ความนิยม Facebook ในไทยเวลานี้ มาแรงแซงหน้า hi5 ที่เคยฮิตเมื่อ 2 ปีที่แล้วไปแบบลอยลำ นอกเจากการเป็นแหล่งให้เพื่อนฝูงที่ทำงาน เพื่อนเก่าสมัยเด็กได้อัพเดตข้อมูลระหว่างกัน การมี“แอพพลิเคชั่น” ให้เลือกหลากหลายกว่า 100 แอพฯ เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญ และหนึ่งในนั้นที่โดนใจชาว Facebook แบบติดหนึบ จนทำให้เว็บ Social Network แห่งนี้เป็นที่นิยม ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ขึ้นไปถึงคนทำงานรุ่นใหญ่ ก็คือ “เกม”
เกมยอดนิยม ใน Facebook มีตั้งแต่ Pet Society หรือ เกมเลี้ยงสัตว์, Restaurant City เกมจัดร้านอาหาร เกมเรียงเพชร Bejeweled และ Farm View เกมปลูกผัก เกมเหล่านี้ออกแบบมาให้โดนใจ ดึงดูดคนเล่นใช้เวลาใน Facebook นานขึ้น ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ความนิยมนี้ พนักงานไม่เป็นอันทำงาน ไม่หลับไม่นอน บางทีก็ต้องตื่นขึ้นมาดูแลผักที่ปลูกไว้ หรือหาอาหารให้สัตว์เลี้ยง จนหลายองค์กรถึงกับต้องออกกฎห้ามเล่นเกมกันแล้ว
ส่วนเบื้องหลังเกมน่ารักๆ ที่ดึงดูดใจผู้ใช้จนติดหมัด จนทำให้ธุรกิจเกมมีมูลค่าถึงพันล้าน ต้องจับตา Zynga และ Playfish สองผู้ผลิตเกมบนเฟซบุ๊กล้วนๆ จนทุกวันนี้มีมูลค่ากิจการเป็นร้อยๆล้านดอลลาร์ สร้างทั้งนักเล่นเกมหน้าใหม่ๆ และแย่งชิงเวลาคอเกมส่วนหนึ่งไปจากเกมแบบเดิมๆได้ มีผู้ใช้มหาศาลซ้ำยังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขาย Item ในเกมและขายพื้นที่โฆษณา
บริษัท Zynga ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2007 ที่สหรัฐอเมริกา ทำกำไรได้ในแค่ 3 เดือนหลังจากก่อตั้ง ในขณะที่ Facebook หรือ Twitter ปัจจุบันก็ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน Zynga ทำรายได้ราว 100 ล้านเหรียญในปี 2008 พุ่งขึ้นเป็น 250 ล้านดอลลาร์แล้วในปีนี้ ด้วยเกมดังๆ เช่น Farmville, Mafia’s War, Roller Coaster และ Brai’s Buddy
ส่วน Playfish นั้นก่อตั้งในลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2007 เช่นกัน มีเกมแรกโด่งดังคือ Who has the Biggest Brain? เติบโตเพิ่มจำนวนเกมและขยายสาขาออฟฟิศทั้งผลิตเกมและทำการตลาดไปตั้งในสหรัฐฯ จีน และนอร์เวย์ เป็นเจ้าของเกมเช่น Pet Society, Restaurant City, Barn’s Buddy และ Biggest Brain
ล่าสุด EA หรือ Electronics Art ซึ่งจัดว่าเป็น “บริษัทเกมในโลกเก่า” เจ้าของเกมดังระดับโลกอย่าง The Sims, Fifa, Need For Speed และ Spor จึงลงทุนถึง 400 ล้านดอลลาร์ เข้าซื้อกิจการบริษัท Playfish แล้ว
ปัจจุบัน “บริษัทเกมส์แห่งโลกใหม่” อย่าง Playfish มีรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาและการขายไอเทมในเกมปีละประมาณ 75 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นผู้พัฒนาเกมบน Social Network
