เปิดคัมภีร์สร้าง “Netflix Original Content” หลังเลือก 2 หนังสยองขวัญของไทย ไปฉาย 190 ประเทศ

8 พฤศจิกายน 2018 “Netflix” เจ้าพ่อ “Video Streaming” ของโลกด้วยผู้ชมกว่า 139 ล้านคนใน 190 กว่าประเทศ ได้จัดงาน “See What’s Next Asia” เปิดตัวคอนเทนต์จากภูมิภาคเอเชียครั้งแรกโดยระบุว่า “Netflix Original” ทั้งหมด 17 เรื่อง

สิ่งที่เรียกเสียงฮือฮาให้กับคนไทย ก็คือ Netflix Original จะมี 2 เรื่องที่มาจากเมืองไทยด้วยกัน คือ

1. เคว้ง (The Stranded) เป็นเรื่องราวของ “คราม” ชายหนุ่มวัย 18 ปี ผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติสึนามิในหมู่เกาะแห่งทะเลอันดามัน พร้อมด้วยเพื่อนนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนชื่อดังอีก 36 คน กำกับโดย โสภณ ศักดาพิศิษฎ์ และผลิตโดยจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ (GMM Grammy) และ H2L Media Group

2. อุบัติกาฬ (Shimmers) เป็นซีรีส์ดราม่าเกี่ยวกับวัยรุ่น 5 คนในโรงเรียนห่างไกลแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของประเทศไทย กลุ่มวัยรุ่นถูกผีจากอดีตของตัวเองหลอกหลอนในช่วงปิดเทอม และยังพบว่ามีสิ่งลี้ลับชวนสยองขวัญที่น่ากลัวกว่านั้นคอยคุกคาม ผลงานกำกับโดยวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และสิทธิ ศิริมงคลศิริ

คัมภีร์ 5 ข้อกว่าจะเป็น “Netflix Original”

กว่าจะมาเป็น 2 เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้หลักการของ Netflix คือเริ่มต้นจากการคิดนอกกรอบแต่ก็ใช่ว่าจู่ๆ แค่มีพล็อตเรื่องที่ดีก็จบ การจะเป็น “Netflix Original” จะต้องผ่านด่าน Checklist ภายใต้คัมภีร์การสร้าง Original Content ของ Netflix จำนวนถึง 5 ข้อ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้รวบรวมจากความเห็นของครีเอทีฟที่อยู่เบื้องหลังงานอย่าง Kingdom, Busted, Nowhere Man, Layla และ Ultraman ได้แก่

1. Netflix มองหาความสามารถในการสร้างสรรค์และผูกเรื่องราวจนเกิดเป็นจักรวาลของนิยายอย่างเต็มๆ จนถึงรายละเอียดสุดท้าย โดยมองหามุมมองที่สามารถสร้างโลกของจินตนาการขึ้นมาได้ใหม่ทั้งใบ

2. สิ่งที่ Netflix มองหาคือประเภทของเรื่องที่ยังไม่มีการนำเสนอในรูปแบบความบันเทิงที่ต่อเนื่อง โดยเรื่องต้องมีองค์ประกอบที่เป็นสากลเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นธีมของเรื่องที่ทุกคนรู้สึกเชื่อมโยงด้วย ซึ่งธีมที่ทุกคนเข้าถึงได้มักจะเป็นเรื่องราวความผูกพันของพี่น้อง เรื่องราวรักโรแมนติก หรือแม้แต่เรื่องของการแก้แค้น

3. เรื่องราวที่ต้องอาศัยรูปแบบของความต่อเนื่องในการเล่าเรื่อง โดยเนื้อเรื่องที่ต้องใช้การบอกเล่าเป็นตอนๆ อย่างซีรีส์ที่มีสิบตอน ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ความยาวสองชั่วโมง ซีรีส์มักจะเล่าเรื่องราวได้ดีกว่า ซึ่งหมายถึงมีพล็อตที่ซับซ้อนและมีการหักมุมที่ดึงความสนใจของคนดูให้รอตอนต่อไป

4. เรื่องที่มีรูปแบบโดดเด่น เพราะ Netflix พยายามก้าวข้ามข้อจำกัดและลองรูปแบบที่ผสมผสานกันขึ้นมาใหม่ ถึงแม้จะดูเหมือนว่าเป็นการขัดแย้งกับความรู้สึกและไม่เข้ากันเลยแต่ในแง่สตรีมมิ่งการผสมผสานแบบนี้กลับได้ผล

