สมรภูมิรายการข่าวเดือด ช่องวาไรตี้ปรับผัง แห่แย่งเค้กโฆษณา

ปัจจุบันเรตติ้งรายการข่าวของทีวีดิจิทัลในช่วงเวลาข่าวหลัก ทั้งเช้า เย็น และค่ำ ช่องที่ได้เรตติ้งผู้นำส่วนใหญ่เป็นช่องทีวีดิจิทัล กลุ่มวาไรตี้ คือ ช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง 8 ไทยรัฐทีวี อมรินทร์ทีวี จะเห็นได้ว่า “ไม่มีช่องข่าว” ติดอันดับกลุ่มผู้นำเรตติ้งรายการข่าวเลย

ด้วยเพราะฐานผู้ชมทีวีเป็นตลาดแมส กลุ่มหลักคือผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป แน่นอนว่ากลุ่มนี้ดูละครและวาไรตี้เป็นหลัก จึงเกาะติดอยู่กับช่องวาไรตี้ ขณะที่คอนเทนต์ทีวีดิจิทัล “ทุกช่อง” กสทช.กำหนดให้ต้องมีรายการข่าวและสาระในสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยใบอนุญาตช่องวาไรตี้ อยู่ที่ 25% และช่องข่าว 50%

ทำให้ช่องวาไรตี้ที่มีฐานผู้ชมกลุ่มแมสอยู่แล้ว มักจะดูรายการข่าวต่อเนื่องเลย จึงช่วยดันเรตติ้งข่าวให้สูงกว่า “ช่องข่าว” โดยตรง ที่จะได้ผู้ชมเฉพาะกลุ่ม (segment) ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย สนใจข่าวแนวเจาะลึก รายการฮาร์ดทอล์ก เมื่อเป็นผู้ชมเฉพาะกลุ่ม เรตติ้งช่องข่าวจึงไม่สูงเท่าช่องวาไรตี้

“ช่องวัน” ปั้นข่าวดูดคนดูต่อทั้งวัน

“ช่องวัน” เป็นหนึ่งในทีวีดิจิทัล ประเภทวาไรตี้ ที่ประกาศยุทธศาสตร์คอนเทนต์ข่าว เป็นอีกเรือธงของช่องในการไต่อันดับเรตติ้งสู่ท็อป 5 ในปี 2562

เดียว วรตั้งตระกู รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายข่าวช่องวัน 31 กล่าวว่า นับจากเริ่มต้นออนแอร์ทีวีดิจิทัลในปี 2557 “ช่องวัน” โฟกัสคอนเทนต์ที่มีความถนัดเป็นลำดับแรก คือ ละครและวาไรตี้ เมื่อคอนเทนต์กลุ่มนี้ได้รับความนิยมและเรตติ้งติดอันดับท็อป รายการข่าวจึงเป็นเป้าหมายต่อไปที่ช่องวันต้องการสร้าง “ดีเอ็นเอ” ที่แตกต่างด้วยรูปแบบข่าวสำหรับตลาดแมส ฐานผู้ชมกลุ่มหลักของช่อง

กลยุทธ์รายการข่าวจึงถูกกำหนดชัดเจนในปี 2560 โดยเน้น Current News เกาะติดกระแสข่าวทั่วไป เพื่อให้ผู้ชมไม่พลาดข่าวสำคัญ ต่อมาปี 2561 วางกลยุทธ์ Human Interest หยิบประเด็นข่าวที่กลุ่มเป้าหมายสนใจมานำเสนอเป็นหลัก จากแนวทางที่ชัดเจนทำให้ภาพรวมเรตติ้ง ช่องวัน ปี 2561 ทำได้ 0.527 เติบโต 40% จากปีก่อนหน้า และเป็นอันดับ 6 มีฐานผู้ชม 51 ล้านคน อัตราคนดูเฉลี่ย 2.1 ล้านคนต่อนาที

มาในปี 2562 ช่องวันตั้งเป้าสู่ National Television ด้วยกลยุทธ์ Exclusive News นำเสนอข่าวเจาะลึกมากขึ้น ด้วยการลงพื้นที่ทำสกู๊ปข่าวประเด็นที่อยู่ในกระแสความสนใจ นำเสนอเนื้อหา “ย่อยประเด็นข่าวแบบเข้าใจง่าย” โดยมีทีมผู้ประกาศข่าวและทีมข่าวจากช่องเนชั่น มาเสริมทัพ ตั้งแต่ ฟิล-ปรัชญา อรเอก, น้อย-บัญชา แข็งขัน, เผย-วีณารัตน์ เลาหภคกุล และยังมีอาร์ท–เอกรัฐ ตะเคียนนุช ดาวรุ่งจากเนชั่นทีวี มาจัดรายการทอล์กข่าวรายการใหม่ “เอาให้ชัด” เริ่มออกอากาศ 4 กุมภาพันธ์นี้ หลังจบละครช่วงไพรม์ไทม์ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 22.30 น.

