แบรนด์ทำอย่างไร ในกระแสการเมืองร้อน กับ #ถอนโฆษณาเนชั่น

เป็นกระแสฮอตโซเชียลมา 3 วันต่อเนื่อง กับกรณี “เนชั่นทีวี” เผยแพร่คลิปตัดต่อเสียง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อคืนวันอังคาร 19 มีนาคม จนเกิด #เนชั่นโป๊ะแตก สนั่นโลกออนไลน์

ตามด้วยเหตุการณ์โทรศัพท์สัมภาษณ์สด “ธนาธร” ของเนชั่นทีวี ช่วงเที่ยงวันพุธ 20 มีนาคม ที่พูดถึงมาตรฐานการทำหน้าที่ของสื่อในการนำเสนอคลิปเสียงตัดต่อ และการตอบโต้ของผู้บริหารเนชั่นทีวี ที่เห็นว่าคำพูดของ “ธนาธร” สร้างความเสียหายให้เนชั่นทีวี

สถานการณ์ที่เคลียร์ไม่จบดังกล่าว ชาวออนไลน์ที่ไม่พอใจต่อการรายงานข่าวของเนชั่นทีวีกลุ่มหนึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนเกิดเป็น #ถอนโฆษณาเนชั่น ซึ่งได้รับความนิยมในทวิตเตอร์และขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในประเทศไทย ช่วงเช้าถึงช่วงเที่ยงวันนี้ (21 มีนาคม) เนื้อหาของแฮชแท็ก เป็นการกดดันสินค้าและแบรนด์ต่างๆ ที่เป็นสปอนเซอร์รายการช่องเนชั่นทีวี

ในมุม “แบรนด์” ที่ถูกโยงเข้ากับกระแสการเมืองร้อนในช่วงโค้งสุดท้ายนี้กับ #ถอนโฆษณาเนชั่น แหล่งข่าวจากเอเยนซี่บอกว่า กระแสโลกออนไลน์ที่กดดันสินค้าและแบรนด์ให้ถอนโฆษณาเนชั่นนั้น ด้วยหลักเกณฑ์การซื้อโฆษณาแล้ว ปกติเป็นการวางแผนและซื้อโฆษณา “ล่วงหน้า” อย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งบางรายจะยาวกว่านั้น

ดังนั้นโฆษณาที่เห็นหน้าจอทีวีวันนี้ คือ ถูกซื้อและวางแผนล่วงหน้าไปแล้ว การถอนโฆษณาจึงต้องบอกว่า “ลำบาก” ต่อเมื่อจบแคมเปญแล้ว หากมีกระแสที่ส่งผลต่อแบรนด์โดยตรงก็อาจมีการ “ทบทวน” การลงโฆษณาใหม่ เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่ายังมีทีวีดิจิทัล อีกหลายช่องเป็นตัวเลือกในการลงโฆษณา

แต่หากมีการถอนโฆษณากันจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับแบรนด์ คือ ชาวออนไลน์ในฝั่งที่กดดันให้ถอนโฆษณาก็จะพึงพอใจ แต่ก็จะสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับฝ่ายที่สนับสนุนเนชั่นทีวีได้เช่นกัน อีกทั้งยังกระทบกับคอนเนกชั่นระยะยาวของสื่อ

หากดูกระแสออนไลน์วันนี้กับ #ถอนโฆษณาเนชั่น ก็ต้องบอกว่าเป็นแฮชแท็กที่ยังไม่เชื่อมโยงกับแบรนด์โดยตรง ในสถานการณ์เช่นนี้ เชื่อว่า “สินค้าและแบรนด์” จะไม่ออกมาแอคชั่นอะไรมากนัก คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสถานีทีวีกับคู่กรณีเคลียร์กันเอง.