“เบบี้บูมเมอร์” ได้เวลาบูม

เด็กเกิดน้อยลง เริ่มส่งผลชัดเจนมากขึ้น ในปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2553 อัตราการเกิดของประชากรทั่วโลกต่ำลง ปีที่ผ่านมาอัตราการเกิดของประชากรไทยเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% อัตราการเกิดต่ำเป็นลำดับที่ 6 ของเอเชีย ทำให้โครงสร้างประชากรศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป Aging Population คนสูงอายุกลายเป็นกลุ่มที่ต้องเมื่อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเป็นกลุ่มก้อนที่มีศักยภาพทางการตลาดสูง

บรรดา Baby Boomers (อายุ 50-64 ปี) ถึงเวลาบูมจริงๆ แล้วใครละจะยอมพลาด???

ในปี 2020 สำนักประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คาดการณ์ว่า ฐานพีระมิดจะแคบลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนบริเวณยอดพีระมิดจะขยายตัวกว้างขึ้น (ดังกราฟฟิค) แสดงให้เห็นว่าประชากรอายุต่ำกว่า 40 มีจำนวนลดลง โดยเติบโตติดลบในทุกกลุ่ม ขณะที่กลุ่มอายุ 50+ เติบโตสูงสุดในปี 2550 มีจำนวนเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งหมด หรือราว 23% ขณะที่กลุ่มอายุ 40-49 ปี มีสัดส่วน 16%

โดยในปี 2020 กลุ่มอายุ 50+ จะกลายเป็นกลุ่มที่มีจำวนมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยสัดส่วนสูงถึง 32% เลยทีเดียว

ขณะที่ข้อมูลจาก CIA The Wolrd Fact Book รายงานว่า คนเราจะมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 73.1 ปี จากการใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมถึงวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่รุดหน้า ขณะที่ข้อมูลจาก ACNielsen Online Consumer Survey บอกว่า กลุ่ม 50+ รู้สึกว่าตัวเองอายุน้อยกว่าอายุจริงราว 10 ปี แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีสุขภาพกายและใจที่ดี กนกกาญจน์ ประจงแสงศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท ไอพีจี มีเดีย แบรนด์ส จำกัด ให้รายละเอียด

พวกเขายังอยู่ในวัยที่ปลดเปลื้องภาระหนี้สินต่างๆ ได้หมดสิ้น และซีเนียร์ยุคใหม่มีการวางแผนการเงินเพื่อสุขภาพตัวเองมาก่อนหน้า ทำให้ในช่วงปลายของชีวิตจึงยังมีกำลังซื้อสูง และมีเวลามากพอเพราะไม่ต้องทำงานหนัก เป็นกลุ่มเป้าหมายที่นักการตลาดจะต้องจับจ้องอย่างจริงจัง แต่การเสนอสินค้าและบริการต้องทำจริงใจ เพราะอย่าลืมว่าบรรดา Golden Age สั่งสมประสบการณ์และความรู้มาตลอดชั่วอายุ การคิดและตัดสินใจเลือกใช้จ่ายในสิ่งใดย่อมคำนึงถึงเหตุผลเป็นสำคัญ

กลุ่ม 50+ ยังเป็นนักช้อปที่ทรงประสิทธิภาพ นีสเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ให้ข้อมูลว่า พวกเขาเป็นกลุ่มนักช้อปหลักของสินค้าจำพวก Grocery ด้วยสัดส่วน 21% และ 70% เป็นผู้หญิง ที่สำคัญ ทุกครั้งเวลาช้อปปิ้งไม่ละเลยที่จะอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง

นอกจากนี้ 79% ของ Baby Boomers บอกว่าเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และ 82% บอกว่าสนใจที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะสื่อดิจิตอลและGadget ต่างๆ ใกล้เคียงกับเยาวชน และ 79% ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ และเชื่อมั่นในคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ 60% เลือกซื้อสินค้าจากคุณภาพมากกว่าราคา

ที่น่าสนใจคือ กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับโฆษณามาก โดย 83% ไม่คิดว่าโฆษณาทำให้พวกเขาเสียเวลา และส่วนใหญ่มากกว่า 80% นิยมแชร์ความคิดเห็นและข้อมูลกับลูกหลานรวมถึงคู่ชีวิต

สินค้าและบริการที่อาจได้รับผลกระทบด้านลบจาก Aging Population คือ อสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากพวกเขาได้ลงทุนในเรื่องนี้ไปแล้ว และอาจปรับตัวไปสู่การสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับซีเนียร์โดยเฉพาะ

จากข้อมูลของนีลเส็น พบว่า มี Ad Spending ในสินค้าและบริการที่เจาะกลุ่มซีเนียร์ในรอบเดือนมกราคม-กันยายน 2552 อยู่ที่ 149 ล้านบาท เติบโต 102% จากช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งมี 70 ล้านบาท และหากพิจารณาในรายอุตสาหกรรมพบว่า ธุรกิจประกันชีวิต โดยเฉพาะจากเมืองไทยประกันชีวิต เอไอเอ ใช้งบเจาะกลุ่มนี้ 67 ล้านบาท (+23%) ธุรกิจบริการด้านสุขภาพใช้ไป 24 ล้านบาท ส่วนสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล เช่น ยาติดฟันปลอม ยาสีฟัน 40+ ฟลูโอคารีล และอื่นๆ ใช้ไป 57 ล้านบาท

อีกหนึ่งในธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์ คือ ธุรกิจท่องเที่ยวสำหรับซีเนียร์โดยเฉพาะพวก Retire Rich ที่นิยมท่องเที่ยวหรูหราและจับจ่ายแบบไม่อั้น รวมถึงเครื่องสำอางระดับไฮเอนด์ที่เน้นประสิทธิภาพของการลดริ้วรอย ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง เช่นเดียวกันก็เป็นโอกาสของสินค้าในกลุ่ม FMCG ที่จะต้องสรรค์หาผลิตภัณฑ์สำหรับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ด้วยการนำเสนอคุณประโยชน์ที่สอดคล้องกับสภาพร่างกายและสุขภาพของคนสูงวัย

นอกจากนี้ เมื่อรับรู้แล้วว่าผู้สูงวัยยินดีที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยี ดังนั้นโอกาสสำหรับสินค้าไอทีต่างๆ ยังคงมี เพียงแต่ต้องนำเสนอรูปแบบที่เหมาะสม ใช้งานง่าย

My Beloved Senior… จึงเป็นเทรนด์สำคัญสำหรับปี 2553 อย่างไม่ต้องสงสัย รีบเกาะเกี่ยวตั้งแต่วันนี้ อย่างน้อยในอีก 10 ปี เมื่อสูงวัยครองเมืองแบบเบ็ดเสร็จจะได้ไม่ช้าเกินไป