สมทบกับผู้ประกาศ “ดาวเด่น” “จั๊ด-ธีมะ กาญจนไพริน” ที่ดังมาจากรายการ “ข่าววันศุกร์” ด้วยสไตล์การนำเสนอข่าวที่เป็นเอกลักษณ์ เล่าข่าวให้เข้าใจง่ายแบบตรงไปตรงมา

เดียว บอกว่า “ทีวี” จะต้องมีคอนเทนต์ครบทุกประเภท ทั้ง ละคร วาไรตี้ และข่าว และวันนี้ช่องวันให้ความสำคัญกับข่าว เพื่อสร้างฐานผู้ชมให้อยู่กับช่องอย่างต่อเนื่องหลังจากดูละครและรายการวาไรตี้ โดยไม่เปลี่ยนช่องไปไหน

ทีมผู้ประกาศช่องวัน

กลยุทธ์การทำข่าวจึงต้องตอบโจทย์ผู้ชมกลุ่มแมส ด้วยข่าวที่เข้าใจง่าย แม้จะเป็นข่าวหนักๆ ก็ตาม สไตล์ข่าวช่องวันจึงเป็น “จริต” สำหรับกลุ่มแมส ผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไป เมื่อคนกลุ่มนี้หยุดดูข่าวช่องวันโดยไม่เปลี่ยนช่องหลังจบละคร จะทำให้ภาพรวมเรตติ้งช่องวันดีต่อเนื่องทั้งวัน ปีนี้มีเป้าหมายที่อันดับ 5

“ช่องวันทำข่าว ไม่ใช่ต้องมีข่าวอยู่ในผังตามหลักเกณฑ์ของ กสทช. แต่มีเป้าหมายทำให้รายการข่าวเป็นอีกคอนเทนต์ที่มี ดีเอ็นเอ ของช่อง สร้างเรตติ้งและรายได้ เช่นเดียวกับละครและรายการวาไรตี้ ปีนี้เป็นปีที่ช่องวันมีกำไรจากรายการข่าว”

ช่อง 3 เขย่าผังรายการข่าว จัดหนักทุกช่วง

ในอดีต รายการข่าว ถือเป็นหนึ่งในคอนเทนต์หลักของช่อง 3 ในยุคที่มี “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” สามารถสร้างความนิยมให้กับรายการข่าวของช่อง 3 นานหลายปี แต่เมื่อไม่มีสรยุทธ อาณาจักรข่าวของช่อง 3 คลายความนิยมไป ตลาดของสนามข่าวทางทีวีก็แปรเปลี่ยนพร้อมๆ กับการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของ “ไทยรัฐทีวี” กับข่าว “13 หมูป่าติดถ้ำหลวง”

ที่จริงแล้ว ช่องไทยรัฐทีวีอยู่ในหมวด “วาไรตี้” ความคมชัดสูง แต่ด้วยการมีฐานมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ จึงทำให้ช่องไทยรัฐทีวีให้น้ำหนักกับข่าวถึง 50% ที่เหลือเป็นวาไรตี้ รายการบันเทิง

ในปี 2561 ที่ผ่านมา ไทยรัฐทีวี เป็นหนึ่งในช่องที่มีการเติบโตสูงสุดของปี 2561 เทียบกับ 2560 จากเรตติ้งเฉลี่ย 0.265 อันดับ 9 ขึ้นมาอยู่ที่ อันดับ 7 เรตติ้งเฉลี่ย 0.410 เป็นการเติบโตก้าวกระโดด ด้วยผลงานข่าวชิ้นโบแดงช่วงปรากฏการณ์หมูป่า ทำให้ช่องติดลมบน โดยเฉพาะรายการข่าว “ไทยรัฐนิวส์โชว์” ที่ออกอากาศในช่วงเวลาหลังข่าว 2 ทุ่ม สามารถสู้กับคอนเทนต์บันเทิงของแต่ละช่องได้

