ยังคงเป็นสื่อที่รักษาการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2012 สำหรับโฆษณา “สื่อดิจิทัล” ปี 2018 มีมูลค่า 17,000 ล้านบาท เติบโต 36% สูงกว่าคาดการณ์ที่ 28% เรียกว่าทุกอุตสาหกรรมต่างให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าถึงผู้บริโภคสัดส่วนกว่า 80% แนวโน้มปี 2019 ประเมินโฆษณาดิจิทัลยังไปต่อด้วยมูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท
อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กันตาร์ อินไซท์ ประเทศไทย กล่าวว่าสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ร่วมกับ กันตาร์ ประเทศไทย บริษัทวิจัยสำรวจมูลค่าเม็ดเงินลงทุนผ่านสื่อดิจิทัลเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2012
สำหรับเม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัล ปี 2019 คาดการณ์มูลค่าอยู่ที่ 19,629 ล้านบาท หรือเกือบ 20,000 ล้านบาท เติบโต 16% การขยายตัวมาจากจำนวนสมาชิกดิจิทัล เอเยนซี ร่วมรายงานเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น ปีนี้รวม 40 ราย อีกทั้งมีหลายธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและมี “ผู้เล่นใหม่” เข้ามาในตลาด ใช้งบโฆษณาเพิ่มขึ้น ที่โดดเด่น คือ อีคอมเมิร์ซ, เอนเตอร์เทนเมนต์, ระบบขนส่ง
“ยานยนต์” ครองแชมป์
ราชศักดิ์ อัศวศุภชัย กรรมการ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าว่า ปี 2019 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ใช้สื่อดิจิทัลสูงสุด 5 ลำดับแรก ยังคงเป็นกลุ่มเดิม ได้แก่ ยานยนต์ มูลค่า 2,783 ล้านบาท, การสื่อสาร 2,115 ล้านบาท, สกินแคร์ 1,753 ล้านบาท, ธนาคาร 1,396 ล้านบาท และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1,239 ล้านบาท
ปีนี้คาดการณ์ค้าปลีกเติบสูงสุดที่ 47% คิดเป็นเม็ดเงิน 1,029 ล้านบาท จากการแข่งขันของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การใช้กลยุทธ์ออมนิ แชนแนล ผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ตามด้วยธนาคาร คาดเติบโต 29% มูลค่า 1,396 ล้านบาท จากการแข่งขันบริการรูปแบบเดิมทั้งการฝากเงิน กู้เงิน และเซอร์วิสใหม่ๆ ผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม ส่วน สกินแคร์ เติบโต 21% เป็นกลุ่มที่ใช้สื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นทุกปี พบว่าปีนี้แบรนด์ลักชัวรี่ที่ปกติใช้สื่อแมกกาซีน หันมาใช้สื่อดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน
“เฟซบุ๊ก-ยูทูบ-เสิร์ช” กวาดเรียบ 55%
สำหรับดิจิทัล แพลตฟอร์มระดับโลก ที่คาดการณ์ครองเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลสูงสุดในปี 2019 คือ เฟซบุ๊ก มูลค่า 5,558 ล้านบาท สัดส่วน 28% ตามด้วย ยูทูบ มูลค่า 3,364 ล้านบาท สัดส่วน 17%, เสิร์ช มูลค่า 2,010 ล้านบาท สัดส่วน 10% รวม 3 แพลตฟอร์มระดับโลกดังกล่าวรวมครองส่วนแบ่งงบโฆษณาดิจิทัล 55% หรือกว่าครึ่งของตลาด เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มหลักที่แบรนด์ต่างๆ เลือกใช้สื่อสารกับผู้บริโภคตามจุดสัมผัส (Touch points) ต่างๆ บนวิถีของผู้บริโภค (Customer Journey)
ส่วนงานด้านครีเอทีฟ ปีนี้คาดมีมูลค่า 1,829 ล้านบาท กลับมาเติบโตอีกครั้ง จากกลยุทธ์การสร้างสรรค์คอนเทนต์ในสื่อออนไลน์ ที่ต้องนำเสนอเนื้อหาต่างจากสื่อทีวี ที่สำคัญคอนเทนต์ต้องหยุดผู้บริโภคให้ได้ภายใน 3 วินาที ทำให้ปีนี้จะมีการผลิตงานครีเอทีฟสำหรับสื่อออนไลน์ด้วยจำนวนมากขึ้น เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำเสนอคอนเทนต์ที่เหมาะสมตามความสนใจได้แบบรายบุคคล
ขณะที่ ไลน์ เป็นแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ที่เติบโตสูงสุดในปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 1,194 ล้านบาท คาดปีนี้มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1,425 ล้านบาท เนื่องจากมีเซอร์วิสที่หลากหลายในการใช้งานแบบ B2B และ B2C
ปี 61 โตเกินเป้า
พัชรี เพิ่มวงษ์อัศวะ กรรมการ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า เม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัล ปี 2018 งบโฆษณาสื่อดิจิทัลมีมูลค่า 17,000 ล้านบาท เติบโต 36% สูงกว่าที่คาดการณ์เติบโต 28% โดย 5 อุตสาหกรรมที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด คือ ยานยนต์ มูลค่า 2,361 ล้านบาท, การสื่อสาร 1,925 ล้านบาท, สกินแคร์ 1,454 ล้านบาท, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮล์ 1,148 ล้านบาท และธนาคาร 1,080 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล “เติบโต” สูงสุด ปี 2018 คือ อสังหาริมทรัพย์ มูลค่า 585 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 114% ตามด้วยค้าปลีก 701 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 111% ปัจจัยหลักที่ทั้ง 2 อุตสาหกรรมใช้งบโฆษณาเพิ่มขึ้น มาจากสื่อดิจิทัล ตอบโจทย์การเข้าถึงลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายและมีความสนใจซื้อสินค้า พร้อมเสนอเงื่อนไขและแคมเปญได้แบบรายบุคคล
ขณะที่ ศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ให้มุมมองว่า การเติบโตของการโฆษณาสื่อดิจิทัลปีที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านสื่อดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมาจากการที่ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านทางช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ มากขึ้น
ปัจจุบันนักการตลาดเห็นโอกาสในการเรียนรู้ความต้องการและพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคผ่านข้อมูลจากช่องทางดิจิทัลต่างๆ ได้มากขึ้น และนำเอาความรู้นั้นมาใช้ในการปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มยอดขาย ทำให้สื่อดิจิทัลให้ผลตอบแทนคุ้มค่าสำหรับนักการตลาด ทั้งด้านสร้างการรับรู้แบรนด์ ความผูกพันในตราสินค้า และยอดขาย ทำให้โฆษณาสื่อดิจิทัลยังมีแนวโน้มเติบโตต่อในปี 2019.