“เจ็ทส์” เปิด 24 ชั่วโมงกระจายช่วงพีค กวาดลูกค้าทำงานเป็นกะ-ฟรีแลนซ์

“ฟิตเนส” เป็นอีกธุรกิจเกาะเทรนด์สุขภาพที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีก โดยเฉพาะบริการ “24 ชั่วโมง” ที่ถือเป็นเซอร์วิสรองรับวิถีการทำงานที่เปลี่ยนไปของคนในยุคนี้ มีทั้งฟรีแลนซ์ สตาร์ทอัพ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อาชีพไม่ติดยึดกับชั่วโมงทำงาน office hours ที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น

ทิศทางดังกล่าวทำให้ “เจ็ทส์” (Jetts) ฟิตเนส 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็น 1 ใน 8 แบรนด์ธุรกิจฟิตเนสของฟิตเนส แอนด์ ไลฟ์สไตล์ กรุ๊ป (เอฟแอลจี) กลุ่มบริษัทด้านสุขภาพระดับเอเชียแปซิฟิก จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีคลับกว่า 450 แห่งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เข้ามาขยายการลงทุนในไทยในปีที่ผ่านมา

เปิด 24 ชม. เก็บเรียบลูกค้าทุกกลุ่ม

ไมค์ แลมบ์

ไมค์ แลมบ์ ประธานเจ้าหน้าบริหาร เจ็ทส์ ฟิตเนส 24 ชั่วโมง ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ในธุรกิจฟิตเนสที่เรียกว่าเป็นชั่วโมง “ซูเปอร์พีค” มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากที่สุด คือช่วง 17.00-21.00 น. เพราะเป็นเวลาหลังเลิกงาน ที่มักจะแวะมาออกกำลังกายก่อนกลับบ้านในช่วงเวลานี้ ซึ่งเจ็ทส์มีลูกค้าใช้บริการในช่วงดังกล่าวสัดส่วน 50%

แต่การที่เจ็ทส์ให้บริการ 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถกระจายลูกค้าไปใช้บริการในช่วงเวลาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ช่วงพีคไทม์ ได้มากกว่าฟิตเนสทั่วไป อีกทั้งยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้าได้เพิ่ม 20% โดยเฉพาะในกลุ่มที่ทำงานเป็นกะ เช่น อาชีพตำรวจ แพทย์ พยาบาล พนักงานโรงแรม

อีกทั้งสอดรับกับวิถีการทำงานของคนรุ่นใหม่ อาชีพฟรีแลนซ์ กลุ่มสตาร์ทอัพ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ กลุ่มที่ไม่ยึดติดกับชั่วโมงการทำงานแบบ office hours ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มนี้มักจะมาใช้บริการในเวลาที่สะดวก ทั้งช่วงเช้า บ่าย หลังเที่ยงคืน

และในยุคที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย พบว่าเป็นกลุ่มนี้มีแนวโน้มมาออกกำลังกายที่ฟิตเนสมากขึ้น โดยจะมาช่วงเช้า 05.00 น. จากนั้นอาจไปออกกำลังกายพบปะเพื่อนที่สวนสาธารณะต่อ ทำให้ เจ็ทส์ สามารถรองรับลูกค้าสูงวัยได้อีกกลุ่มในช่วงเช้า “เราเห็นลูกค้าวัย 60 ปีมาใช้บริการมากขึ้น”

“ในเอเชียรวมทั้งไทยมีสัดส่วนคนออกกำลังกายเพียง 5% ของจำนวนประชากร ขณะที่ยุโรปสัดส่วนอยู่ที่ 15-20% นั่นเท่ากับว่าไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก”

ยึดทำเลรถไฟฟ้า-ลุย ตจว.

เนื่องจาก เจ็ทส์ เป็นฟิตเนสที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง ทำเลการขยายสาขาจึงเน้นความ “สะดวก” โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที ในไตรมาส 2 นี้จะเปิด 3 สาขาใหม่ ในทำเลใจกลางกรุง ติดบีทีเอสสีลม อโศก และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมทั้งจะเริ่มขยายสาขาต่างจังหวัดที่พัทยา 2 สาขา และโคราช 1 สาขา สิ้นปีนี้จะมีทั้งหมด 24 สาขา

นับจากปี 2017 ที่เริ่มเปิดสาขา ปัจจุบันมีอัตราขยายธุรกิจเฉลี่ย 1 สาขาต่อเดือน  ถือเป็นธุรกิจฟิสเนตที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดในประเทศไทย และเป็นเครือข่ายฟิตเนส 24 ชั่วโมงใหญ่ที่สุดของไทยด้วยครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 60% ในเซ็กเมนต์นี้ ที่มีอีก 2 เชนฟิตเนสจากต่างประเทศและแบรนด์โลคอลทำตลาดอยู่

“เราตั้งเป้าที่จะเปิดคลับใหม่ไม่น้อยกว่า 12 แห่งต่อปี และเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีจำนวนคลับทั้งหมด 100 แห่งในประเทศไทยภายใน 5 ปีข้างหน้า”

ปัจจุบัน เจ็ทส์ มีสมาชิก 15,000 ราย สิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 25,000 ราย การใช้บริการของ เจ็ทส์ เป็นค่าสมาชิกรายเดือน เดือนละ 1,500 บาท ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่จะมีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง แตกต่างจากธุรกิจฟิตเนสที่เข้ามาทำตลาดไทยก่อนหน้านี้ ที่เป็นการเก็บค่าสมาชิกล่วงหน้าและให้ฟรีค่าบริการตามจำนวนปีที่จ่ายล่วงหน้า ซึ่งรูปแบบนี้จะทำให้ไม่มีรายได้เข้ามาหมุนเวียนเมื่อลูกค้าใช้เข้าสู่ช่วงที่ใช้บริการฟรีจากการแถม และทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบขาดรายได้

คนไทยนิยมใช้เทรนเนอร์

ไมค์ บอกว่าพฤติกรรมของลูกค้าไทย นิยมใช้ “เทรนเนอร์” มาแนะนำการออกกำลัง จากจำนวนสมาชิกของเจ็ทส์ปัจจุบัน มีสัดส่วนที่ใช้เทรนเนอร์ 20% น่าจะมาจากปัจจัยเทรนเนอร์ที่เป็นกันเองและการสร้างสรรค์โปรแกรมการออกกำลังกายที่น่าสนใจแบบเฉพาะบุคคล

จากสถิติสมาชิกที่มาใช้บริการกับเจ็ทส์ ส่วนใหญ่นิยมมาออกกำลังกายวันจันทร์-พฤหัสบดีมากที่สุด ช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ จำนวนผู้ใช้บริการจะลดลง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาสังสรรค์ โดยวันจันทร์จะมาใช้บริการมากที่สุด เพราะต้องการมาเผาผลาญไขมัน หลังจากปาร์ตี้ช่วงสุดสัปดาห์ โดยเฉลี่ยจะใช้บริการ 3 ครั้งต่อสัปดาห์.