“Tencent Video” แปลงร่างเป็น “WeTV” บุกตลาด Streaming ไทย

จากรายงานของ Hootsuite และ We Are Social เรื่อง Thailand Digital 2019 พบคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง 11 นาที ในจำนวนนี้ใช้เวลา 3 ชั่วโมง 44 นาทีไปกับการดูทีวีทั้งรายการทีวี สตีมมิ่ง และวิดีโอ มากกว่าการใช้โซเชียลมีเดียที่อยู่เพียง 3 ชั่วโมง 11 นาที

ยิ่งไปกว่านั้นจากผลสำรวจพฤติกรรมของการดูคอนเทนต์สตรีมมิ่ง พบ 98% นิยมดูวิดีโอออนไลน์ ตามด้วยการดูทีวี 53% ชี้ให้เห็นว่าการดูวิดีโอออนไลน์กลายเป็นพฤติกรรมปรกติของคนไทยไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป โดยมีปัจจัยเสริมมาจากการพัฒนาของสมาร์ทโฟน และค่าบริการของอินเทอร์เน็ตที่ต่ำลง

ปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เทนเซ็นต์ ซึ่งมีบริการที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีทั้ง Sanook และบริการเพลงอย่าง JOOX ภาพรวมแต่ละเดือนมีผู้ใช้งานกว่า 30-40 ล้านคน ตัดสินใจรุกบริการวิดีโอสตรีมมิ่ง โดยส่วนหนึ่งมาจากผลสำรวจที่จัดทำเมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า นอกจากฟังเพลงใน JOOX ผู้ใช้งาน 60% นิยมดูทีวีออนไลน์ และ 40% ดูหนัง

จนเป็นที่มาของการเปิดตัว “WeTV” ไปเมื่อปลายปี 2018 ถือเป็นการขยายออกนอกเมืองจีนเป็นครั้งแรก เดิมเทนเซ็นต์ให้ความสนใจ 2 ประเทศในอาเซียน คืออินโดนีเซียที่มีประชากรกว่า 200 ล้านคน และไทยมีประชากรราว 66 ล้านคน เป็นประเทศที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่มีกำลังซื้อ จึงเลือกมาที่ไทยก่อน

“WeTV” พัฒนามาจาก “Tencent Video” ที่เปิดตัวครั้งแรกในจีนเมื่อเดือนเมษายนปี 2011 ก่อนใช้เวลา 6-7 ปีไต่ขึ้นมาป็นผู้ให้บริการ Video streaming อันดับ 1 ในประเทศจีน ด้วยยอดผู้ใช้งาน active มากกว่า 500 ล้านคนต่อเดือน และมีจำนวนผู้ใช้ในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 40% มีประเภทสมาชิกมีทั้งแบบ Freemium (ไม่มีค่าสมาชิก) และแบบ VIP (เสียค่าสมาชิก)

ปัจจุบันมียอดผู้สมัครสมาชิกมากกว่า 89 ล้านคน เติบโตขึ้น 58% และมีรายได้จากการสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้น 65% และรายได้จากการโฆษณาเพิ่มขึ้นถึง 21% ในปีที่ผ่านมา

นำ Killer Content มาจาก Tencent Penguin Picture

ไคเซ็น ลี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ เทนเซ็นกรุ๊ป และหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ Tencent Video ระบุว่า ความสำเร็จของ Tencent Video คือการมีสตูดิโอที่ผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเองชื่อ Tencent Penguin Picture เมื่อปี 2015 ซึ่งแต่ละปีสตูดิโอนี้ผลิตคอนเทนต์ทั้งภาพยนต์ ซีรีส์ และรายการวาไรตี้ป้อนปีละ 200 – 300 ตอน

เบื้องต้นคอนเทนต์ที่อยู่ใน WeTV จะนำมาจาก Tencent Video โดยนำ Killer Content เข้ามาก่อน เพราะคนไทยคุ้นเคยกับซีรีส์ของจีนอยู่แล้ว ด้วยมาก่อนซีรีส์เกาหลีและญี่ปุ่น

