“แก่ และตายช้าลง” เป็นConsumer Insight ของผู้บริโภคยุคนี้ ที่หันมาคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น POSITIONING เกาะกระแสและนำเสนอเทรนด์ Healthy มาตั้งแต่ปี 2551 จนก้าวเข้าสู่ ปี 2553 เทรนด์นี้ชัดเจนและร้อนแรงมากยิ่งขึ้น
“ลูกค้าใส่ใจว่าควรกินอะไร ไม่กินอะไร เราจึงต้องสื่อสารผ่านบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจนและให้รายละเอียดมากกว่าเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้เขาเข้าใจง่ายด้วย โดยเราใช้ไอคอนแนะนำสารอาหาร ส่วนผสมต่างๆ เขารู้เยอะขึ้นและให้เวลากับเรื่องนี้มากขึ้น”
นิค ไรท์ไมเออร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายจัดซื้อกลุ่มสินค้าอาหารสด ผัก และผลไม้ สินค้าต่างประเทศ เครื่องดื่มไวน์ และสินค้า Own Brand บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บอกว่าคนไทยดูแลตัวเองมากขึ้น ซึ่งสะท้อนผ่านพฤติกรรมการใส่ใจในฉลากสินค้ามากขึ้น ทำให้เกิดนวัตกรรมอาหารตามมา
ในกรณีของเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ออก Super Thin Bread มีความหนา 8 มม. จากปกติในท้องตลาดมีความหนา 16 มม. สำหรับผู้หญิงที่ต้องการจำกัดปริมาณแป้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ พวกเขายังต้องการเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่พ่อครัวแม่ครัวปรุงอาหาร แม้ Live Kitchen จะไม่ต่างจาก Street Food ที่เป็นรถเข็น ครัวเปิด หั่นผัก สับหมูต่อหน้าต่อตาเรา แต่ครัวเปิดหรือ Microkitchen ของเชนฟาสต์ฟู้ด ร้านอาหารดัง ก็เริ่มตอบรับกระแสนี้กันมากขึ้น เพราะสามารถตอบโจทย์เรื่องความ “สดใหม่” ทำให้ผู้บริโภคเห็นกระบวนการต่างๆ ที่สะท้อนถึงความสะอาดในการปรุงแล้ว ยังให้ความสนุกและเพลิดเพลินแก่ผู้บริโภคในรูปแบบหนึ่งด้วย
“Live Kitchen นอกจากสะท้อนถึง Hygience Issue แล้ว ยังถูกมองเป็น Kitchen Theatre ด้วย ดังนั้นร้านอาหารยุคใหม่จะนำความต้องการเหล่านี้มาใช้ เป็น Execution มากขึ้น ” ริชาร์ต เลซ์ อธิบาย
ไปดูได้ที่ Bapples Donut & Coffee เชนจากมาเลเซียที่สยามเซ็นเตอร์ชั้น 3 ที่เริ่มกระบวนการผลิตโดนัททุกขั้นตอน ตั้งแต่นวดแป้ง ขูดเนย แต่งหน้าโดนัทกันให้เห็นจะจะ เพราะต้องการให้ผู้บริโภคเห็นขั้นตอนในการทำ ซึ่งสะท้อนถึงความสดใหม่และสะอาด รวมถึงการให้พนักงานหยิบโดนัทใส่กล่องให้กับลูกค้าด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยด้วย นำมาซึ่งความไว้วางและใจและเชื่อมั่นในคุณภาพความสะอาดของแบรนด์
ด้านฟาสต์ฟู้ด เคเอฟซีออกเมนูไก่ย่างก็ขายดี เอาใจคนกลัวอ้วน โอ บอง แปง เดินหน้าออกเมนู Trans Fat นั่นแสดงว่าเทรนด์นี้เอื้อประโยชน์ต่อยอดขายโดยตรง
“คนอาจไม่ได้มองหาอะไรที่ Healthy 100% แต่ต้องเป็นเมนูที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้คุณค่าได้ประโยชน์มากกว่าเดิม” เสาวณีย์ นพปราชญ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารองค์ความรู้-วางแผนเชิงกลยุทธ์ โลว์ ประเทศไทย บอก
นอกจากนี้สินค้าออร์แกนิคเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพสูง เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ให้ความสำคัญกับสินค้าออร์แกนิคมาก ถึงกับจัดชั้นสินค้าประเภทนี้โดยเฉพาะ แต่เสาณีย์บอกว่าเทรนด์ออร์แกนิคในไทยยังไม่ชัดมาก กำลังไล่ตามเทรนด์โลกซึ่งก้าวไกลถึงขั้นมีการสั่งซื้อสินค้าออร์แกนิคทางออนไลน์กันแล้ว แต่ต้องมีการให้ความรู้เกี่ยวกับสินค้าออร์แกนิคมากกว่านี้ เพราะคนไทยจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่าออร์แกนิคคืออะไร
แต่อย่างน้อยๆ ผู้บริโภคคนไทยมีพฤติกรรมเลือกซื้อและรับประทานอาหารที่สดใหม่ ไม่ผ่านกระบวนการผลิตที่ทำลายคุณค่าของสารอาหารกันมากขึ้น พวกเขาสามารถแยกแยะได้ว่าน้ำมะนาวจากผลมะนาวกับน้ำมะนาวสังเคราะห์ที่สกัดมาเพียงกลิ่นและรส แตกต่างกันอย่างไร
ขณะที่สินค้าอาหารที่แปะตราฮาลาล การันตีความสะอาดของอาหารนั้นๆ ตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ดังนั้นผู้บริโภคศาสนาอื่นๆ เมื่อเห็นตราฮาลาลก็ย่อมเกิดความไว้วางใจอีกระดับ
ขณะเดียวกัน พวกอาหารเสริมต่างๆ ก็จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เติมคุณค่าทางสาอาหารและวิตามินต่างๆ ลงไป เช่น Squeeze ของทิปโก้ที่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็น Flu Fighter ต้านไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น รวมถึงอาหารเสริมในรูปแบบเม็ดและน้ำได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เช่น นิวทริไลท์ของแอมเวย์ ที่อัดเม็ดเงินกว่า 100 ล้านบาท กระตุ้นตลาดอาหารเสริม จัดงานฉลองครบรอบ 75 ปี นิวทริไลท์ สิ้นปีนี้คาดว่าจะมียอดขาย 4,800 ล้านบาท เติบโต 15% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดรวมอาหารเสริมเมืองไทยมีมูลค่าราว 22,800 ล้านบาท และเติบโตต่อเนื่องทุกปี
นอกจากนี้ แนวโน้มคือคนลดการบริโภคกาแฟลง ทางแก้ของบรรดาผู้ประกอบการกาแฟทั้งหลายคือ ต้องนำเสนอข้อมูลให้ผู้บริโภครับรู้ถึงประโยชน์ของกาแฟมากขึ้นผ่านทาง Key Visual ต่างๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ และการตกแต่งร้าน เป็นต้น
ผู้บริโภคยุคใหม่ แม้จะมีชีวิตแบบไฮสปีด แต่สำหรับเรื่องสุขภาพแล้วพวกลงรายละเอียดและใส่ใจที่จะเรียนรู้แบบทุกเม็ด คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับนักการตลาดแล้วว่าจะหาช่องทางใดบ้างตอบสนองความต้องการที่ชัดเจนนี้ให้โดนใจพวกเขามากที่สุด