เพราะแพ้ในสงคราม E-Marketplace “ป้อม – ภาวุธ” เลยพลิกภาพ TARAD.com สู่ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร

ชื่อของป้อมภาวุธ พงษ์วิทยภานุหนึ่งในกูรูด้าน e-Commerce ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง TARAD.com เว็บไซต์ E-Marketplace ขึ้นมาเมื่อปี 1999 ในมุมๆ หนึ่งของออฟฟิศ (ไทยออส อลูมิเนีย)

ธุรกิจค่อยๆ ปั้นขึ้นมาเรื่อยๆ ก่อนในปี 2009 จะไปแตะตาราคุเท็น” (Rakuten) เจ้าพ่อบริการออนไลน์สัญชาติญี่ปุ่น จนนำมาสู่การซื้อหุ้น 67% ของ TARAD.com ด้วยเงิน 114 ล้านบาท (มูลค่าเงินเมื่อ 31 ธันวาคม 2009) การซื้อขายหุ้นครั้งนั้น ภาวุธยืนยันว่า ไม่ได้ขายเว็บไซต์ให้ราคุเท็น ราคุเท็นเพียงแค่มาถือหุ้นหลัก

เป็นธรรมดาของธุรกิจ E-Marketplace ช่วงแรกจะต้องยอมขาดทุน ก่อนพลิกกลับมามีกำไรในภายหลัง โดยคาดว่า TARAD.com น่าจะสามารถทำกำไรได้ในปีที่ 3 เป็นต้นไป แต่ปรากฏว่าในช่วงรอยต่อขึ้นปีที่ 3 นั้น การเข้ามาของ “Lazada” ทำให้เกมทุกอย่างเปลี่ยนไป ภาพที่เคยวางไว้จะมีกำไรต้องพังลง เพราะ Lazada เข้ามาพร้อมเงินทุน

สงคราม E-Marketplace เป็นเรื่องของการแข่งกันดำน้ำ ใครดำได้อึดกว่าคนนั้นจะเป็นผู้จะชนะ คำถามคือใครจะเป็นผู้ชนะ ? แต่ที่แน่ๆ เรายอมรับเลยว่า แพ้ในสงครามครั้งนี้

หลังจากเข้ามาถือหุ้นทั้งหมด 6 ปี ในที่สุดราคุเท็น” (Rakuten) ได้ตั้งสินใจขายหุ้นคืนให้กับภาวุธ ก่อนที่ในปีที่ผ่านมา TARAD.com จะได้ผู้ถือหุ้นรายใหม่ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ 2 เจ้าสัวน้อยแห่งเบียร์ช้างฐาปนปณต สิริวัฒนภักดีได้เข้ามาถือหุ้น 51% ผ่านทีสเปซ ดิจิตอลส่วนภาวุธเหลือหุ้น 49%

และการเข้ามาถือหุ้นในครั้งนี้ได้เข้ามาเปลี่ยนภาพของ TARAD.com ไป แต่ไม่ได้หมายความว่าออกจากวงการนี้ไป เพราะป้อมภาวุธยังมองว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยมูลค่า 3.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 14.04% ประกอบกับมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 45 ล้านคน

ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะยังคงมาแรง ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศหันมาค้าขายผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาวุธได้สรุป Thailand E-Commerce Trend 2019 ได้แก่

1.การแข่งดุของ JSL E-Marketplace ระดับโลกในไทย ทั้ง Shopee – Lazada – JD.com ซึ่งแนวโน้มจะยังแข่งกันดำน้ำต่อไปเรื่อยๆ อีกอย่างน้อย 5 ปี

2.สินค้าจีนจะเริ่มรุกบุกเข้าสู่ตลาดไทยและอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกี่ยวกับกีฬาและสัตว์เลี้ยง ให้สังเกตได้เลยหากสินค้าไหนต้องรออย่างน้อย 2 อาทิตย์ ถูกส่งมาจากจีนแน่ๆ

3.Brand จะโดดเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น เพราะคนหันเข้ามาสู่โลกออนไลน์ เลยจะเริ่มเห็นแบรนด์มาสร้างเว็บไซต์ และเข้าสู่ E-Marketplace

4.Online VS Offline แม้จะเข้าสู่โลกออกไลน์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีหน้าร้านอยู่ แบรนด์เลยจะเอา 2 อย่างนี้มาผสมกัน

5.ผู้ให้บริการ E-Commerce จะมาช่วยธุรกิจ

6.บริการสนับสนุน E-Commerce โตขึ้นอย่างรุนแรงทั้งการขนส่ง หรือระบบชำระเงินต่างๆ

7.ผู้ช่วยขายสินค้าจะมีมากขึ้น (Affiliate Marketing) เช่น เว็บ Cash Back ที่เริ่มเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตัวแทนขายของออนไลน์กำลังเริ่มโต “DropShip”

8.การค้าออนไลน์ระหว่างประเทศเริ่มเติบโต (Cross Border) ปีนี้จะเริ่มเห็นสินค้าขายออกไปต่างประเทศมากขึ้น ผ่าน Amazon eBay และ Alibaba