5. ความโดดเด่นและน่าจะได้รับความนิยมทั่วโลก นั่นหมายถึงนอกจากความใหม่และรายการที่เหมือนจะไม่เป็นไปตามรูปแบบกฎเกณฑ์ทั่วไปแล้ว เรื่องราวจะต้องสามารถตอบโจทย์พื้นฐานได้คืออะไร คือสิ่งที่ทุกคนตอบสนองในแบบเดียวกัน

เอริก้า นอร์ท หัวหน้าฝ่ายอินเตอร์เนชั่นแนลออริจินัลส์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Netflix กล่าวว่า

ในภูมิภาคนี้ของโลกมีเนื้อหาของแต่ละประเภทของภาพยนตร์ที่โดดเด่นเป็นของตัวเองเช่นภาพยนตร์สยองขวัญจากประเทศไทย และนั้นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม Netflix Original 2 เรื่องแรกของไทยจึงเป็นเคว้งและอุบัติกาฬ

เจาะวิธีคิดหนังในแบบ Netflix

เรื่องแรกที่คาดว่าคนไทยจะได้เห็นกันคือเรื่อง “เคว้ง” เอกชัย เอื้อครองธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท จีเอ็มเอ็มสตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และหนึ่งในผู้อำนวยการสร้าง บอกว่า “เคว้ง” คาดว่าจะถ่ายทำเสร็จสิ้นในเดือนเมษายนนี้

โดย Netflix Original มีทั้งซีรีส์และภาพยนตร์ ขึ้นอยู่กับคาแร็กเตอร์ของเรื่องที่จะเล่า ว่าเหมาะกับแบบไหน อย่าง “เคว้ง” ตอนที่วางคอนเซ็ปต์ไม่ได้ว่างแค่ 1 ซีซีน

แต่สิ่งที่น่าสนใจของ Netflix คือการสร้างในรูปแบบภาพยนตร์เรื่องยาวทำให้ดูต่อได้โดยที่ไม่ต้องมีโฆษณามาคั่นเหมือนกับละครทั่วไป เวลาวางบทไม่ได้วางแผนว่าจะตัดที่ตรงไหนเพื่อเว้นให้เข้าโฆษณาตามแบบละครทั่วไป แต่ทำซีรีส์ที่ทำใน Netflix ไม่ได้ทำอย่างนั้น

วิธีคิดของ Netflix ที่คิดว่าน่าสนใจคือตั้งแต่ต้นจะสร้างไบเบิลที่บอกว่าจักวาลของเนื้อเรืองมีอะไรบ้าง คาแร็กเตอร์ของตัวละครเส้นเรื่องที่สามารถแตกแขนงไปได้อีกยาวไกล ดังนั้นจึงจะไม่ลงทุนกับไอเดียที่ทำได้แค่ 1 ซีชั่น เพราะหากประสบความสำเร็จก็ต้องมาคิดใหม่

ถอดความคิดสิ่งที่ “เอกชัย” เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับ “Netflix”

จุดเริ่มต้นของ “เคว้ง” ถูกวางแผนมาตั้งแต่ตอนที่ Netflix ตกลงซื้อสิขสิทธิ์คอนเทนต์กว่า 700 ชั่วโมงจาก GMM Grammy โดยไอเดียเริ่มต้นของ “เคว้ง” มาจาก Netflix แล้วมาพัฒนาคอนเซ็ปต์ร่วมกับทีม Gmm Bravo ซึ่งอยู่ภายใต้จีเอ็มเอ็มสตูดิโอส์

“เอกชัย” ได้เล่าถึงการทำงานร่วมกับ Netflix และสรุปสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ 4 ข้อ ได้แก่

1. การเลือกเรื่อง Netflix มีมุมมองในการเลือกที่สามารถพูดคุยกับคนทั่วโลกได้อย่างที่ Netflix ชอบ พูดทำคอนเทนต์ไทยก็จริงแต่ลูกค้าคือคนทั้งโลก

2. ครีเอทีฟแรกๆ จะมาพร้อมกับไอเดียที่อาจจะมีความไม่ชัดเจนในความเป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างแท้จริง อย่างการใช้ตำนานต่างๆ ซึ่งอันนี้ทีมสามารถเข้าไปเสริมปรับให้สามารถใช้ตำนานไทยได้อย่างคมชัด

มีตั้ง Writer Room ซึ่งในนี้มีทั้งนักเขียนบทชาวไทยจำนวน 4 คน และนักเขียนฝรั่งมาบางบทร่วมกันซึ่งการร่วมมีครั้งนี้เป็นการสร้างร่วมกันแทนที่จะทำตามสั่ง ซึ่งภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดจะมีอารมณ์แบบนั้น รับมาแล้วทำให้ตีที่สุดตามโจทย์

