3G…ชัวร์ หรือ มั่วนิ่ม

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด มือถือ 3G น่าจะเป็นหนึ่งใน Big Trend มาแรงที่สุดแห่งปี 2553

แรงขนาดที่ว่าจะเป็น “จุดเปลี่ยน” ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เกิดธุรกิจใหม่ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากความเร็วและแรงของ 3G อีกมากมาย

ด้วยเทคโนโลยี 3G ทำให้การสื่อสารบนมือถือเร็วขึ้นกว่า 10 เท่า การสนทนาผ่านมือถือโดยเห็นหน้าตากันเป็นเรื่องที่ทำได้ ดาวน์โหลดหนังไม่กี่วินาที เข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 7 เมกฯ เข้า Facebook ทวิตเตอร์ ชำระสินค้าบนมือถือได้ตลอดเวลา นี่คือพลังประโยชน์ของ 3G ที่ประเทศไทยไม่อาจปฎิเสธได้ ถึงขั้นมีผลต่อการเพิ่มจีดีพีของประเทศ

ด้วย “พลังอันมหาศาลของ 3G” ทำให้เข้าหา แย่งชิง และขัดแย้ง จนกลายเป็นกระแสแรงของวงการธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ

หลังจากที่ 2 เดือนที่แล้ว คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เตรียมเปิดประมูลให้ใบอนุญาต 3G คลื่นความถี่ 2.1 กิกกะเฮิรตซ์ แต่ผ่าน 2 เดือนกว่า การให้ใบอนุญาตนี้อาจใช้เวลาไปถึงปีหน้า

แต่กลับมี 3G ของ “ทีโอที” เข้ามาเสียบแทน ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ ที่เรียกว่า MVNO ที่นอกจากจะเป็นความหวังให้กับทีโอทีกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ยังเป็น “บิ๊กมูฟ” สื่อสารรายเล็กเจ้าเก่าอย่าง ไออีซี สามารถ ล็อกซเล่ย์ เจมาร์ท ฟื้นคืนชีพ กลับมาแจ้งเกิดในตลาด ชิงเค้ก 3G ตัดหน้า 3 บิ๊กมือถือ ค่ายเอไอเอส ดีแทค และทรู ไปเห็นๆ

จริงหรือที่ ทีโอที ลอยลำขึ้นแท่นเป็นเจ้าตลาดมือถือ 3G โดยมี 5 แบรนด์ที่เปรียบเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ทำหน้าที่หัวหมู่ทะลวงฟัน โดยมี 3 บิ๊กมือถือนั่งมองตาปริบๆ งานนี้ชัวร์หรือมั่วนิ่มกันแน่

ลับ ลวง พราง…3G

โทรศัพท์มือถือยุคที่ 3 หรือ 3G (Third Generation Mobile Phone) กำลังกลายเป็นเรื่องที่เข้าข่าย “ลับ ลวง พราง”

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เตรียมสรุปหลักเกณฑ์เพื่อประมูลคลื่นในย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ คลื่นที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ตกลงให้ใช้เป็นคลื่นความถี่ในระบบมือถือ 3G

แต่ผ่านไปเพียงแค่ 2 เดือน ด้วยเงื่อนไขและความต้องการที่ต่างกัน ทำให้การประมูลใบอนุญาตใช้คลื่น 3G ที่ควรเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ต้องพับเข้ากระเป๋า ต้องเลื่อนออกไปเป็นไตรมาสแรกของปี 2553 หรืออย่างช้าคือไม่มีใครสามารถคาดเดาได้

ผู้ที่มีบทบาทในโครงการ 3G
1.กทช. ออกใบอนุญาตให้เอกชนให้บริการ 3G แต่ไม่สามารถคุมเกมได้ จนต้องชะลอการตัดสินใจออกไป

2.ทรู คอร์ปอเรชั่น เบอร์ 3 ของตลาดมือถือภายใต้แบรนด์ของทรูมูฟ ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์การประมูล และออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนให้มีการแก้ไขโดยเฉพาะการเสนอผลประโยชน์ และสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ เพื่อไม่ให้กิจการของ 3G ถูกต่างชาติครอบงำ

3.เอไอเอส และดีแทค เบอร์ 1 และเบอร์ 2 แสดงจุดยืนรับเงื่อนไขพร้อมประมูลตามเกณฑ์ของ กทช.