9.Social Commerce โตอย่างต่อเนื่อง เพราะแพลตฟอร์มเริ่มพัฒนาให้รองรับ เช่น Facebook รองรับการชำระเงิน หรือ Instagram ที่เริ่มซื้อสินค้าได้เลย

10.การตลาดรูปแบบใหม่ จะฉลาดเป็นกรด โดยเฉพาะระบบ Automation ที่จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

เพียงแต่ TARAD.com ต้องเปลี่ยนเป้าหมายเสียใหม่ จากเดิมที่มีฐานสมาชิก 200,000 User ในระบบ 80% เป็น SME ที่เหลือ 20% เป็นลูกค้าองค์กร แต่ปีนี้จะโฟกัสลูกค้าองค์กรให้เพิ่มเป็น 80% เพราะจากเทรนด์ที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นว่าแบรนด์จะกระโดดเข้ามาในโลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มเครื่องสำอาง แฟชั่น และโรงงานที่เดิมรับจ้างผลิต ก็อยากมาขายสินค้าด้วยตัวเอง

จึงเป็นที่มาของการผันตัวจาก E-Marketplace มาเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร (E-Commerce Services)” ผ่านมาเปิดตัวบริการ U-Commerce แพลตฟอร์มบริหารการค้าออนไลน์ทั้งหมดได้ในที่เดียวแบบ One Stop Service โดยบริการนี้จะครอบคลุม 3 ส่วนหลัก ได้แก่

1.Website & E-Commerce จะมีการรับทำเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิรซ์ (E-Commerce) โดยจะสามารถเชื่อมกับ E-Marketplace ชั้นนำของไทย ได้แก่ Lazada และ Shopee เชื่อมกับโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และเชื่อมโยงกับหน้าเว็บไซต์ของร้านค้าเอง

มีระบบชำระเงิน (E-Payment) ทั้งการชำระเงินผ่านทางออนไลน์ บัตรเครดิต เดบิต และออฟไลน์ อย่าง พร้อมเพย์และ QR Code ของ Pay Solutions, ระบบขนส่ง (E-Logistic & Fulfillment) เชื่อมกับระบบขนส่ง มากกว่า 10 บริษัท ผ่านทาง SHIPPOP.com และบริการคลังสินค้าและจัดส่งของ SiamOutlet.com ซึ่งในส่วนของทั้ง Pay Solutions – SHIPPOP.com และ SiamOutlet.com ที่ทางภาวุธมีหุ้นส่วนตัวอยู่ในนี้อยู่แล้ว

2.การโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) ในทุกช่องทาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ภาวุธมีหุ้นแล้วทั้ง Wisesight บริษัทที่ให้บริการข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคหรือสิ่งที่คนให้ความสนใจบนโลกออนไลน์ และ Tellscore แพลตฟอร์มที่รวบรวม Micro Influencers เป็นต้น

3.Service & Operation ไล่มาตั้งแต่ระบบจัดการ E-Marketplac – e-Commerce รวมไปถึงการขนส่งและคลังสินค้า สามารถส่งสินค้ามาไว้ที่คลังและให้จัดการต่อได้

เบื้องต้นสำหรับลูกค้ารายย่อยจะให้บริการฟรี แต่หากมีสินค้าที่วางขายตั้งแต่ 35 SKU จะมีค่าใช้จ่ายหลักพันบาทต่อปี แต่รายได้หลักของจะมาจากการให้บริการลูกค้าองค์กรเป็นหลัก

จุดนี้ภาวุธบอกว่าค่าบริการของ U-Commerce ถูกว่า a-Commerce คู่แข่งโดยตรงเป็นอย่างมาก เพราะ a-Commerce มีต้นทุนที่สูงกว่า มีการจ้างบุคลากรเข้ามาเสริมทีมจำนวนมาก จึงรับแต่งานระดับบน หลักหลายล้านบาทต่อโปรเจกต์ แต่ U-Commerce ใช้ทีมภายในซึ่งขณะนี้มีประมาณ 70 คน ได้วางแผนขยายเพิ่มเป็น 100 คน ต้นทุนจึงถูกกว่า สามารถรับงานขนาดกลางราคาหลักแสนต่อโปรเจกต์ได้

การเปิดบริการใหม่นี้เชื่อว่าจะทำให้ TARAD Group พลิกกลับมาทำกำไรในปีนี้ โดยรายได้เติบโตอย่างน้อย 200% ปีถัดไปเติบโตอีกเท่าตัว ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ต่อไปก็จะสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ภายใน 3-4 ปี แต่ก่อนอื่นต้องทำให้ลูกค้ารู้จัก U-Commerce ก่อน

ท้ายที่สุด ภาวุธยืนยันว่า เว็บไซต์ TARAD.com จะไม่มีการปิดอย่างแน่นอน เพราะถ้าปิดไปแล้วก็จะไม่เหลือ E-Marketplace ที่เป็นสัญชาติไทยไว้ให้คนไทยได้ใช้อีก