ผมทำงานกับอินเตอร์มาหลายที่แต่ยังไม่เคยเจอใครที่เป็น Creative Collaborate หมายความว่ามีการอ่านบทที่ละเอียด สามารถคอมเมนต์ยังจุดต่างๆ ได้ เช่น ทำไมนางเองทำอย่างนี้แล้วตอนก่อนหน้านี้จะไม่ขัดแย้งกันหรอ ซึ่งมีมุมมองที่ไม่เหมือนกันทำให้ทีมสามารถปรับเพิ่มได้

3. ระบบการทำงานที่ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนกันทุกอย่างอยู่ในคอม ส่วนใครได้ข้อมูลแค่ไหนแล้วแต่ระดับ วิธีช่วยลดความขัดแย้ง โดยจะมีการเทรนนิ่งในเรื่องที่ Netflix กำลังจะสร้างในมุมต่างๆ ทั้งในด้านกฎหมายหรือลิขสิทธิ์ เทรนทุกคนให้รู้เท่ากัน ต้องไปทำบททดสอบในคอมพิวเตอร์ ถ้าตอบไม่ครบก็จะไม่ผ่าน นอกจากนี้ยังมีการทำงานเป็นระบบถึงขั้นมีระบบส่งของ

4. ให้อิสระระดับหนึ่ง เช่น การคัดเลือกนักแสดงที่พอคัดเสร็จแล้วก็ส่งไปให้ Netflix ซึ่ง Netflix จะเลือกคนจากความสามารถเป็นหลัก เห็นได้จาก “เคว้ง” มีทั้งนักแสดงที่รู้จักอยู่แล้วอย่าง มาร์ช-จุฑาวุฒิ และนักแสดงหน้าใหม่ ซึ่งในจำนวนี้มีหลายคนที่สร้างชื่อจากการแสดงให้กับ Netflix

“อากู๋” สั่งลุย ทำคอนเทนต์ขายต่างประเทศ

“เคว้ง” น่าจะเป็นหนึ่งในใบเบิกทางให้กับ GMM Grammy ในการเสิร์ฟคอนเทนต์ไปยังต่างประเทศ ซึ่งเวลานี้ได้มี “จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ขึ้นมาดูโดยเฉพาะ ตามนโยบายของ “อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม”

ภายใต้บริษัทใหม่นี้จะมีการรวบธุรกิจที่ผลิตคอนเทนต์มาไว้ร่วมกัน อย่าง “GMM Bravo” ที่ก่อตั้งมาเมื่อ 3 ปีก่อน อยู่ภายใต้ GMM Music โดยมีการนำเพลงมาทำเป็นซีรีส์ เช่น คนไม่มีแฟน และนำเพลงที่ได้ 100 ล้านวิวมาสร้าง เช่น ซีรีส์ Bangkok รัก Stories ซึ่งเรียกได้ว่าได้ผลเกินคาด

ส่วนปีนี้นั้นยังมีการทำเรื่องเพลงอยู่แต่จะเน้นผลิตคอนเทนต์ที่สามารถขายสิทธิ์ไปยังต่างประเทศได้ เพื่อรองรับกับเทรนด์ “Video Streaming” ที่ต้องการ Original Content เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยเริ่มเริ่มมองหาคอนเทนต์ที่ไม่โหล ฉีกตัวเองออกมาแล้วเอาคนดูอยู่และมีความเป็นไทยผสมอยู่ด้วย

สิ่งที่น่าสนใจในเมืองไทยคือมีเรื่องราวให้เล่นเยอะมาก เพียงแต่ว่าพอจะนำมาเสนอยังไงในระดับสากลเป็นเรื่องที่ท้าทาย ยิ่งโจทย์ท้าทายยิ่งสนุกขึ้น

ภายในปีนี้คาดว่าจะมีคอนเทนต์ให้เห็นกว่า 100 ตอน โดยมี 2 เรื่องที่เปิดตัวไปแล้วเช่น “นางสาวก้นครัว” เป็นเรื่องของสาวใช้ที่ฝันอยากเป็นเชฟโรงแรม 5 ดาว โดยดัดแปลงมาจากนิยายของสำหนังสำนักพิมพ์มติชนมา และเรื่อง “ใจกลางเมือง” แสดงนำโดยผู้ชาย 6 คนที่ผ่านมาคัดเลือกจากบราโว่! บอยส (BRAVO! BOYS)” เป็นเรื่องของเพื่อนและปัญหาของวัยที่เพิ่งทำงาน.