รายการข่าวแรง! กลุ่มท็อปเท็น “ไทยรัฐทีวี-อมรินทร์-เนชั่น”โกยเรตติ้งเพิ่ม

หลังการเลือกตั้งเดือน มี.และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้ผู้ชมเกาะติดรายการข่าวทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ เพื่ออัพเดตสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองในการจับขั้วตั้งรัฐบาล ส่งผลให้เรตติ้งรายการข่าวของช่องท็อปเท็นขยับขึ้น

สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รายงานข้อมูล “นีลเส็น” ในการวัดค่าความนิยม (เรตติ้ง) ช่องทีวีดิจิทัลเดือน พ.ค.2562 สูงสุด 10 อันดับแรก คือ ช่อง 7 (7HD) ช่อง 3 (3HD) โมโน 29 เวิร์คพอยท์ทีวี ช่อง One ไทยรัฐทีวี อมรินทร์ทีวี ช่อง 3SD ช่อง 8 และเนชั่นทีวี

ในเดือน พ.ค.นี้ ช่องรายการที่มีเรตติ้งเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนก่อน ได้แก่ ช่อง 7 ไทยรัฐทีวี อมรินทร์ทีวี และเนชั่นทีวี

ช่อง 7 มีเรตติ้งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 000.7 รายการที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเดือน พ.ค. คือ ละครเย็น “ขิงก็รา ข่าก็แรง” มีเรตติ้งสูงสุด 7.853 (ออกอากาศวันที่ 30 พ.ค. 2562) ส่วนละครค่ำ “เพลงรักเพลงปืน” ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน โดยมีเรตติ้งสูงสุด 7.785 (ออกอากาศวันที่ 8 พ.ค. 2562)

ไทยรัฐทีวี เรตติ้งสูงสุดยังเป็นรายการข่าว เช่น ไทยรัฐนิวส์โชว์ และการถ่ายทอดสดการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่สร้างเรตติ้งได้ดีเสมอต้นเสมอปลาย ส่งผลให้เรตติ้งเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.001

อมรินทร์ทีวี เป็นช่องที่มีเรตติ้งเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 0.023 โดยขยับจาก 0.288 ในเดือน เม.ย.2562 เป็น 0.311 ในเดือน พ.ค. 2562 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเรตติ้งดังกล่าวส่งผลให้การจัดลำดับของช่องในกลุ่ม Top 10 ขยับจากอันดับ 8 ขึ้นสู่อันดับ 7 รายการที่ช่วยสร้างกระแสความนิยมให้แก่ช่องคือ ทุบโต๊ะข่าว

เนชั่นทีวี มีเรตติ้งเพิ่มสูงขึ้น 0.032 ส่งผลให้ช่องสามารถเข้าสู่การจัดอันดับในกลุ่ม Top 10 ได้อีกครั้ง โดยรายการที่ได้รับความนิยมยังคงเป็นรายการ “เนชั่น ทันข่าว” และ “ข่าวข้น คนเนชั่น”

กสทช.ออกหลักเกณฑ์หนุนเงินทำทีวีเรตติ้ง

สำหรับความคืบหน้าการสนับสนุนงบประมาณการจัดทำเรตติ้งทีวี เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 กสทช.ได้ออก ประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดสรรเงินในการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล

ตามประกาศฯ กำหนด ให้มี “องค์กรกลาง” ซึ่งหมายถึง องค์กรที่เป็นการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล โดยองค์กรกลาง มีสิทธิขอรับการจัดสรรเงินสนับสนุนจาก สำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการสำรวจความนิยมช่องรายการทีวี (ทีวีเรตติ้ง) ของช่องรายการทีวี หรือเนื้อหารายการทีวี การจัดทำฐานข้อมูล การให้บริการฐานข้อมูล การตรวจสอบความถูกต้องของฐานข้อมูล เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล

สำหรับ “องค์กรกลาง” ที่มีสิทธิขอรับการจัดสรรเงินสนับสนุนจากสำนักงาน กสทช. เพื่อสำรวจเรตติ้ง จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  1. เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ (24 พ.ค. 2562)
  2. มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการสำรวจความนิยมช่องรายการทีวี เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล หรือส่งเสริมการพัฒนากิจการทีวีดิจิทัล
  3. กรรมการ ผู้ดำเนินกิจการขององค์กรกลางจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จะต้องเป็นผู้แทนจากผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล
  4. สมาชิกองค์กรกลางที่เป็นผู้แทนจากผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จะต้องมีสมาชิกทีวีดิจิทัลไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่มีอยู่ปัจจุบัน ไม่รวมทีวีดิจิทัลที่แจ้งคืนใบอนุญาต กับ กสทช.

โดยองค์กรกลางที่จะขอรับเงินสนับสนุนตามประกาศฯ ให้แจ้งเป็นหนังสือยื่นต่อสำนักงาน กสทช. ภายใน 60 วัน นับถัดจากวันที่มีผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นฯ 700 MHz (วันที่ 19 มิ.ย.2562)

การจัดสรรเงินจะต้องสอดคล้องกับข้อเสนอในการดำเนินการสำรวจเรตติ้ง เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล โดยองค์กรการจะต้องป้องกันการ “ผูกขาด” ส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  1. สำนักงาน กสทช. จะต้องได้รับหรือมีสิทธิใช้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเรตติ้ง เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการแข่งขันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
  2. องค์กรกลางที่ได้รับการจัดสรรเงิน จะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทีวี
  3. องค์กรกลางที่ได้รับการจัดสรรเงินจะต้องสนับสนุนข้อมูลต่อหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนากิจการวิทยุ ทีวี และกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม
  4. ทีวีดิจิทัล สาธารณะ มีสิทธิ์เข้าร่วมระบบสำรวจเรตติ้ง