SCB ควง Google หวังเจาะ “SME” แบบวินทั้งคู่

ธุรกิจ SME” กำลังเป็นเป้าหมายที่ “SCB” หมายมั่นปั้นมือที่จะเจาะเข้าไปให้ได้ ก่อนหน้านี้ไม่ได้เน้นมากนัก เพราะถือเป็นน่านน้ำสีแดง ที่แข่งกันรุนแรง ด้วย “ดอกเบี้ยต่ำ” 

แต่จากแผนธุรกิจในปี 2019 ที่ SCB ตั้งเป้าเติบโตของสินเชื่อ 5-7% โดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งสินเชื่อเพื่อการบริโภคและสินเชื่อธุรกิจรายย่อย

ทำให้ SCB ต้องหายุทธวิธีในการบุกเข้าไปหา SME ที่มีกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 99.7% ของธุรกิจไทย โดยผลผลิตจากธุรกิจ SME คิดเป็น 42% ของ GDP ทั้งหมดของประเทศ และยังเติบโตมากกว่าตัวเลข GDP กว่า 1.7 เท่า

ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มงานการตลาด อธิบายว่า เกมรุกของธนาคารในวันนี้ ไม่สามารถเดินเข้าไปแล้วขายของตรงๆ ได้อีกแล้ว เพราะลูกค้าจะไม่สนใจ ดังนั้นวิธีที่จะเข้าไปหาพวกเขา จึงต้องหาเพนพอยต์ ( Pain Point) แล้วเข้าไปอุดช่องทางตรงนี้ก่อน

อย่าง SME สิ่งที่กำลังเจอคือ แม้ออนไลน์จะเติบโตเป็นอย่างมาก ใครๆ ต่างก็คุยถึงการเปิดหน้าบนออนไลน์ แต่ที่ผ่านมา SME ที่มีเว็บไซต์มีสัดส่วนเพียง 13% ซึ่งค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ใช้ช่องทางดิจิทัลในสัดส่วนที่สูงมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ข้อมูลจาก Google Trends ได้เผยว่า คำค้นหา ร้าน” เติบโตกว่า 2 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และ ใกล้ฉัน เติบโตกว่า 3 เท่าในปี 2018 ถึงตัวเลขเหล่านี้จะเติบโต แต่หนึ่ง Pain Point คือการที่ร้านของ SME ไม่รู้วิธีปักหมุดร้านบนแผนที่ ทำให้ลูกค้าหาร้านไม่เจอ

จึงเป็นช่องว่าง และที่มาของดีล SCB จับมือกับ Google ในการเปิดให้สมัคร Google My Business ที่สาขาได้เลย ใช้เวลาเพียง 30 นาที เชื่อว่าบริการนี้จะตอบโจทย์ Pain Point เพราะเป็นบริการฟรีที่จะช่วยให้ร้านค้าของ SME ขึ้นมาบน Google Search และ Maps สามารถใส่ข้อมูลธุรกิจ เวลาเปิดปิด โพสต์สินค้า และสามารถใช้ Google Maps นำทางไปถึงสถานที่ตั้งร้านค้าได้อย่างแม่นยำ

ดีลนี้ Win – Win ทั้งคู่ เพราะ Google ก็จะได้ฐานลูกค้า SME มาต่อยอดโฆษณา ส่วน SCB ก็จะได้ทำความรู้จักกลุ่มธุรกิจ SME, สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และเพิ่มจำนวนผู้ใช้โมบายแบงกิ้ง

กล่าวคือ ที่ผ่านมากลุ่มนี้จะไม่ค่อยได้เดินเข้ามาหา SCB มากนักหากไม่เดินเข้ามาเพื่อขอกู้สินเชื่อ ดังนั้นแล้วเมื่อจะเข้าไปทำความรู้จัก ก็นำความช่วยเหลือเดินหน้าเข้าไปก่อน หลังจากนั้นเมื่อได้ฐานลูกค้ามา ก็สามาเรียนรู้พฤติกรรมการทำธุรกรรม และนำ Data ที่ได้ไปต่อยอดทำสินเชื่อออนไลน์ ซึ่งกำลังจะเปิดตัวภายในไตรมาส 2 นี้ โดยเป็นโปรดักต์ของทีม 10X

เพื่อทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น SCB ได้เตรียมงบการตลาด 30 ล้านบาท สำหรับทำแคมเปญ ปักแล้วรวย” ซึ่งคำว่ารวยเป็นสิ่งที่ SME อยากได้อยู่แล้ว โดยแคมเปญนี้จะนำร่องด้วยการทำคลิปวิดีโอ ที่สัมภาษณ์ร้านต่างๆ จำนวน 40 คลิป เพื่อแนะนำบริการ รวมไปถึงการให้สาขาออกพื้นที่ด้วย

คนไทยมีลักษณะสำคัญสองข้อ คือ 1.เกรงใจ ถ้าได้รักแล้วรักเลยจะไม่เปลี่ยนใจ 2.หมั่นไส้ได้ง่าย การทำการตลาดจะต้องถ่อมเนื้อถ่อมตน ทำให้พวกเขารักก่อน ค่อยหารายได้ทีหลัง เช่น การปล่อยสินเชื่อทุกฝ่ายก็จะแฮปปี้

เบื้องต้นได้มีเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีฐานลูกค้าที่สมัครผ่าน SCB แล้ว 85,000 ราย ภายในสิ้นปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มถึง 1 ล้านราย

ธนา บอกว่า ความท้าทายอยู่ที่หลังจากได้ฐานลูกค้าเหล่านี้มาจะทำอย่างไรต่อไปให้เหมาะสม ไม่ใช่จู่ๆ ไปขายของได้เลย ถ้าจะช่วยก็ต้องทำให้ต่อเนื่อง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าธนาคารก็ต้องทำธุรกิจด้วย โดยต่อไป SCB วางแผนที่จะทำแอปพลิเคชั่นขึ้นมารองรับ ซึ่งจะมีทั้งบริการจัดการบัญชี และจัดการทรัพยากรบุคคล เป็นต้น ส่วนระบบอีเพย์เมนต์ก็มี แม่มณี มารองรับอยู่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้หายไปนิดหน่อยเพราะกังวลกับการเก็บภาษีขายของออนไลน์

ทั้งหมดนี้จะทำให้ลูกค้า SME รู้สึกชินกับระบบของ SCB เพราะถ้าติดแล้วจะย้ายไปไหนก็ยากแล้ว!.