สองบริษัท Zynga กับ Playfish นั้นฟาดฟันทางธุรกิจกันแบบ “เกมชนเกม” เช่น Farmville ปะทะ Barn’s Buddy และ Brain’s Buddy ปะทะ Who has the Biggest Brain? และอีกหลายเกมที่เป็นคู่คล้าย – คู่ชน แย่งผู้เล่นกันอย่างดุเดือด
โชว์ของ / แข่งขัน / ปั่นราคา
ลูกเล่นต่างๆ ในเกมที่ถูกออกแบบมา ล้วนแต่กระตุ้นให้คนติดและผูกพันกับเกม แบบติดหนึบ เช่น การให้ผู้เล่นโชว์ผลคะแนน ส่งข้อความพูดคุย หรือคอมเมนต์ เพื่อให้เพื่อนทุกคนได้เห็น ซึ่งให้ความรู้สึกผูกพัน และมีส่วนร่วมมากกว่าการเล่นเพียงลำพัง
ลูกเล่นทางสังคมบนเฟซบุ๊กเกมนั้นไม่ได้มีแค่โชว์เทียบผลคะแนนกัน เช่นเกม Pet Society ที่สามารถถ่ายภาพตอนที่เราพาสัตว์เลี้ยงของเราไปเยี่ยมบ้านสัตว์เลี้ยงของเพื่อนแล้วกอดกันอย่างหวานชื่น ให้ทุกคนเห็นได้ว่าสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวแต่งกายน่ารักต่างๆ กันไป และอยู่ในห้องที่ตกแต่งพิสดารตามใจเจ้าของอย่างไร หรือเกม Farmville และ Barn’s Buddy ที่เมื่อปลูกผักขึ้นงอกงามสมใจก็สามารถถ่ายรูปลงโชว์ได้ เปิด “เมนต์” ต่อได้อีก
นอกจากการแข่งขัน, การโชว์รสนิยมแต่งตัวการ์ตูนแต่งบ้านแต่งฟาร์ม กิจกรรมทางสังคมยังมีอีกหลากหลายไล่เรียงไม่หมด เช่น ขโมยผักในฟาร์มเพื่อน ซึ่งแทนที่จะทำให้โกรธกัน ส่วนใหญ่กลับกลายเป็นเรื่องสนุกไว้เป็นประเด็นแซวข่มกันเฮฮา เช่นเดียวกับการซื้อขายเพื่อนราวกับเป็นทาสในเกม “Friends for Sale” ที่ทุกคนมีราคา ยิ่งซื้อขายบ่อยยิ่งถูกปั่นได้ และเมื่อซื้อใครมาแล้วก็สามารถสั่งให้ทำงานได้ เช่น ล้างห้องน้ำ เต้นโชว์
ในโลกแห่ง “Friends for Sale” คนดังบนเฟซบุ๊ก เช่น ดารา นักร้อง นักการเมือง นั้นมีค่าตัวนับพันล้านดอลลาร์ สร้างความ “ร่ำรวยในเกม” ให้นักเล่นเฟซบุ๊กที่เข้าซื้อขายคนดังเหล่านี้ไปตามๆ กัน ส่วนคนที่เพิ่งมาเล่นนั้นมีเงินกันไม่กี่ล้านดอลลาร์ ก็ได้แต่มองหาคนดังๆ หรือเพื่อนที่ “เรตติ้งดี” หน้าใหม่ๆ มาซื้อสะสมในพอร์ต เกิดเป็นเกมที่กระตุ้นให้ทุกคนชวนคนใหม่ๆ เข้ามาร่วมตลอดเวลา ช่วยแพร่เกมนี้ให้ระบาดไปอย่างรวดเร็ว
กิจกรรม โชว์ของ / แข่งขัน / ปั่นราคา ทั้งหมดนี้ทำให้คนเล่นติดใจและดึงดูดให้มีคนใหม่ๆ พบเห็นแล้วตามเข้ามา ทำให้ผู้เล่นทุกคนเสมือนนั่งเล่นอยู่ในร้านเกมเดียวกัน ตะโกนพูดคุยกันได้ ลุกขึ้นเดินดูกันได้เสมอ ทั้งที่ความจริงแล้วแต่ละคนนั่งอยู่ต่างบ้านต่างเมือง และมีไม่น้อยนั่งอยู่ที่ออฟฟิศแอบเจ้านายเล่นอยู่ด้วยซ้ำ ทำให้เกมที่ดูง่ายๆ กลับกลายน่าติดพันเพราะมี “เพื่อน” อยู่ในเกมเหล่านั้นมากมายตลอดเวลา
เพิ่มความถี่ และเวลา
