ตลาดบะหมี่ซองโตอืด ‘มาม่า’ อยากโต ต้อง “โก” ประเทศเพื่อนบ้าน 

ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยอยู่ในสภาพโตถดถอยต่อเนื่อง “มาม่า” ซึ่งครองตลาดเกินครึ่งก็ยอมรับว่าอยู่ในภาวะ “อิ่มตัว” มาตลอด  

พิพัฒ พะเนียงเวทย์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ มาม่า เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทย การเติบโตเริ่มลดน้อยถอยลง และโอกาสที่จะผลักดันให้ตลาดรวมเติบโตมากเหมือนในอดีตคงยาก

เมื่อตลาดในประเทศไม่เป็นใจ ไทยเพรซิเดนท์ฟู้ดส์ จึงต้องสร้างโอกาสใหม่ๆ ด้วยการขยับไปลงทุนต่างประเทศ ด้วยการลงทุนในสร้างฐานการผลิตใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจและขยายตลาดเพิ่มขึ้น

โดยเลือกประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง 2 แห่ง อย่าง เมียนมา และกัมพูชา เป็นเป้าหมายหลักในการขยายตลาด

โดยใช้งบประมาณรวม 660 ล้านบาท เพื่อลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใหม่อีก 2 แห่ง ที่เมียนมากับกัมพูชา โดยจะสร้างโรงงานใหม่ ที่เมืองมัณฑะเลย์ เนื้อที่โรงงาน 16 ไร่ งบลงทุน 330 ล้านบาท ซึ่งหากโรงงานใหม่นี้แล้วเสร็จ จะเป็นโรงงานที่ 3 ในเมียนมา จากเดิมที่มีอยู่ 2 โรงงานผลิต และจะมีกำลังผลิตใหม่เพิ่มอีก 1 เท่าตัว

ปัจจุบันอัตราการบริโภคของคนเมียนมาต่ำแค่ 11.1 ซองต่อคนต่อปี เท่านั้นเอง ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับตลาดในประเทศไทย ที่บริโภคเฉลี่ย 49 ซองต่อคนต่อปีแล้ว

เพราะเป้าหมายหลักของมาม่าในเมียนมา คือการผลักดันให้แบรนด์มาม่ามียอดขายรวมเป็นผู้นำตลาดให้ได้ภายในปี 2563 ซึ่งปัจจุบันมาม่ามีแชร์ประมาณ 30% ในเมียนมา เป็นเบอร์สองรองจากแบรนด์ยำยำจากไทยเช่นกัน

ส่วนอีกแห่งที่ลงทุนสร้างโรงงานผลิตใหม่คือ ที่พนมเปญ กัมพูชา ด้วยงบลงทุนประมาณ 330 ล้านบาท ขณนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตก่อสร้าง คาดว่าอีกประมาณ 2 เดือนจากนี้จะเริ่มก่อสร้างโรงงานได้

นอกจากที่เมียนมากับกัมพูชาแล้ว มาม่ายังมีฐานการผลิตในต่างประเทศอีกหลายแห่ง คือที่ ลาว 1แห่ง มีกำลังการผลิตมาม่าประมาณ 40,000 หีบต่อเดือน และยังมีการนำเข้าบะหมี่ซองจากไทยไปด้วยประมาณ 40,000 หีบ และแบบถ้วยอีก 140,000 หีบ และยังมีโรงงานที่บังกลาเทศกับฮังการีด้วย

บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายปี 62 มียอดขายรวมเติบโต 3.5% เพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่มียอดขาย 12,460 ล้านบาท เติบโต 5.49% แบ่งสัดส่วนรายได้มาจากในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30%.

ส่วนฐานการผลิตในไทย ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้เริ่มนำระบบเครื่องจักรผลิตอัตโนมัติเข้ามาทดลองใช้ในโรงงานที่ลำพูน 2 แห่งแล้ว และมีแผนที่จะขยายการใช้เครื่องจักรผลิตอัตโนมัตินี้ไปยังโรงงานที่ระยอง และชลบุรี อีกด้วย.

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9620000014370