โรงเบียร์ไทยในสิงคโปร์

หลังสร้างชื่อเสียงในกลุ่มคนไทยกับโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง โรงเบียร์ขนาดเล็กแห่งแรกในไทยมาครบ 10 ปี จนมี 2 สาขาที่พระราม 3 และรามอินทรา เสถียร เศรษฐสิทธิ์ เล็งการณ์ไกลสร้างแบรนด์ร้านอาหารไทยโกอินเตอร์ หวังกระตุ้นตลาดร้านอาหารไทยในเอเชีย ด้วยรูปแบบของ Asian Style Microbrewery โดยประเดิมที่สิงคโปร์เป็นแห่งแรกพร้อมกันถึง 2 สาขา ที่เดมซี่ย์ และอีสต์ โคสต์ ด้วยเงินลงทุน 120 ล้านบาท เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ซึ่งถึงแม้จะมีประชากรเพียง 5 ล้านคน แต่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บรรยากาศในช่วงค่ำของ Tawandang Microbrewery Singapore ขนาด 400-450 ที่ บนพื้นที่ 1,000 ตร.ม. สาขาถนนเดมซี่ (ย่านหรูหราประหนึ่งทองหล่อของบ้านเรา) ซึ่งเป็น Prime Location คลาคล่ำไปด้วยชาวสิงคโปร์และชาวต่างชาติที่มาทำงานที่นั่น ด้วยขนาดที่เล็กกว่าสาขาในเมืองไทยราว 3-4 เท่า ทำให้โรงเบียร์แห่งนี้ให้บรรยากาศของครอบครัวมากกว่า

ตามสไตล์ของ Entertainment โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงที่สิงคโปร์ จึงใช้ เบียร์สด อาหาร ดนตรี (สไตล์อะคูสติก ที่ถูกจริตคนสิงคโปร์มากกว่าดนตรีดัง โชว์อลังการ) เข้าเกาะกุมกลุ่มเป้าหมายที่มีทั้งชาวสิงคโปร์ 80% และ Expat 20% ซึ่งส่วนใหญ่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน ทำงานหนักไม่มีเวลาทำอาหาร ทำให้การกินถือเป็นกิจกรรมโปรด

“เราเชื่อว่าเกาถูกที่คันแล้ว เพราะหลังจากเปิดได้ 4 เดือนมียอดขายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 600,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราวๆ 15 ล้านบาท” สุพจน์ ธีระวัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง จำกัด บอก

แม้ภาพลักษณ์ของร้านอาหารไทยในสิงคโปร์จะไม่ได้อยู่ในแถวหน้าเหมือนร้านอาหารอิตาเลียน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น แต่เขามั่นใจว่าการเปิดตลาดอย่างเต็มรูปแบบของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง จะสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ของร้านอาหารไทยให้ดูพรีเมียมขึ้นได้ ด้วยอาหารกว่า 100 เมนู และรสชาติอาหารแบบไทยแท้ที่เป็น Signature Dish เช่น ขาหมูเยอรมันทอด ต้มยำกุ้ง และปลากะพงทอดน้ำปลา รวมถึงซีฟู้ด ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนสิงคโปร์

จากที่สามารถปักธงที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีกฎหมายเคร่งครัดได้ถึง 2 สาขา ทำให้เสถียรและสุพจน์มั่นใจว่า พวกเขาสามารถนำพาโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียต่อไปได้ไม่ยาก โดยมีแผนลงทุนที่เซี่ยงไฮ้และโตเกียวในเร็วๆ นี้ รวมถึงกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่เวียดนามด้วย

นอกจากนี้ ร่มธรรม เศรษฐสิทธิ์ ทายาทของเสถียรหรือรุ่น 2 ของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ซึ่งดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหาร ยังเตรียมแผนการรุกตลาดร้านอาหารไทยที่สิงคโปร์อย่างต่อเนื่องด้วยอาหารไทยแท้เพื่อสุขภาพและเน้น Food Decoration สำหรับมื้อกลางวันขนาด 120-200 ที่นั่ง พื้นที่ 2,000-3,000 ตารางฟุต ในพื้นที่ศูนย์การค้า ลงทุนไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อสาขา จำหน่ายในราคา 12-15 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อจาน ซึ่งเป็นราคามาตรฐานสำหรับอาหารมื้อหนึ่งของสิงคโปร์ โดยตั้งเป้าเปิดปีแรกอย่างน้อย 15 สาขา

“เป็นอีกโมเดลหนึ่งที่มีศักยภาพ เพราะปัจจุบันร้านอาหารไทยที่เป็นเชนในสิงคโปร์มีเพียง Thai Express แต่เจ้าของเป็นคนฝรั่งเศสและปรับเมนูอาหารไทยเป็นสไตล์ฝรั่ง การที่เลือกเปิดในศูนย์การค้าเพราะต้องอาศัยทราฟฟิกจำนวนมาก” เขาให้รายละเอียดและบอกว่ามีเอ็มเค เรสเตอรองส์ต เป็น Benchmarkในการทำธุรกิจร้านอาหารไทยที่สามารถเปิดที่ญี่ปุ่นได้หลายสาขา

ถึงเวลานั้นต้องดูกันอีกครั้งว่ารูปแบบร้านอาหารไทยที่นำเสนอความเป็นต้นตำรับ หรือ Authentic ผนวกกับกระแส Health Concious ที่เป็น World Issue ในเวลานี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ เขาคาดว่า โรงเบียร์ที่สิงคโปร์ทั้ง 2 สาขา จะคืนทุนได้เร็วภายใน 2 ปีอย่างแน่นอน

ขณะที่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า คาราบาวแดง อีกธุรกิจหนึ่งของเสถียร เศรษฐสิทธิ์ จะวางจำหน่ายในสิงคโปร์ เนื่องจากมีแรงงานไทยมาทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก

Did you know?
4,950 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 123,750 บาท) ต่อเดือน คือรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของคนสิงคโปร์ในปี 2551

ที่มา : Singapore Department of Statistics