อีกสูตรสำเร็จที่ทุกเกมมีตรงกัน ก็คือ ยิ่งใครเข้าไปเล่นถี่ๆ จะได้คะแนนพิเศษ เช่น Friends for Sale ทุกครั้งที่เข้าไปจะได้เงินพิเศษเป็นแสน $ มาเป็นทุนซื้อขายเพื่อน และเกม Restaurant City ที่หากเข้าไปเปิดปิดจัดร้านบ่อยๆ ก็จะมีลูกค้าเข้ามาก มีทุนไปจัดร้านให้สวยใหญ่หรูหราถ่ายรูปมาโชว์เพื่อนๆ แล้วดูดีกว่า
แต่บางเกมใช้วิธีลงโทษคนที่ไม่เข้าไปเล่นถี่พอ เช่น Farmville ที่คนเผลอมักจะถูกขโมยพืชผักผลผลิต หรือหากไม่ใส่ใจผักก็อาจตาย หรือ Pet Society ที่หากหลายๆ วันเข้าไปเล่นที ก็จะพบว่าสัตว์เลี้ยงของเรามีแมลงวันตอมดูน่ารังเกียจเพราะไม่ได้อาบน้ำ และยังบ่นหิวร้องขอของกินตลอดเวลาอีกด้วย นอกจากนี้บ้านก็จะไม่สวยงามน่าดู ทั้งหมดนี้ทำให้เพื่อนๆ ไม่ค่อยอยากมาเยี่ยมบ้านเท่าใดนัก
ส่วน Friend for Sale หากนานๆ เล่นที ก็จะพบว่าเพื่อนๆ หรือคนดังที่เราเคยมีในพอร์ตลงทุนนั้นถูกซื้อออกไปหมด จะไปซื้อกลับก็ไม่ไหวเพราะราคาถูกปั่นไปเกินวงเงินของเราหลายเท่า ถือว่าพลาดโอกาสสะสมความมั่งคั่งไปแล้ว
ยิ่งผู้ใช้เข้าเล่นถี่ๆ ก็จะยิ่งติดเกม ผูกพันมากขึ้น แน่นอนว่าผู้ได้ประโยชน์ก็คือเจ้าของเกม ที่จะมีโอกาสทั้งขาย Item ในเกมให้กับผู้ใช้ และขายพื้นที่โฆษณาให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ ได้มากขึ้น
ซื้อ Item ซื้ออภิสิทธิ์
รายได้จากการขาย “ขาย Item” เป็นโมเดลที่บริษัทเกมออนไลน์ทำกันมานาน และถูกนำมาใช้ใน Facebook การซื้อ Item ด้วยการรูดบัตรเครดิตจำนวนเล็กๆ น้อย จะทำให้ผู้เล่นได้เงินในเกมเพิ่มมหาศาล และได้สิทธิพิเศษที่ผู้เล่นฟรีทำไม่ได้ ทำให้ชีวิตในเกมง่าย สะดวก และสนุกขึ้นมาก สร้างความพึงพอใจให้กับนักเล่นเกมระดับเข้าเส้นทั้งหลายสามารถซื้อความพอใจที่จะทำให้พวกเขาเป็นมหาเศรษฐีที่มีภัตตาคารใหญ่โต เป็นเจ้าของฟาร์มกว้างใหญ่กับบ้านไร่สวยงามที่ใครๆ ก็ชื่นชม เป็นเจ้าของคนดังๆ ซื้อขายสะสมเงินเป็นพันล้านดอลลาร์ได้ในเกม ในทางจิตวิทยานับได้ว่าเป็น “Exit” หรือทางออกจากความกดดันเคร่งเครียดผิดหวังในโลกชีวิตจริงได้ทางหนึ่ง
เงินเล็กๆ น้อยๆ จากนักเล่นเกมจำนวนนับสิบๆล้านคนนี่เอง ทำให้บริษัทเจ้าของเกมบนเครือข่ายสังคมเช่น Zynga กับ Playfish มั่งคั่งใหญ่โตไปตามๆ กัน และไม่เพียงแค่นั้น ยังมีรายได้จากการโฆษณา ไม่ว่าการแทรกตราสินค้าเข้าไปในหน้าเว็บรอบๆ จอเกม หรืออยู่ในฉากเกมเลย ทำให้บริษัทเหล่านี้ก้าวไปสู่ความเป็น New Media ไปด้วย
ด้วยเทคนิคดึงดูดผู้เล่นใหม่เข้ามา ตรึงผู้เล่นเดิมไว้ให้เล่นบ่อยๆ และนานๆ สานต่อไปสู่การสร้างรายได้ขาย Item ตอบสนองความต้องการสิทธิพิเศษของผู้คน และต่อยอดสู่ความเป็น Media ที่รวมคนนับล้านๆ นับว่า เกมบน Facebook นั้นยิ่งใหญ่ และจะมีบทบาทในโลกธุรกิจยุคใหม่มากกว่าที่ใครหลายคนรู้