จากเรตติ้งเฉลี่ยรายการข่าว ของปี 2561 พบว่า “ไทยรัฐนิวส์โชว์” มีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.700 ส่วนของเดือน ม.ค. ตั้งแต่ 21-27 ม.ค. 2562 มีเรตติ้งเฉลี่ยดีขึ้นอีก มาอยู่ที่ 1.942

“หนุ่ม-กรรชัย” มาแรง ช่อง 3 จัดให้ เพิ่มเวลาข่าวเที่ยง

หลังจากช่อง 3 ได้หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย มาเป็นพิธีกรข่าวในช่อง 3SD หรือช่อง 28 กับรายการ “โหนกระแส” จนผลงานเข้าตา ช่อง 3 จึงจัดให้มานั่งอ่านข่าวเที่ยง “เที่ยงวันทันเหตุการณ์” ทางช่อง 3 คู่กับ “หมวย-อริสรา กำธรเจริญ” ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2561

ปกติรายการข่าวเที่ยง “เที่ยงวันทันเหตุการณ์” เป็นการเชือดเฉือนกันกับรายการ “ห้องข่าวภาพเที่ยง” ของช่อง 7 สลับกันมีเรตติ้งแพ้ชนะกันมาตลอด แต่เมื่อมี “หนุ่ม-กรรชัย” เข้ามา เรตติ้งรายการ “เที่ยงวันทันเหตุการณ์” ก็เริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง

จากเรตติ้งเฉลี่ยของสัปดาห์ที่ผ่านมา “เที่ยงวันทันเหตุการณ์” มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.936 ส่วน “ห้องข่าวภาคเที่ยง” ช่อง 7 มีเรตติ้งเฉลี่ย 0.794

เมื่อแนวโน้มความนิยมรายการสูงขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ช่อง 3 จึงเริ่มขยับผังใหม่ เพิ่มช่วงเวลารายการ “เที่ยงวันทันเหตุการณ์” อีก 10 นาที ในทุกวัน จาก 11.10-12.15 น. มาเป็น 11.10-12.25 น. ขยายเวลาข่าวให้มากขึ้น รับสถานการณ์ข่าวที่เข้มข้นมากขึ้น อีกทั้งมีแนวโน้มรองรับช่วงเวลาโฆษณามากขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันส่วนเวลาที่เพิ่มขึ้นมานี้ ได้เพิ่มช่วง “ทิศทางประเทศไทย” โดยมี “เอ-ดนยกฤตย์ แดงหวานปีสีห์” ผู้ประกาศข่าวจากรายการ “ตีข่าวเช้า” ทางช่อง 3SD ที่เข้ามาจัดรายการช่วงนี้ในช่อง 3

ช่อง 13 ปรับเพิ่มไพรม์ไทม์ ดึง “สายสวรรค์- อรชุน” นำทีมข่าว

ไม่เพียงแต่การปรับในช่อง 3 ช่องหลักเท่านั้น กลุ่มช่อง 3 ยังปรับทัพทีมข่าวช่อง 3 ใหม่ พุ่งเป้าไปที่ช่อง 13 Family ช่องน้องเล็กของกลุ่มช่อง 3 จัดรายการข่าว “ค่ำทันข่าว” ลงผังในช่วงหลัง 2 ทุ่ม ที่เดิมเป็นช่วงของซีรีส์ต่างประเทศด้วย

รายการ “ค่ำทันข่าว” เป็นช่วงรายการข่าวสำคัญที่เกิดขึ้นทั้งวัน วันละ 1 ชั่วโมง โดยมี “สายสวรรค์ ขยันยิ่ง” และ “อรชุน รินทรวิฑูรย์” มาเป็นผู้ประกาศข่าวหลักในช่วงนี้ เป็นรายการข่าวที่ชนกับ “ไทยรัฐนิวส์โชว์” และ “ทุบโต๊ะข่าว” ช่องอมรินทร์ทีวี ที่เป็น 2 รายการข่าวหลัก ที่ทำเรตติ้งรายการข่าวสูงสุดในช่วงนี้

ทั้งนี้ “ไทยรัฐนิวส์โชว์” มีเรตติ้งเฉลี่ยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-27 มกราคม) อยู่ที่ 1.942 ส่วน “ทุบโต๊ะข่าว” ได้เรตติ้งเฉลี่ย 1.357

การปรับไปวางรายการข่าวแทนที่ซีรีส์ น่าจะเป็นแผนปรับทิศทางช่อง 13 Family เพื่อรับสถานการณ์การเลือกตั้งทั่วประเทศที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ ด้วยการเป็นช่องหลักของกลุ่มช่อง 3 ในการรายงานสดการเลือกตั้งจากทุกพื้นที่ในวันลงคะแนนเสียง พร้อมเกาะติดสถานการณ์ทั้งวัน วัดคะแนนต่อคะแนนด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วย แถมยังมีการวางแผนจัดนักวิเคราะห์แถวหน้าของไทยเข้ามาร่วมวิเคราะห์ในรายการด้วย

ล่าสุดมีรายการงานกลุ่มช่อง 3 ยังได้ทีมข่าวด้านการเมืองจากกลุ่มเนชั่นเข้าเสริมทีม ที่คาดว่าจะจะทำให้ข่าวการเมืองของกลุ่มช่อง 3 จะมีความโดดเด่น คม มากขึ้น จากทีมงานเบื้องหลัง ที่เป็นหัวใจของการทำข่าวทั้งหมด

การปรับตัวครั้งใหญ่ของกลุ่มฝ่ายข่าวช่อง 3 ครั้งนี้ เป็นการรวมทีมข่าวทั้งหมดจากทั้ง 3 ช่องของกลุ่มช่อง 3 มาร่วมเป็นทีมเดียวกัน แต่จะได้ผลในแง่เรตติ้ง และความนิยมหรือไม่ น่าติดตาม

เรตติ้งข่าวช่อง 7 ยังมาอันดับ 1 เกือบทุกช่วงเวลาหลัก

ด้วยความที่เป็นช่องเบอร์ 1 รายการข่าวของช่อง 7 จึงมาเป็นอันดับแรงทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะรายการข่าว ช่วงก่อนเข้าละครของช่อง 7 “ข่าวภาคค่ำ ช่วงที่ 2” ทำเรตติ้งสูงสุดอยู่ที่ 5.213 เนื่องจากเป็นรายการข่าวในช่วง 2 ทุ่ม ก่อนเข้าละครทุกวัน จึงมีเรตติ้งสูงกว่าทุกรายการ

แต่ในช่วงเวลานี้ยังมีช่องวันที่จัดรายการ “ข่าวค่ำช่องวัน” ช่วงก่อนเข้าละครไพรม์ไทม์ จึงเป็นอีกรายการที่ทำเรตติ้งได้สูง 1.767

รายการ “ข่าวนอกลู่” รายการข่าวเน้นความสนุกสนาน เนื้อหารายการประมาณ 6 นาที ของช่อง 3SD หรือข่อง 28 วางรายการไว้ช่วงหลัง 2 ทุ่ม เข้าช่วงไพรม์ไทม์ จึงเป็นอีกรายการที่ทำเรตติ้งได้ดี สูงสุดของช่อง 3SD เลยทีเดียว

รายการข่าวช่อง 7 ทำเรตติ้งได้ดี ทำอันดับ 1 ทุกช่วงเวลา ทั้งเช้า เย็น ค่ำ ดึก ยกเว้นเพียงช่วงเที่ยง ที่แพ้ให้กับช่อง 3

ส่วนรายการข่าวเวิร์คพอยท์มาแบบเงียบๆ แต่เรตติ้งดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเที่ยง ที่ทำเรตติ้งแซงช่อง 8 ที่เคยมีรายการข่าวโดดเด่นมาโดยตลอด

ไม่ต้องดูดใคร รายการข่าว พีพีทีวี แบ่งพื้นที่ข่าว 30% รับเลือกตั้ง

สำหรับพีพีทีวี ที่มีพิธีกรข่าวหลัก “เสถียร วิริยะพรรณพงศา” อดีตลูกหม้อเนชั่นทีวี เป็นตัวยืนอยู่แล้ว แม้ช่วงนี้ช่องจะเน้นรายการภาคบันเทิงมากขึ้น จากการไหลมาของรายการดังช่องใหญ่ และการปูพรมทุ่มทุนการผลิตละครเพื่อหวังชิงเรตติ้ง

พีพีทีวีได้เริ่มจัดรายการพิเศษ “ผ่าสนามเลือกตั้ง” ออกอากาศหลัง 18.00 น. เป็นรายการสั้น ที่อธิบายถึงกติกาการเลือกตั้ง เช่น กฎการนับคะแนน รูปแบบบัตรเลือกตั้ง โดยมีคำถามชิงรางวัล เล่มเกมทั้งหน้าจอและออนไลน์ ในวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม ก็พร้อมยกผังยิงรายการสดต่อเนื่องตั้งแต่บ่าย 3 ยาวถึงเที่ยงคืนครึ่ง ด้วยทีมนักวิชาการมาร่วมวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง และทิศทางการเมือง รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นด้วย