โดยจะเลือกระดับ Rating S+ เพราะคอนเทนต์ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว จะเป็นการง่ายในการดึงดูดคนดู เช่นสยบฟ้าพิชิตปฐพีซีรีส์จีนแนวแอคชั่นแฟนตาซีปรมาจารลัทธิมารในหมวดการ์ตูนอนิเมะ และตำนานหมิงหลันซีรีส์จีนที่ได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนี้ ระยะแรกจะเป็นซับไตเติลก่อน ส่วนพากย์ไทยจะมีราวเดือนพฤษภาคม

สำหรับคอนเทนต์ไทยเบื้องตันได้ ช่องวัน 31” ในการนำคอนเทนต์ไปเอ็กซ์คลูซีฟรีรัน 30 วันบน WeTV เช่น รายการรู้ไหมใครโสด และ TOP ONE ตัวจริงชิงหนึ่ง ส่วนละครทะเลริษยา, สาวน้อยร้อยล้านวิว และ หีบหลอนซ่อนวิญญาณ นอกจากนี้กำลังคุยกับช่องอื่นๆ อยู่ และยังวางแผนเปิดเว็บในเดือนพฤษภาคมนี้

การดูมีทั้งแบบ Freemium (ไม่มีค่าสมาชิก) และแบบ VIP (มีค่าสมาชิก) สิทธิพิเศษของผู้ใช้ VIP นั้นจะสามารถรับชมคอนเทนต์ได้ก่อนใคร หรือได้ในจำนวนตอนที่มากกว่า และไม่มีโฆษณา โดยค่าสมาชิกมีแบบรายเดือน และรายสามเดือน เริ่มต้นที่ 59 บาทต่อเดือน โดยรายได้ของ WeTV มาจาก 2 ส่วน ค่าโฆษณาและสมาชิก

เป็นน้องใหม่ไม่ได้กดดัน

ถ้าจะถามว่า WeTV มาช้าไปไหม? ท่ามกลางรุ่นพี่ยักษ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว ทั้ง LineTV และ Netflix “กฤตธี มโนลีหกุลกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ตอบคำถามนี้ว่า ไม่ได้มาช้าไป เพราะถึงจะมีผู้อื่นมาก่อนแล้ว แต่ตลาดวิดีโอสตรีนมมิ่งยังถือเป็น Blue Ocean ด้วยผลสำรวจจากเทนเซ็นต์พบ 49% ยังดูคอนเทนต์ในช่องทางที่ผิดกฎหมายอยู่

(ซ้าย) ไคเซ็น ลี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ เทนเซ็นกรุ๊ป – (ขวา) กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด

จึงมีช่องว่างอีกมากให้ WeTV แทรกตัวเข้าไป โดยจุดตัดอยู่ที่ต้องอัดคอนเทนต์ที่มีเฉพาะที่เดียว เพราะสิ่งสำคัญคือต้องแย่งเวลาของผู้ชมกับบริการอื่นๆ ซึ่ง WeTV มี Tencent Penguin Picture รองรับอยู่แล้ว

และวางโพสิชั่นตัวเองเป็นแมส เน้นจับกลุ่มอายุ 24-40 ปี ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ต้อง Educate เพราะมีผู้เล่นรายอื่นทำให้ก่อนแล้ว สิ่งที่ต้องทำจึงหาคอนเทนต์อื่นๆ เข้าไปเติม

ซึ่งการปั้น WeTV จะนำบทเรียนความสำเร็จจากการปั้น JOOX คือต้องมีคอนเทนต์ที่เพียงพอ และ User interface ที่ใช้งานได้ง่าย

ตอนนี้มีคอนเทนต์ประมาณ 100 เรื่องอยู่ใน WeTV และกำลังเติมเข้าไปเรื่อยๆ แม้จะมีคอนเทนต์ที่รอการอัพโหลดจำนวนมากก็ตาม แต่จะไม่โหลดขึ้นไม่ทีเดียว ไม่อย่างนั้นจะไม่มีความสดใหม่ที่ดึงดูดผู้ชมได้

เมื่อเรื่องของคอนเทนต์ไม่มีปัญหา ความท้าทายสุดของน้องใหม่ คือ การสร้างความน่าเชือถือและสร้างแบรนด์ ผ่านมาใช้อินฟลูเอนเซอร์และใช้สื่อในเครือในการโปรโมต และหลังจากเปิดตัวมาราว 4 เดือน ถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยยังไม่ได้ตั้งเป้าว่า เมื่อถึงสิ้นปีจะต้องมีสมาชิกเท่าไหร่