เมื่อไหร่ที่ปรากฏชื่อ “ไทยเบฟ” ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เข้าซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) หรือ M&A ร่วมทุน (Joint Venture) กระทั่งการถือหุ้นจะเล็ก (Minority) หรือหุ้นใหญ่ (Mojority) ในธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม เหล้า เบียร์ ฯลฯ จะถูกภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และสังคมจับตามองทันที
ในมุมธุรกิจ จะเห็นการรุกคืบของทุนใหญ่สยายปีกไปไม่หยุดหย่อน ส่วนผู้บริโภคจบดีลแล้ว สินค้าและบริการจะเปลี่ยนไปอย่างไรกระทบความต้องการ เงินในกระเป๋าไหม
ดีลใหญ่! ที่สะเทือนวงการธุรกิจ และผู้บริโภคให้ความสนใจสุดๆ เมื่อเร็วๆ นี้ “เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ลิมิเต็ด” (F&N) บริษัทลูกของไทยเบฟ ซึ่งถือหุ้นกว่า 28% ได้ตั้งบริษัท เอฟแอนด์เอ็น รีเทล คอนเน็คชั่น จำกัด เพื่อร่วมมือกับ Maxim’s Caterers Limited ลุยตั้งบริษัทร่วมทุน “บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ (ประเทศไทย) จำกัด (CCT)” ทุนจดทะเบียน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย)
แม้ “มูลค่าดีล” จะยังไม่ถูกเปิดเผย แต่เมื่อดูผลการดำเนินงานของสตาร์บัคส์ในประเทศไทย มีรายได้ในปี 2561 มากกว่า 7,600 ล้านบาท และกำไรกว่า 1,000 ล้านบาท เชื่อว่าไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ แน่นอน
แล้วอย่างนี้ ต้องรวยเบอร์ไหนถึงจะซื้อกิจการแล้วกิจการอีก Positioning จะพาผู้อ่านไปดูรายได้ครึ่งปีแรก 2562 (ปีงบประมาณ ต.ค. 61 – ก.ย. 62) ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
รายได้จากกาารขาย 142,619 ล้านบาท เติบโต 26.1% มีกำไรสุทธิ 14,238 ล้านบาท เติบโต 38% ไฮไลต์ของยอดขายและกำไรที่น่าสนใจ เริ่มจาก “เหล้า” ที่ถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท มีทั้งเหล้าขาว เหล้าสี สก็อตช์วิสกี้ วอดก้า ฯลฯ และทำให้มั่งคั่งอย่างยาวนานและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ครึ่งปีแรก เหล้าทำเงินถึง 62,779 ล้านบาท เติบโต 8.9% มีกำไร 10,844 ล้านบาท เติบโต 7.7% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2561
เบียร์ สินค้าที่บริษัทขยายพอร์ตโฟลิโอใหญ่จนเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนแล้วหลังชนะประมูลซื้อหุ้นบริษัทไซ่ง่อน – เบียร์ – แอลกอฮอล์ – เบฟเวอเรจ จอยท์ สต็อก คอร์เปอเรชั่น หรือ “ซาเบโก” ทำให้มีทั้งเบียร์ช้าง ไซ่ง่อนเบียร์ 333 ส่งผลให้ยอดขายรวมมากถึง 63,686 ล้านบาท เติบโต 53.4% มีกำไร 1,496 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 2.2% เพราะมีภาระต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
ส่วนเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หรือนอนแอลกอฮอล์ มีแบรนด์ดังอย่าง ชาเขียวโออิชิ น้ำอัดลมเอส โคล่า น้ำสีเอส เพลย์ น้ำดื่มคริสตัล สามารถสร้างยอดขายรวม 8.602 ล้านบาท เติบโต 4.9% ขาดทุน 366 ล้านบาท ตัวเลขขาดทุนดังกล่าวถือว่าลดลง 35.4% เพราะเทียบกับครึ่งปีแรก 2561 นอนแอลกอฮอล์ขาดทุน 567 ล้านบาท เป็นผลมาจากกำไรขั้นต้น (Gross Profit) เพิ่มขึ้น
อาหาร เป็นกลุ่มธุรกิจที่ไทยเบฟกำลังรุกหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลังซื้อสาขาร้าน “เคเอฟซี” มาแล้ว การเปิดร้านใหม่ในอัตรา “เร่ง” มีให้เห็นเพิ่มขึ้น จะไม่เร่งได้อย่างไร เพราะ “กำไร” กลุ่มธุรกิจอาหารที่เห็นเป็นกอบเป็นกำ โดย “เคเอฟซี” เป็นกุญแจสำคัญอย่างยิ่ง มาดูผลงานครึ่งแรกของกลุ่มอาหารทำรายได้จากการขาย 7,597 ล้านบาท เติบโต 32.1% มีกำไร 307 ล้านบาท ลดลง 17.5% เหตุผลเพราะมีค่าใช้จ่ายจากการเปิดร้านเคเอฟซีจำนวนมาก
รวยแรงเบอร์นี้ มาดูกันว่าสัดส่วนยอดขายสินค้าแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร อันดับ 1 เบียร์ สัดส่วนยอดขาย 44.7% เหล้า 44% เครื่องดื่มนอนแอลกฮอล์ 6% อาหาร 5.3% แต่ถ้ามาดู “กำไร” ต้องร้องโอ้โห! เพราะ “เหล้า” ทำเงินให้ “เจ้าสัวเจริญ” สูงสุด 88.3% เบียร์ 12.2% อาหาร 2.5% เครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ -3%
ไทยเบฟไม่ได้มีธุรกิจอยู่ในประเทศ แต่ปัจจุบันขยายตลาดไปมากกว่า 90 ประเทศทั่วโลกเรียบร้อย และไม่ใช่แค่ส่งสินค้าไปขาย เพราะมีฐานการผลิตอยู่ในบางประเทศ เช่น โรงงานสุราในสกอตแลนด์ 5 แห่ง โรงงานสุราในเมียนมา 2 แห่ง โรงงานสุราในจีน 1 แห่ง และโรงงานเบียร์ในเวียดนามกว่า 20 แห่ง
ยอดขายตลาดต่างประเทศโดยรวมประมาณ 4.07 หมื่นล้านบาท โตเกือบ 100% เพราะรวมรายได้จากการขายของซาเบโกอย่างเป็นทางการ และหากมาดูแค่ยอดขายเบียร์เติบโตทะลุ 140% แต่ถ้าแยกซาเบโกออกมา รายได้กลับลดลง ส่วนกลุ่มเหล้ายอดขายเติบโต 4% หลักๆ มาจากแกรนด์ รอยัล กรุ๊ป (GRG) เบอร์ 1 สุราของเมียนมาที่ไทยเบฟไปซื้อกิจการมา
นี่แค่รายได้และกำไรครึ่งปีเท่านั้น และพอเห็นกำไร ก็ไม่แปลกใจถ้า “เจ้าสัวเจริญ” จะมีดีลใหม่มาเรื่อยๆ ในอนาคต.