อ่านแผน “Lazada” บนสังเวียนอีคอมเมิร์ซ ชู “ซูเปอร์ โซลูชั่นส์” อัดแคมเปญถี่ยิบอีก 3 เท่า ใช้เกมสร้าง “Shoppertainment” จับลูกค้ามิลเลนเนียล

ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในวันนี้ที่อยากได้อะไรก็ค้นหน้าผ่านหน้าจอ จิ้มหน้าจอมือถือไม่กี่ครั้ง ก็รอรับสินค้ามาส่งที่บ้านได้เลย ทำให้ อีคอมเมิร์ซกำลังเป็นน่านน้ำที่ใครๆ อย่างเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถเติบโตจนมีมูลค่าถึง 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025

มูลค่ามหาศาลเกิดเป็นกลิ่นหอมที่ดึงดูดผู้เล่นจากทั่วสารทิศ ให้กระโดดเข้ามาเล่นทั้ง Shopee จากสิงคโปร์ มีคนหนุนหลังเป็น Tencent จากจีน, JD.Com ที่เข้ามาในเมืองไทยผ่านการจับมือจับเซ็นทรัล, Tokopedia ยักษ์ใหญ่ในอินโดนีเซีย, Amazon เบอร์ 1 ของโลกที่เริ่มเจาะภูมิภาคนี้ โดยเริ่มที่สิงคโปร์เป็นที่แรก เป็นต้น นี่ยังไม่นับรายเล็กรายน้อยที่แฝงตัวอยู่ในแต่ละประเทศอีก

แต่ถ้าจะถามว่า ยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคนี้เป็นใคร ก็ต้องยกให้ลาซาด้า (Lazada) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอายุกำลังจะ 7 ขวบ จากสิงคโปร์ ซึ่งวันนี้บุกเข้าไปใน 6 ประเทศจากทั้งหมด 10 ประเทศในภูมิภาคนี้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยมีผู้จำหน่ายจำนวนกว่า 400,000 ราย และอีกกว่า 3,000 แบรนด์ มีสินค้าทั้งหมด 450 ล้าน SKUs

ปิแอร์ ปัวยอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า กรุ๊ป ระบุว่า ความสำเร็จของลาซาด้ามาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ เทคโนโลยี โลจิสติกส์ และอีเพย์เมนต์ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนได้รับการถ่ายทอดมาจากบริษัทแม่คือ Alibaba ของแจ็ค หม่า ที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวแก่ลาซาด้า ตั้งแต่เข้ามาซื้อหุ้น 100% ในปี 2016

ลาซาด้าย้ำว่า วันนี้ตัวเองไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แต่คือบริษัทเทคโนโลยี ที่ผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการลงทุนอย่างสม่ำเสมอทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี โลจิสติกส์ และอีเพย์เมนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลจิสติกส์จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น 80% โดยปัจจุบัน 80% ของการขนส่งสินค้าทั้งหมดถูกจัดส่งโดยพนักงานของลาซาด้าเอง

มีการการจัดส่งสินค้ากว่า 1 ล้านชิ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะเวลา 1 วัน และลาซาด้ามีโกดังถึง 31 แห่งทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเมืองไทยปี 2019 ลาซาด้าเตรียมเปิดศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งมีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 20 สนาม เพื่อจัดเก็บ แพ็ก และขนส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ง่ายดาย และต้นทุนต่ำ

ปิแอร์ ปัวยอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า กรุ๊ป

ภายในปี 2030 ลาซาด้าตั้งเป้าเข้าถึงลูกค้า 300 ล้านคน สร้างงานอีก 20 ล้านตำแหน่ง และมีร้านค้ารายย่อยอีก 8 ล้านราย เป้าหมายนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่แจ็ค หม่า แห่ง Alibaba ต้องการเข้าคนผู้คนจำนวน 2,000 ล้านคน

เหนือสิ่งอื่นใด เป็นที่ 1 ว่ายากแล้ว แต่รักษาที่ 1 ไว้ยากยิ่งกว่า เมื่อดูจากเป้าหมายที่ลาซาด้าวางไว้ ต้องบอกว่าหินไม่ใช่เล่น เพราะวันนี้สังเวียนอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นเกมของการเผาเงิน ยังไม่ผู้เล่นรายไหนทำกำไรแม้แต่รายเดียว แต่เมื่อขึ้นหลังเสือจะลงก็คงยากแล้ว งานนี้ลาซาด้าเลยต้องทุ่มสุดตัวเพื่อดึงทั้งฝั่งผู้ขายและผู้ซื้อให้เข้ามาในแพลตฟอร์ม

เริ่มที่ผู้ซื้อปิแอร์บอกว่า ลาซาด้าวางวิสัยทัศน์ไม่ว่าใครก็มีโอกาสที่จะขายได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ลาซาด้ามองเห็นคือ ต่อไปสินค้าจะไม่ได้มาจากแบรนด์ใหญ่ๆ อย่างเดียว แต่จะมาจากแบรนด์เล็กๆ หรือที่เรียกว่า SME นั้น จึงเป็นที่มาของการตั้งเป้าหมายร้านค้าย่อยถึง 8 ล้านราย

