ทำไมหนังสือพิมพ์ทยอย “ลาแผง” ค่ายใหญ่ปิดรวด 2 ฉบับ “โพสต์ทูเดย์-M2F”

ถือเป็นข่าวใหญ่สะเทือนวงการสื่อและคนข่าวอีกครั้ง เมื่อ “สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์” ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ให้ “หยุดพิมพ์” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์ M2F ภายในเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการ “ลดค่าใช้จ่าย” พร้อมเดินหน้าสู่สื่อดิจิทัล 

หากย้อนดูผลประกอบการของ บริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) หรือ POST พบว่า “ขาดทุน” มาต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายได้สื่อสิ่งพิมพ์และโฆษณา

  • ปี 2558 รายได้ 2,211 ล้านบาท ขาดทุน 251 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 1,865 ล้านบาท ขาดทุน 215 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 1,365 ล้านบาท ขาดทุน 358 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 1,230  ล้านบาท ขาดทุน 167 ล้านบาท 

เดือนกันยายน 2561 เครือบางกอกโพสต์ได้หยุดตีพิมพ์นิตยสาร Student Weekly หรือ S Weekly ไปก่อนหน้านี้ หลังตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2512 หรือมีอายุกว่า 49 ปี เดิมชื่อ “คาไลโดสโคป” (Kaleidoscope) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อ

การปิดตัวหนังสือพิมพ์รายวัน 2 ฉบับ “โพสต์ทูเดย์ และ M2F” ซึ่งมีพนักงานรวม 200 คน จะคัดเลือกพนักงานในกองบรรณาธิการไว้ 20 คน เพื่อทำสื่อดิจิทัลร่วมกับทีมดิจิทัลเดิมของโพสต์ทูเดย์ สำหรับพนักงานที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในทีมดิจิทัลของโพสต์ทูเดย์ จะถูกเลิกจ้าง โดยบริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างตามที่กฎหมายแรงงาน

ส่วนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ทั้งสื่อรูปแบบหนังสือพิมพ์และสื่อดิจิทัลยังคงดำเนินการต่อไป ซึ่งถือเป็นสื่อหลักของเครือที่ยังมี “กำไร”

สำหรับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 มีอายุ 16 ปี เป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันที่นำเสนอข่าวสารด้านนโยบายเศรษฐกิจ ธุรกิจตลาด การเงิน หุ้น-ตลาดทุน รวมทั้งการเมือง ข่าวในประเทศ ต่างประเทศ กีฬา และข่าวแมกกาซีน (ปกิณกะบันเทิง)

ส่วนหนังสือพิมพ์ M2F เป็นหนังสือพิมพ์แจกฟรีขนาดแท็บลอยด์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 มีอายุ 7 ปีก่อน นำเสนอข่าวในประเทศ ข่าวต่างประเทศ ข่าวกีฬา ข่าวไลฟ์สไตล์และบันเทิง มีรายได้หลักจากการโฆษณา โดยแจกทุกวันจันทร์-ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เคยมียอดพิมพ์สูงสุด 600,000 ฉบับ

โฆษณาทรุดแรง

ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) วิเคราะห์สถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์กับ Positioning ว่าทำไมจึงเห็น “หนังสือพิมพ์” ทยอยปิดตัวเช่นเดียวกับนิตยสาร แม้แต่หนังสือพิมพ์ “แจกฟรี” ก็ยังไม่ไหว ปัจจัยหลักมาจากการถูกเทคโนโลยี ดิสรัปชั่น อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียเติบโตสูง ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 82% ของจำนวนประชากร นั่นหมายถึงการมีช่องทางเปิดรับ “ข่าวสาร” ได้แบบเรียลไทม์ ตลอดเวลา ไม่ต้องรออ่านหนังสือพิมพ์

“การเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ตลอดเวลา ทำให้พฤติกรรมการเสพสื่อและข่าวสารของคนในยุคนี้เปลี่ยนไป พูดได้ว่าเด็กตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือได้ จนคนวัย 35 ปี เป็นกลุ่มที่ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์”    