แห่แย่งเค้กโฆษณา-ข่าวต้นทุนต่ำ   

มาดูในมุมของโฆษณา จากการรายงานข้อมูลของ “นีลเส็น” ปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาทีวียังครองสัดส่วนสูงสุดของอุตสาหกรรมที่ราว 60% หรือมีมูลค่าราว 7 หมื่นล้านบาท งบโฆษณาทีวีส่วนใหญ่อยู่ที่รายการช่วงไพรม์ไทม์ ตั้งแต่ 18.00-22.00 น. นั่นก็คือ ละครและวาไรตี้  

 

ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ให้มุมมองว่า การเป็นสถานีทีวีระดับชาติ จะต้องมีคอนเทนต์ครบทุกประเภท “ช่อง 3 และ ช่อง 7” ทำธุรกิจฟรีทีวีตั้งแต่ยุคแอนะล็อก จึงมีฐานผู้ชมที่แข็งแกร่งตลอดทั้งวัน รวมทั้งรายการข่าว ที่ติดอันดับกลุ่มผู้นำ แม้ในยุคทีวีดิจิทัลจะมี “ช่องข่าว” ที่ต้องนำเสนอรายการข่าวและสาระ สัดส่วน 50% ของสถานี มาเป็นตัวเลือกอีกหลายช่องก็ตาม

หากวิเคราะห์เม็ดเงินโฆษณาทีวี 70% มาจากละครและวาไรตี้ ที่มีเรตติ้งสูงสุด ราคาโฆษณา rate card แตะระดับ 3-4 แสนบาทต่อนาที ในช่วงไพรม์ไทม์ ทีวีดิจิทัล ช่องวาไรตี้ จึงต้องโฟกัสไปที่คอนเทนต์ละครและวาไรตี้เป็นหลักก่อน เพื่อชิงเม็ดเงินโฆษณาก้อนใหญ่

ขณะที่รายการข่าวมีสัดส่วนราว 20% ของเม็ดเงินโฆษณาทีวี ต้องถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะหากย้อนไปดูรายการข่าวที่โกยเงินเป็นกอบเป็นกำของนักเล่าข่าวเบอร์หนึ่ง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ก่อนยุติบทบาทในเดือนมีนาคม 2559 บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน เคยประเมินรายได้โฆษณาจาก 3 รายการข่าวที่จัดโดย “สรยุทธ” คือ เรื่องเล่าเช้านี้, เรื่องเด่นเย็นนี้ และเรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์ ทำรายได้ให้ช่อง 3 ปีละ 2,900 ล้านบาท

ถือเป็นเรื่องปกติเมื่อทีวีเห็นโอกาสสร้างรายได้จากคอนเทนต์ใด ก็ต้องเข้าไปแย่งเม็ดเงินโฆษณาในรายการประเภทนั้น “ข่าว” จึงถือเป็นอีกสมรภูมิที่จะมีการแข่งขันแบ่งเค้กโฆษณาในปีนี้ ของช่องวาไรตี้ ที่มีฐานผู้ชมกลุ่มแมสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

อีกปัจจัยที่ทำให้ ทีวีดิจิทัล ช่องวาไรตี้ให้พื้นที่กับการทำข่าว รัฐกร สืบสุข กรุ๊ปเอ็ม เทรดดิ้ง พาร์ทเนอร์ มองว่ารายการข่าวทั่วไป หรือสถานการณ์ข่าวกระแส วันนี้ทีวีทุกช่องทำประเด็นเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นจะดูรายการข่าวจากช่องใดจึงไม่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นช่องวาไรตี้ หรือช่องข่าว ที่สำคัญผู้ชมไม่ได้สนใจ หรือจดจำด้วยซ้ำว่าทีวีดิจิทัลช่องใด ถือใบอนุญาตประเภทใด

หากเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตคอนเทนต์ รายการข่าวทั่วไปที่อ่านข่าวในสตูดิโอ ไม่ได้ลงพื้นที่เจาะสกู๊ปข่าว ถือว่ามีต้นทุน “ต่ำสุด” เมื่อเปรียบเทียบกับละคร วาไรตี้ หรือสารคดี หากสถานีทีวีสามารถสร้างจุดเด่น มีผู้ประกาศข่าวที่เป็น “แม่เหล็ก” สร้างฐานผู้ชมและเรตติ้งได้ดี มีโอกาสสร้างเม็ดเงินโฆษณาเช่นเดียวกับรายการฮิตประเภทอื่นๆ.