CIMB เปิด “พับบลิค เลานจ์” กลางเมือง ไม่ใช่แค่พื้นที่ “พริวิเลจ” แต่ต้องได้ลูกค้าใหม่

โดยทั่วไปกลยุทธ์การตลาดที่ต้องการสร้างประสบการณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟให้ลูกค้า มักจัดทำพื้นที่พิเศษ “พริวิเลจ เลานจ์” ให้เอกสิทธิ์การใช้เซอร์วิสต่างๆ กับลูกค้าปัจจุบัน ระดับของความพิเศษขึ้นอยู่กับกำลังจับจ่ายของแต่ละคน แต่ CIMB มองต่างออกไป ขอเปิด “พับบลิค เลานจ์” กลางเมือง ให้คนทั่วไปใช้บริการ เพื่อสร้างโอกาสได้รู้จักและสัมผัสแบรนด์ก่อนตัดสินใจเป็นลูกค้าในท้ายที่สุด

อดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความท้าทายของธนาคารที่ต้องปรับตัวสู่ “ดิจิทัล แบงกิ้ง” คือ ทำให้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้เซอร์วิสต่างๆ ที่ธนาคารนำเสนออย่างสม่ำเสมอ และต้องเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม เพราะบริการด้านการเงินของธนาคารเป็นเซอร์วิสที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน

“ซีไอเอ็มบี” จึงมองการสร้างประสบการณ์ที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงแบรนด์และเซอร์วิสของธนาคารผ่าน CIMB Thai Lounge รูปแบบ “พับบลิค เลานจ์” พื้นที่ 135 ตารางเมตร บริเวณโถงกลาง โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ย่านใจกลางเมือง

เปิดพื้นที่สัมผัสแบรนด์

รูปแบบ “พับบลิค เลานจ์” เปิดให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่ลูกค้าของซีไอเอ็มบี ก็สามารถเข้ามานั่งใช้บริการในเลานจ์ได้ เพื่อโอกาสรู้จักและสัมผัสกับแบรนด์ เพราะหนึ่งในโจทย์สำคัญวันนี้ ต้องสร้างความเข้าใจบริการของธนาคารและธุรกิจการเงิน ที่ถูกมองเป็นเรื่อง “ซีเรียส” ให้เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจได้ และสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายในยุคดิจิทัล

“วิธิคิดของซีไอเอ็มบี เรามองการให้ลูกค้าก่อน พับบลิค เลานจ์ จึงเปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้บริการได้ ไม่เฉพาะลูกค้าธนาคารเท่านั้น เพราะเชื่อว่าเมื่อคนทั่วไปได้สัมผัสกับแบรนด์และเซอร์วิสต่างๆ ที่มีให้เห็นในเลานจ์ ก็มีโอกาสจะเข้ามาเป็นลูกค้าของธนาคารได้เช่นกัน”

การเลือกเปิด พับบลิค เลานจ์ ในโรงภาพยนตร์กลางเมือง เพื่อทำให้ทุกคนเข้าถึงซีไอเอ็มบีได้สะดวก โดยเป็นแบรนด์ที่เกาะติดกับไลฟ์สไตล์คนยุคดจิทัลทุกวัย นอกจากพื้นที่พารากอนซึ่งเซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ 2 ปีแล้ว ยังมองการขยายเพิ่มเติมในโรงภาพยนตร์เมเจอร์ สาขาไอคอนสยาม และเอ็มควอเทียร์ อีกด้วย    

ตอบโจทย์ลูกค้าเก่า-โกยลูกค้าใหม่

อดิศร มองว่าการเปิดพื้นที่ในรูปแบบ “พริวิเลจ เลานจ์” เพื่อให้เฉพาะลูกค้าปัจจุบันใช้บริการ อาจใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เพราะหากลูกค้าไม่เข้ามาใช้บริการหรือใช้บริการจำนวนไม่มากก็จะกลายเป็นพื้นที่ว่าง ซีไอเอ็มบี จึงเลือกเป็นรูปแบบ “พับบลิค เลานจ์” ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นลูกค้าของซีไอเอ็มบี ก็จะได้สิทธิพิเศษ โดยบัตรเดบิตของธนาคารสามารถใช้ซื้อบัตรชมภาพยนตร์เมเจอร์ได้ในราคา 80 บาทต่อที่นั่ง โดย 1 บัตรใช้สิทธิได้ 2 ที่นั่งต่อเดือน โดยธนาคารได้จัดโปรโมชั่นนี้ร่วมกับเครือเมเจอร์มา 3 ปีแล้ว และได้รับความนิยมจากลูกค้าอย่างมาก 

ในพื้นที่ พับบลิค เลานจ์ ได้ติดตั้งตู้ Digital Solution Engagement หรือ DSE เพื่อให้ลูกค้าใหม่ที่สนใจเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แบบไม่มีสมุดฝาก สามารถเปิดบัญชีได้ด้วยตัวเอง โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการเปิดบัญชี ซึ่งจะได้รับบัตรเดบิตธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี ปีแรก ซึ่งจะได้สิทธิซื้อตั๋วภาพยนตร์เมเจอร์ราคา 80 บาทเช่นกัน คาดว่าจะมีลูกค้าเปิดบัญชีใหม่ผ่านตู้ DSE “พับบลิค เลานจ์” เดือนละ 400-500 บัญชีต่อเดือน จากปกติจะมีลูกค้าเปิดบัญชีใหม่กับธนาคารเดือนละ 20,000 บัญชี  

นอกจากนี้ ตู้ DSE ยังให้บริการยื่นขอสินเชื่อ พร้อมดูข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของธนาคารได้เพิ่มเติมอีกด้วย ปัจจุบันโรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการวันละ 1 แสนคน ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ธนาคารจะให้บริการลูกค้าเก่าและเป็นช่องทางการหาลูกค้าใหม่

“เราพยายามเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายของธนาคาร และไม่ยึดติดกับช่องทางรูปแบบเดิมๆ วันนี้ลูกค้าอยู่ที่ไหน ธนาคารต้องพร้อมให้บริการทุกที่ เพราะธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องใกล้ที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน”