ยังคงเดินหน้า Digitization ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “กลุ่มทรู” เพื่อขยายจากผู้ให้บริการ Infrastructure ในกิจการโทรคมนาคมและบรอดคาสติ้ง สู่ “เซอร์วิส” ใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อดึงลูกค้าให้อยู่ใน Ecosystem ทุกบริการของทรู ล่าสุดเป็นคิวของ “แท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” กับเซอร์วิส “เพย์เมนต์” ระบบขนส่ง อีกปัจจัยสำคัญการใช้ชีวิตของคนกรุง
ภัคพงศ์ พัฒนมาศ รองผู้อำนวยการ ธุรกิจโมบายล์ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยจุดแข็งระบบเพย์เมนต์ผ่านแพลตฟอร์ม “ทรูมันนี่ วอลเล็ท” ของทรู ที่พัฒนามากว่า 10 ปี วันนี้มีผู้ใช้บริการกว่า 7 ล้านคน สิ้นปีนี้มีเป้าหมายที่ 10 ล้านคน กระบวนการ Digitization ธุรกิจสู่เซอร์วิสต่างๆ ในยุคดิจิทัล จึงมุ่งใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีอยู่ บริการล่าสุดคือแอปพลิเคชั่น True Ryde (ทรู ไรด์) ระบบรับจ่ายค่าโดยสารแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผ่านแพลตฟอร์ม “ทรูมันนี่ วอลเล็ท” ของคนขับจากแอปทรู ไรด์
สิ้นปีเจาะลูกค้า 10 ล้านคน
หากมองแรงจูงใจการใช้แอป “ทรู ไรด์” ในฝั่งคนขับรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทรูบอกว่ามีฐานลูกค้าที่ใช้ทรูมันนี่ วอลเล็ท สิ้นปีนี้ 10 ล้านคน ที่พร้อมจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด จากมือถือไปยังบัญชีทรูมันนี่ วอลเล็ท ของผู้ขับที่ใช้แอปทรู ไรด์
ดังนั้นเพื่อดึง “แท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์” ดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้แอป ทรูได้จัดแคมเปญจูงใจ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายนนี้ โดยคนขับสมัครลงทะเบียนใช้แอป ทรู ไรด์ ผ่านทรูช้อปทุกสาขา จะได้รับเงินสดเข้าทรูมันนี่ วอลเล็ท 1,000 บาท รับสิทธิ “ยืมใช้สมาร์ทโฟน” ฟรี เมื่อเปิดใช้งานแพ็กเกจทรูมูฟ เอช รายเดือน ซึ่งจะได้ค่าอินเทอร์เน็ตและค่าโทร 3 เท่า จากแพ็กเกจที่เลือก นาน 24 เดือน และหากยังใช้แอปต่อจะได้รับสิทธิ ค่าเน็ตค่าโทร 3 เท่าต่อเนื่อง และทุกการรับชำระค่าโดยสาร จะได้สิทธิทรูพอยท์สูงสุด 1,000 คะแนน
“การให้สิทธิใช้สมาร์ทโฟนฟรี เพื่อดึงคนขับในกลุ่มสูงอายุ 45 ปีขึ้นไป ที่อาจยังไม่มีสมาร์ทโฟนใช้งานเข้าสู่แอป และคนขับที่ต้องการเปลี่ยนสมาร์ทโฟนรุ่นเก่าที่ใช้อยู่”
สำหรับเงินค่าโดยสารที่อยู่ในทรูมันนี่ วอลเล็ท คนขับสามารถนำไปใช้จ่ายได้ปกติ รวมทั้งโอนเงินออกผ่านระบบพร้อมเพย์, บัญชีธนาคาร และบัตรเดบิต ทรูไวท์การ์ด และใช้ทรูพอยท์แลกรับสิทธิและสินค้าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
ในฝั่งของ “ผู้โดยสาร” ที่ใช้ทรูมันนี่ วอลเล็ท 10 ล้านคนในสิ้นปีนี้ จะมีความสะดวกในการจ่ายเงินค่าโดยสารโดยไม่ต้องใช้เงินสด และได้คะแนนจากทรูพอยท์เช่นกัน รวมทั้งเป็นการก้าวสู่ Smart Transportation 4.0 ซึ่งระบบขนส่งสาธารณะถือเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ แต่ละวันมี Transaction กว่า 10 ล้านครั้ง พร้อมทั้งเป็นการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด
ยังไม่ใช่แอปเรียกรถ แต่ต่อยอดได้
การเปิดตัวแอป “ทรู ไรด์” วันนี้เป็นเพียงสเต็ปแรก วางเป้าหมายยอดดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งาน 3 เดือนที่จัดแคมเปญไว้ที่ 30,000 ราย จากจำนวนผู้ขับแท็กซี่ 80,000 ราย และมอเตอร์ไซค์รับจ้างกว่า 80,000 รายในกรุงเทพฯ
แม้ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดระบบขนส่งอยู่ที่แอปเรียกรถ ที่มี “แกร็บ” เป็นเจ้าตลาดและ “เก็ท” (GET) จากอินโดนีเซีย ได้ประกาศตัวสู่ตลาดไทยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่สำหรับ “ทรู ไรด์” วันนี้ ภัคพงศ์ ย้ำว่า “เรายังไม่ใช่แอปเรียกรถ เพราะต้องการเปิดตัวเข้าสู่ตลาด ด้วยจุดแข็งระบบเพย์เมนต์ของกลุ่มทรูก่อน”
หลังจากมีฐานข้อมูลที่เกิดจากการใช้งานของฝั่งคนขับและผู้โดยสารจำนวนมากพอ ขั้นตอนต่อไปคือศึกษาความต้องการของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อพัฒนาเซอร์วิสใหม่ๆ ผ่านแอปทรู ไรด์ ที่จะมีการต่อยอดหลังจากนี้ “แน่นอน” และไม่ปฏิเสธว่าหากมีดีมานด์บริการเรียกรถ ทรู ไรด์ ก็สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นแอปเรียกรถได้เช่นกัน
วันนี้ผู้โดยสารที่ใช้แอปเรียกรถและมีบัญชี ทรูมันนี่ วอลเล็ท ก็สามารถจ่ายเงินให้กับผู้ขับที่ใช้แอปทรู ไรด์ได้เช่นกัน หากไม่ต้องการจ่ายผ่านระบบเพย์เมนต์อื่นๆ
ดึงลูกค้าอยู่ใน Ecosystem ทรู
หากดูบิสสิเนสโมเดลของแอป ทรู ไรด์ จะเห็นได้ว่ายังไม่ใช่บริการที่สร้างรายได้ โดยเป็นเซอร์วิสที่จะดึงทั้งคนขับรถและผู้โดยสารเข้าสู่ Ecosystem ของกลุ่มทรู เพื่อส่งต่อไปใช้เซอร์วิสต่างๆ ทั้งทรูมูฟเอช การซื้อสินค้าในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น รวมทั้งจะใช้เป็นช่องทางทำแคมเปญจากบริการต่างๆ ของทรูหลักจากนี้
เมื่อเรามีฐานข้อมูลที่มากพอ และวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและคนขับได้ว่าต้องการเซอร์วิสด้านใด ก็จะพัฒนาบริการนั้นมาตอบสนอง ที่จะเป็นบิสสิเนสโมเดลที่สร้างรายได้ต่อไป
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเซอร์วิส OTT ที่เข้าสู่ตลาดช่วง 2-3 ปีแรก ไม่มีรายใดสร้างรายได้ เพราะเป็นช่วงการลงทุน จากนั้น Scale up วนเวียนอยู่แบบนี้ ต่อเมื่อมีฐานผู้ใช้งานที่มากพอ จึงพัฒนาบิสสิเนสโมเดลที่สร้างรายได้ ซึ่ง ทรู ไรด์ ก็จะเป็นแบบนี้เช่นกัน
ส่องพฤติกรรมแท็กซี่-พี่วิน
การเปิดตัวแอป True Ryde ของกลุ่มทรู เพื่อดึงผู้ขับรถสาธารณะ ทั้งแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าสู่ Ecosystem ของกลุ่มทรู
ได้มีการสำรวจและศึกษาพฤติกรรมของผู้ขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ที่มีกว่า 80,000 คัน ซึ่งแบ่งเป็น 2 เจนเนอเรชั่น คือ ผู้ขับที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี สัดส่วน 60% กลุ่มนี้ มีพฤติกรรมพร้อมใช้เทคโนโลยี มีการใช้สมาร์ทโฟนอยู่แล้ว มีพฤติกรรมเสพคอนเทนต์ ดูยูทูบ และพบว่าใช้แพ็กเกจมือถือแบบ “รายเดือน” ราคา 499 บาทเป็นส่วนใหญ่ สัดส่วน 70% โดยบอกว่าคุ้มค่ากว่าแพ็กเกจเติมเงิน
กลุ่มแท็กซี่ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี สัดส่วน 40% กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทรู ไรด์ จะดึงเข้ามาใช้งานแอป โดยมีสมาร์ทโฟนให้ใช้ฟรี
ส่วนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี สัดส่วน 80% โดยใช้งานสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว จึงพร้อมใช้เทคโนโลยีต่างๆ
ปัจจุบันพบว่าผู้ขับแท็กซี่จะรับผู้โดยสารวันละ 15 รอบต่อวัน ส่วนมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ที่ 30-40 รอบต่อวัน.