยเสร็จสามารถนำมาทดลองผลิตได้ทันที นอกจากนั้นตัวโรงงานยังได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตและจัดจำหน่ายจาก อย.
สินค้าที่ทดลองผลิตจึงสามารถนำออกจำหน่ายจริง อีกทั้งยังทำให้ตัวศูนย์วิจัยสามารถหารายได้จากการรับจ้างธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ผลิตวัตถุดิบทำอาหาร เช่น เส้นหรือซอสในจำนวนที่ไม่มากได้ แต่เมื่อต้องการมากขึ้นก็สามารถส่งไปผลิตที่โรงงานใหญ่ได้ทันที
ต้องเพิ่มอาหารสุขภาพเป็น 30% ภายในปี 2020
หนึ่งในเป้าหมายที่ซีพีเอฟตั้งความหวังการศูนย์วิจัยแห่งนี้ คือ การเพิ่มจำนวนสัดส่วนอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ไม่ได้จำกัดแค่ผู้ใหญ่ แต่ยังรวมไปถึงทุกช่วงวัย เด็ก คนป่วย หรือคนสูงวัย ให้เพิ่มมาเป็นสัดส่วน 30% จากจำนวนสินค้าที่ออกใหม่แต่ละปี 15-20 SKU
“การออกสินค้าเพื่อสุขภาพ จะให้ซีพีเอฟสามารถนำสินค้าเข้าไปถึงผู้บริโภคในทุกช่วงวัย ขยายฐานลูกค้าของเราออกไปให้กว้างกว่าที่มีอยู่”
สินค้าในกลุ่มเพื่อสุขภาพของซีพีเอฟมีอยู่ในภายใต้แบรนด์ CP Balance และ CP Smart Meal โดยในช่วงไตรมาสแรก 2019 มีแผนวางจำหน่ายสินค้าอาหารสุขภาพ “กลุ่ม Smart” ก่อนเป็นกลุ่มแรก ซึ่งประกอบด้วย
กลุ่มสินค้ามังสวิรัติ (Vegetarian Food) กลุ่มสินค้าซุปเพื่อสุขภาพ ซอสพริกศรีราชา และ กลุ่มเครื่องดื่ม Functional Drink เช่น Good Night (ดื่มแล้วหลับสบายผ่อนคลาย) ซีพีเอฟหวังว่า การออกสินค้าในกลุ่มนี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้รายได้ของธุรกิจอาหาร เติบโตเฉลี่ยปีละ 10-12%