แต่ที่ผ่านมาพวกร้านค้าเล็กๆ หรือแม้แต่แบรนด์ใหญ่ๆ มักจะเจอปัญหา 3 ข้อในการทำธุรกิจออนไลน์ ได้แก่ การสร้างแบรนดิ้ง (Branding) การทำการตลาด (Marketing) และการขาย (Sales) จึงเป็นที่มาที่ทำให้ลาซาด้าออกซูเปอร์ โซลูชั่นส์ (Super-Solutions)” เข้ามาช่วย โดยใจความหลักมี 3 ข้อ ได้แก่

1. แคมเปญ ‘Super’ Series โดยเป็นแคมเปญที่ออกมาเพื่อส่งเสริมการขาย เช่น Super Brand Day วันลดกระหน่ำของแบรนด์ มีข้อมูลพบว่า กว่า 63% ของลูกค้าที่ซื้อช่วง Super Brand Day เป็นผู้หญิง โดยทำให้สินค้า FMCG เติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า บางร้านมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 80 เท่า และกว่า 90% ของคนที่เข้ามาซื้อ เป็นผู้ที่เพิ่งสมัครเข้ามาใหม่

ปีที่ผ่านมาลาซาด้าจัดแคมเปญใหญ่ประมาณ 6 ครั้ง แต่ปีนี้จะเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว โดยจะแยกย่อยลงไปในแต่ละหมด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง

2. Business Advisor Dashboard เป็นกระดานข้อมูลที่แสดงผลแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นข้อมูลให้แบรนด์และผู้ขายนำไปใช้ในการตัดสินใจวางแผนเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมหน้าร้าน ทำให้นักช้อปเห็นผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงสามารถเลือกสรรโปรโมชั่นที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นยอดขายของตัวเองได้ โดยพบว่าสามารถทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 30%

3. ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเพื่อเพิ่ม Brand Awareness และยอดขาย โดยมีฟีเจอร์ใหม่ๆ ทั้การค้นหาด้วยรูปภาพ (Image Search), การปรับแบนเนอร์ร้านให้มีความเฉพาะตัว (Personalize), การไลฟ์สตรีม (live streaming) บนแอปพลิเคชั่นลาซาด้า และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ค้าผ่านเกม

ใจความสำคัญของหัวข้อนี้อยู่ที่ 2 เรื่องหลัง ซึ่งลาซาต้าเรียกว่า “Shoppertainment” เป็นการหากิจกรรมมาทำ เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับนักช้อป โดยเฉพาะกับกลุ่มมิลเลนเนียล

ฟีเจอร์เหล่านี้มีข้อมูลที่น่าสนใจทั้งผู้ใช้กว่า 500,000 รายใช้การค้นหาด้วยรูปภาพ เพื่อค้นหาสินค้ากว่า 20 ล้านชิ้นทุกวัน, วิดีโอที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดมีจำนวนไลค์มากกว่า 1.2 ล้านในระยะเวลา 1 ชั่วโมงของการไลฟ์สตรีมในช่วงเทศกาล 12.12, คนไทยกว่า 2 ล้านรายชมการไลฟ์สตรีมของลาซาด้า และผู้ขายที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของลาซาด้ามียอดขายเพิ่ม 50 เท่า ใน 1 วัน

ขณะเดียวกันมีคนขายอย่างเดียวก็ไม่สามารถทำให้เติบโตได้ ต้องมีผู้ซื้อจิง ยิน (Jing Yin) ประธานกรรมการ ของ ลาซาด้า กรุ๊ป กล่าวว่า ที่ผ่านมาในฝั่งของผู้ซื้อเจอ Pain Point 2 ข้อหลักๆ คือ เจอสินค้าปลอม และส่งช้า ลาซาต้าจึงแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยการเปิด “LazMall” เป็นห้างสรรพสินค้าออนไลน์

สินค้าที่มีอยู่ใน LazMal จะถูกรับรองจากลาซาด้าว่าเป็นของแท้ ไม่พอใจสามารถคืนเงินได้ภายใน 15 วัน และจัดส่งภายใน 24 ชั่วโมงเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่กำหนด แต่ถ้าไม่อยู่จะส่งภายใน 72 ชั่วโมง ปัจจุบันมีร้านค้าทั้งหมด 1,500 แบรนด์ เฉพาะในเมืองไทยมีประมาณ 450 แบรนด์ มีสินค้าทั้งหมด 10,000 SKUs

ภายในปี 2019 ลาซาด้าตั้งเป้าเพิ่มจำนวนแบรนด์ LazMall อีก 5 เท่า หรือราว 7,500 แบรนด์.