หลังจากตกเป็นข่าวลือมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2018 เรื่องที่ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” (Central Group) กำลังเจรจากับ “Grab Holdings Inc” ประเทศสิงคโปร์ เพื่อซื้อหุ้น “Grab ประเทศไทย” แต่ในเวลานั้นทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ออกมาปฏิเสธข่าวว่าไม่เป็นความจริง
ในที่สุด ดีลใหญ่ระหว่างเจ้าของค้าปลีกรายใหญ่ของไทยอย่าง “เซ็นทรัล” ก็เป็นจริง เพราะวันนี้ (31 มกราคม 2019) ทั้ง “เซ็นทรัล กรุ๊ป” และ “Grab” ได้จูงมือกันออกมาคอนเฟิร์ม การเข้าถือหุ้น “Grab ประเทศไทย” จ่ายค่าตัวไปเบาๆ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 6,200 ล้านบาท ดีลนี้ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” บอกว่า เป็นเข้าถือหุ้นแบบไม่มีอำนาจควบคุมในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ
“เซ็นทรัล กรุ๊ป” ซึ่งปรกติมีการลงทุนเฉลี่ย 40,000 – 50,000 ล้านบาทต่อปีอยู่แล้ว คาดหวังว่า การเข้ามาต่อจิ๊กซอว์ให้กับยุทธศาสตร์ “นิวเซ็นทรัล นิวอีโคโนมี” (New Central, New Economy) โดยเฉพาะในด้านของเทคโนโลยี
แต่ที่มากไปกว่านั้นคือการเข้ามาเป็นอีกจิ๊กซอว์ผลักรายได้ในส่วนของออนไลน์ที่ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” ประกาศไว้ตอนต้นปี 2018 ต้องการให้เพิ่มเป็น 15% จากก่อนหน้านี้ยังไม่ถึง 1% ของรายได้ 320,000 ล้านบาท ซึ่งการได้มาซึ้งหุ้นของ “Grab ประเทศไทย” จะเข้ามาต่อวงจร “Omni Channel” หรือเชื่อมประสบการณ์การช้อปปิ้ง ระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ได้ให้เต็มรูปแบบมากขึ้น
“Omni Channel” เป็นเรื่องที่ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” พยายามผลักดันอย่างมากตลอด 4-5 ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของออนไลน์ ผ่านการให้ร้านค้าในเครือหันไปเปิดหน้าร้านในออนไลน์ รวมไปถึงบุกธุรกิจอีคอมเมิร์ช โดยซื้อ “ซาโลร่า” เมื่อปี 2016 และในปี 2017 ก็ใช้เงินอีกราว 8,000 ล้านบาทร่วมทุนกับ “JD.Com” ลุยธุรกิจอีคอมเมิร์ชและฟินเทค
ในขณะที่ช่องทางออฟไลน์ไม่น่าห่วง “ทศ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บอกบนเวทีเองว่า ตอนนี้ช่องทางออฟไลน์ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” แข็งเกร่งอยู่แล้ว เนื่องจากมีการขยายสาขาไปอยู่ทั่วประเทศ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเดินเข้ามาที่ร้านได้ภายใน 30 นาทีด้วยซ้ำ
ตอนนี้ลูกค้าเดินมาหาเราในระยะเวลา 30 นาทีได้แล้ว แต่ต่อไปเซ็นทรัล กรุ๊ปเองจะต้องเดินทางไปหาลูกค้าได้ในระยะเวลา 30 นาทีได้เช่นกัน
ความร่วมมือของทั้งคู่ในเบื้องต้นมี 3 บริการได้แก่ 1.บริการส่งอาหาร จากร้านอาหารและแบรนด์ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ผ่านบริการแกร็บฟู้ด โดยส่วนนี้จะเป็นเฟสแรกที่ให้บริการ คาดว่าจะครบทุกร้านในเครือและครอบคลุมไปถึงร้านอื่นๆ ที่ขายในศูนย์การค้าภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
2.บริการโลจิสติกส์ ส่งพัสดุออนดีมานด์และส่งพัสดุด่วนสำหรับธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัลและพาร์ตเนอร์ ผ่านบริการแกร็บเอ็กซ์เพรส และ 3.บริการเดินทางให้แก่ลูกค้า แขกที่เข้าพัก และนักท่องเที่ยว ในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและโรงแรมในเครือบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล โดยส่วน 2 ส่วนหลังจะเปิดให้บริการในส่วนถัดไป
ญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บอกว่า เมื่อเปิดให้บริการแล้วสิ่งที่จะเข้ามาคือทราฟฟิกออนไลน์ที่จะไหลเข้ามาในอีโคซิสเต็ม
หากยังมีสิ่งที่ตามมาคือข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคที่สามารถนำวิเคราะห์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น “ญนน์” ยื่นยันว่า ทั้งคู่จะแชร์ข้อมูลแค่ส่วนนี้ ไม่เท่านั้น ส่วนข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าจะเก็บไว้แต่ละฝั่งเอง
“ตอนนี้ลูกค้าอยู่บนมือถือตลอดเวลา และอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ได้มองเรื่องช่องทางแล้ว ดังนั้นใครก็ตามที่ผนึกออฟไลน์และออฟไลน์ได้ไร้รอยต่อมากที่สุดคือผู้ชนะ”
ในขณะที่ฝั่งของ “Grab” ได้วางเป้าหมายต้องการเป็น “ซูเปอร์แอป” เริ่มฉายภาพชัดเจนเมื่อปีที่แล้ว โดยต้องการเข้าไปเป็นแอปพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ดิจิทัล ผ่านกลยุทธ์ O2O หรือ Online to Offline ที่ผ่านมาจึงจะเห็น “Grab” ขยายขอบเขตของบริการและจับมือกับพาร์ตเนอร์รายอื่นๆ กันมากขึ้น
อย่างก่อนหน้านี้ “ธนาคารกสิกรไทย” ก็เพิ่งตัดสินใจควักเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,600 ล้านบาท ลงทุนใน “Grab” และพัฒนากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์บนสมาร์ทโฟน (Mobile Wallet) ที่ชื่อว่า “แกร็บเพย์ บาย เคแบงก์”
ส่วนการร่วมมือกับ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” ก็จะทำให้ “Grab” ได้ร้านต่างๆ มาไว้ในมือจำนวนมาก เพื่อต่อกรกับคู่แข่งที่เห็นโอกาสบุกเข้ามาในเมืองไทยเรื่อยๆ โดย “ธรินทร์ ธนียวัน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า
ตอนนี้บริการส่งอาหารและส่งของกำลังอยู่ในช่วงต้นของ S Curve จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ขณะเดียวกันการจับมือกับเซ็นทรัล กรุ๊ป ดึงดูดให้คนขับมาสมัครกับ Grab มากยิ่งขึ้น
ในเมืองไทย “Grab” ได้เข้ามาตั้งแต่ปี 2013 เป็นประเทศที่ 3 จาก 8 ประเทศที่มีในปัจจุบัน โดยในไทยมีพื้นที่ให้บริการทั้งหมด 16 เมือง ครอบคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองท่องเที่ยว ปีที่แล้ว “Grab” เผยสถิติให้บริการเดินทางเฉลี่ยวันละ 1 แสนเที่ยว และส่งอาหารรวมกัน 3 ล้านจานตลอดทั้งปี.