4.นักวิชาการที่ออกมาเปิดเผยถึงผลประโยชน์ที่รัฐอาจสูญเสียนับแสนล้านหากยังคงใช้เกณฑ์ของ กทช.

5.นักการเมืองที่ออกมาสะท้อนถึงความขัดแย้งกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล คือ
-“ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี” รมว.กระทรวงไอซีที ที่ออกมาสนับสนุนให้ทีโอทีเร่งเปิดประมูลจัดซื้ออุปกรณ์เครือข่าย 3G มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ทีโอทีบริการได้ทั่วประเทศ

– ครม.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เบรกโครงการของทีโอที และให้กฤษฎีกาตีความถึงอำนาจของ กทช.และการประมูลคลื่น 3G

-กรณ์ จาติกวณิช ในฐานะ รมว.คลัง สั่งให้มีการเจรจาแปรสัญญาสัมปทานระหว่างทีโอที กสท และเอกชน ก่อนที่จะประมูล 3G เพื่อไม่ให้รัฐเสียรายได้

ผลกระทบจาก “ผู้เล่น” เหล่านี้ คือคนไทยยังไม่ได้ใช้ 3G ที่ช่วยให้รับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายเร็วขึ้นอย่างน้อย 10 เท่าจากปัจจุบัน

Timeline

ปี 2551
-9 ก.ย. ครม. มีมติให้ทีโอทีลงทุนเครือข่ายมือถือ 3G

ปี 2552
-28 ก.ย. กทช. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ร่างสรุปข้อสนเทศ (Draft Information Memorandum : IM) การจัดสรรคลื่นความถี่ IMT หรือ 3G and beyond หรือหลักเกณฑ์การประมูล 3G ก่อนประกาศใช้ในการประมูล การประชุมครั้งนี้ปลุกกระแสของ 3G แรงขึ้น เมื่อ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ซีอีโอของกลุ่มทรูฯ จุดประเด็นเรื่องการประมูลแบบโปร่งใสและเท่าเทียม (Level Playing Field) ไม่ควรตัดสินเรื่องผลตอบแทนแก่รัฐเป็นหลัก, ไม่เห็นด้วยกับนอมินีต่างชาติในบริษัทเอกชนไทยที่เข้าประมูลจน 3G กลายเป็นของต่างชาติ

-ทีโอที คัดเลือกบริษัทเอกชน มาเป็น MVNO หรือ Mobile Virtual Network Operator หรือรับเหมาหมายเลขไปทำตลาดให้บริการ 3G ต่อมาสรุปผ่านการพิจารณา 5 บริษัทคือ สามารถ ไอ-โมบาย บริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น บริษัท ล็อกซเล่ย์ บริษัท ไออีซี และบริษัท เอ็ม คอนซัลต์ เอเซีย

-ต้นเดือน ต.ค. ผู้บริหารของทรู ดีแทค และเอไอเอส ต่างชิงพื้นที่สื่อ เพื่อบอกจุดยืนในการประมูล 3G โดยดีแทคและเอไอเอส ยืนยันพร้อมประมูล และรับเงื่อนไขของ กทช.ได้ ต่างจากจุดยืนของผู้บริหารทรูฯ ขณะที่มีนักวิชาการ “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาระบุว่า หลักเกณฑ์การประมูล 3G ทำให้รัฐเสียประโยชน์ 2 แสนล้านบาท

-21 ต.ค. กทช.สรุปราคาประมูลตั้งต้น หรือราคากลาง ความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ สำหรับใบอนุญาตบริการ 3G ที่เอกชนต้องจ่ายคือ จำนวนคลื่น 15 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 5,600 ล้าบาท และจำนวนคลื่น 10 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 4,200 ล้านบาท และกำหนดจะให้ใบอนุญาตเอกชนทั้งหมด 4 ราย และคาดจะเปิดประมูลภายในเดือนธันวาคม 2552

-4 พ.ย. ครม.เศรษฐกิจ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการประมูล 3G และให้หารือข้อกฎหมายกับสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา 2 ประเด็นคือ 1.กทช.มีอำนาจออกใบอนุญาตประมูล 3G ได้หรือไม่ เพราะยังอยู่ระหว่างคัดเลือก กทช.ใหม่ แทนคนเดิมที่หมดวาระและลาออกไป 4 คน 2.การประมูล 3G ต้องทำตามกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนหรือร่วมการงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือไม่ หากเข้าข่ายการลงทุนมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติ

-5 พ.ย. ทีโอที เปิดทดลองบริการ 3G ในงานคอมมาร์ทมี 2 บริการ คือ 1.บริการวิดีโอ คอลล์ หรือการสื่อสารทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียงผ่านมือถือ 3G และ 2.บริการโมบาย บรอดแบนด์ เป็นการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง ด้วยความเร็วการดาวน์โหลด 7.2 เมกะบิต และความเร็วในการอัพโหลด 1.4 เมกะบิต

-“กรณ์ จาติกวณิช” รมว.คลัง เสนอให้ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม แปรสัญญาสัมปทานกับเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ก่อนที่ทั้ง 3 บริษัทจะได้ใบอนุญาตบริการ 3G จาก กทช. เพราะเกรงว่าบริษัทจะโอนย้ายลูกค้าไปใช้เครือข่าย 3G จนสัมปทานเดิมรายได้ลดลง และเสนอให้ทีโอที และ กสทฯ นำรายได้สัมปทานทั้งหมดส่งเข้ารัฐโดยตรง จากเดิมทีโอที และกสทฯนำส่งในรูปแบบกำไร

-6 พ.ย. บอร์ด กสทฯ มีมติให้ กสทฯ หาพันธมิตร รวมถึงต่างชาติ เพื่อเตรียมพร้อมร่วมประมูลบริการ 3G ในย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์

-10 พ.ย. ครม.อภิสิทธิ์ฯ สั่งทีโอที ชะลอการลงทุน 3G ทั่วประเทศ มูลค่าจัดซื้ออุปกรณ์รวม 29,000 ล้านบาท อ้างเหตุผลให้เคลียร์ชัดเจนว่าทีโอทีจะเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายหรือขายปลีกด้วย

-12 พ.ย. กทช.จัดประชาพิจารณ์อีกครั้ง เพื่อรับฟังประเด็นเพิ่มเติมดังนี้

1.การประมูลจะยึดตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ไทยทำกับ WTO หรืออาเซียนหรือไม่

2.ข้อตกลงสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติกี่เปอร์เซ็นต์ และการกำหนดสัดส่วนนอกเหนือจาก 49% ตามที่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการของคนต่างด้าวระบุไว้จะผิดกฎหมายหรือไม่

3.ราคาตั้งต้นประมูลหรือราคากลาง 10 เมกะเฮิรตซ์ที่ 4,200 ล้านบาท และ15 เมกะเฮิรตซ์ ที่ 5,600 ล้านบาท เหมาะสมหรือไม่

4.แผนสำรองกรณีมีผู้เข้าประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต เช่น ถ้ามีรายเดียวก็ให้ไลเซ่นไปเลยไม่ต้องประมูล คิดค่าไลเซ่นตามราคากลาง

5.การกำหนดเงื่อนไขการใช้โครงข่าย และอุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกันรวมถึงข้อบังคับให้แบ่งเครือข่ายสำหรับให้บริการ MVNO (Mobile Virture Network Operator)

6.ควรกำหนดเงื่อนไขด้วยหรือไม่ว่าผู้รับใบอนุญาตต้องเป็นเจ้าของโครงข่ายกี่เปอร์เซ็นต์

7.การแบ่งชำระเงินค่าใบอนุญาต เช่น จ่ายครั้งเดียว 50% ที่เหลือแบ่งจ่ายเป็น 6 หรือ 12 งวด

-17 พ.ย. ครม.ยืนยันมติของวันที่ 10 พ.ย. ให้ทีโอทีชะลอลงทุน 3G

-19 พ.ย. ทีโอที เปิดให้พนักงานรับซิม 3G ฟรี

-23 พ.ย. วุฒิสภาโหวตเลือก กทช.ใหม่ 4 คนคือ 1.นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร 2.พ.อ.นที ศุกลรัตน์ 3.นายธรรมนูญ จุลมณีโชติ 4.นายบัณฑูล สุภัควณิช แทน กทช.ที่หมดวาระตามการจับฉลากออก 3 คน และลาออกเอง 1 คน

-25 พ.ย. บอร์ด กทช.ชุดเดิมมีมติให้รอบอร์ดชุดใหม่เข้ามาพิจารณาเรื่องการประมูล 3G โดยคาดหวังกันว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ และเปิดประมูลได้ในไตรมาสแรกของปี 2553

-3 ธ.ค. ทีโอที เปิดให้บริการ 3G อย่างเป็นทางการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดย MVNO 5 บริษัท