ส่วนกลุ่มที่ยังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ คือ กลุ่มที่คุ้นชินกับการอ่านแบบเล่ม หรืออายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ จำนวน “ผู้อ่าน” จึงลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุหลักให้เม็ดเงินโฆษณาสื่อหนังสือพิมพ์ถดถอย

ปัจจุบันแบรนด์และสินค้าต่างๆ จัดสรรงบโฆษณาสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์ด้วยสัดส่วน “ลดลง” อย่างต่อเนื่อง กลุ่มที่ยังใช้โฆษณาหนังสือพิมพ์อยู่ ก็เลือกลงจำนวนไม่มาก จากเดิมจะลงโฆษณา 5-6 ฉบับ ปัจจุบันเหลือเพียง 1-2 ฉบับเท่านั้น รวมทั้งความถี่ที่ลงโฆษณาก็ลดลงเช่นกัน เดิมการเปิดตัวสินค้าหรือโปรเจกต์ใหม่ จะลงโฆษณาทุกสัปดาห์ หรือเดือนละ 4 ครั้ง ปัจจุบันแม้จะเป็นบิ๊กโปรเจกต์ ก็ลงเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น  

โดยกลุ่มหลักที่ยังใช้สื่อโฆษณาหนังสือพิมพ์อยู่ เช่น รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก แต่ก็เป็นมูลค่าลดลงจากเดิมอย่างมาก และส่วนใหญ่หันไปใช้งบโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์  

สะท้อนได้จากข้อมูลของ นีลเส็น ในรอบ 10 ปีนี้ พบว่ามูลค่างบโฆษณาหนังสือพิมพ์เคยสูงสุดในปี 2556 อยู่ที่ 15,258 ล้านบาท หลังจากนั้นเริ่มติดลบมาต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา “ติดลบ” ปีละ 20% ล่าสุดปี 2561 มูลค่าอยู่ที่ 6,100 ล้านบาท ส่วนปีนี้ MAAT ประเมินมูลค่าโฆษณาหนังสือพิมพ์ไว้ที่ 4,575 ล้านบาท ติดลบ 25%

ปรับตัวชิงงบออนไลน์

หากประเมินทิศทางสื่อหนังสือพิมพ์หลังจากนี้ ไตรลุจน์ มองว่ายังมีแนวโน้ม “ลดลง” อีกในช่วง 2-3 ปีนี้ ซึ่งก็มาจากปัจจัยเดิมคือ “ผู้อ่านลดลง” เพราะวันนี้ช่องทางที่นำเสนอข่าวนอกจากสื่อออนไลน์ที่มีจำนวนมากแล้ว “สื่อทีวีดิจิทัล” ที่มีช่องจำนวนมากมีการนำเสนอข่าวตลอดทั้งวัน ทั้งภาพและเสียง เป็นอีกตัวเลือกของการเสพข่าวของคนทุกวัย  

ต้องยอมรับว่า “ทุกสื่อ” ต้องปรับตัวเพื่อนำเสนอคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค สำหรับสื่อหนังสือพิมพ์แม้แพลตฟอร์มเดิมที่เป็นรูปเล่ม ต้องปิดตัวลง แต่สามารถปรับตัวไปสู่ช่องทางออนไลน์ เพื่อหาโอกาสจากเม็ดเงินโฆษณาที่ยังเติบโตในสื่อดิจิทัล ที่ขยายตัวปีละกว่า 20% ปีนี้คาดมีมูลค่า 18,000 ล้านบาท

แม้หนังสือพิมพ์ต้องปิดตัว แต่สิ่งที่ไม่ตาย คือ คนข่าว คนทำคอนเทนต์ ที่ต้องปรับตัวไปตามเทคโนโลยีสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ตอบไลฟ์สไตล์ผู้อ่านในยุคดิจิทัล