“ไอ-โมบาย” รีเทิร์น

“i-mobile 3GX” คือ Information หรือ Intelligence, Mobile คือโทรศัพท์มือถือ และ X คือ Extraordinary หรือ Express แบรนด์บริการโทรศัพท์มือถือ 3G ของบริษัทสามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ที่พี่น้อง ”วิไลลักษณ์” บอกว่านี่คือโอกาสสำคัญที่ทำให้สามารถฯ ได้กลับเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถืออีกครั้ง และยังเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายที่มีเทคโนโลยีล้ำกว่าคนอื่นด้วยความเร็วของเทคโนโลยี 3G

สำหรับไอ-โมบายแล้วไม่มีทางเลือกมากนักในสถานการณ์นี้ นอกจากการเป็น MVNO หรือ Mobile Virtual Network Operator เหมาเลขหมายโทรศัพท์มือถือ และเช่าใช้เครือข่าย 3G เพื่อทำตลาดจากบริษัททีโอที จำกัด แม้จะรู้สึกไม่แน่ใจนักกับคุณภาพของเครือข่ายและอนาคตการลงทุนของทีโอทีว่าจะได้ลงทุน 3G ทั่วประเทศหรือไม่ เพราะสำหรับ ”วัฒน์ชัย และ ธนานันท์” 2 พี่น้องตระกูลวิไลลักษณ์แล้วนี่คือการลงทุนที่ปลอดภัยที่สุด เพราะไม่มีต้นทุนกับการสร้างเครือข่ายนับหมื่นล้านบาท เพราะพวกเขาเคยได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดกับการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือภายใต้แบรนด์ ”ฮัลโหล” เมื่อหลายปีก่อน จนต้องขายกิจการทิ้ง เนื่องจากไม่ขอสู้กับเม็ดเงินมหาศาลที่ต้องลงทุนวางเครือข่ายเพื่อแข่งกับยักษ์ใหญ่อที่อยู่ในตลาดได้

“กลับมาครั้งนี้ เรามีบทเรียนจากครั้งที่แล้ว อะไรที่เราไม่แน่ใจเราก็ไม่ไปลงทุนเอง และเรายังมีจุดแข็งอื่นเพิ่มขึ้น ในช่วง 4 ปีหลังจากการทำตลาดแบรนด์มือถือ i-mobile คือเฮาส์แบรนด์มือถือที่คนไทยรู้จัก การมีช่องทางการจัดจำหน่าย และจุดแข็งด้านการสร้างแอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์ที่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายในการใช้เครือข่าย 3G ได้มากขึ้น” “วัฒน์ชัย” หวังด้วยว่าการคว้าโอกาสครั้งนี้จะทำให้ไอ-โมบายมีรายได้จากธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับ 3G อย่างน้อย 10% ของรายได้ทั้งหมดในปีหน้า ซึ่งมาจากทั้งเครื่องมือถือ 3G และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่าง Dongle อีกประมาณ 20-30% โดยมีจำนวนลูกค้าที่ใช้ 3G ประมาณ 2 แสนเลขหมาย

“วัฒน์ชัย” มั่นใจว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดในมือถือ 3G 40% จากผู้ให้บริการ MVNO ด้วยกันทั้งหมด 5 ราย โดยในเดือนแรกสามารถจำหน่ายซิมได้หมด 20,000 เลขหมายจากที่ได้รับจากทีโอที

การเปิดตัวบริการของ ”ไอ-โมบาย” เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ก่อนหน้าวันที่ทีโอทีจะเปิดตัวบริการ 3G อย่างเป็นทางการ “ไอ-โมบาย” ยังแสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์รุกธุรกิจใหม่นี้ด้วยการหาพันธมิตรรอบตัว เพื่อช่วยให้ธุรกิจเกิดได้

ธนาคารกสิกรไทย หรือเคแบงก์ โดดเข้าร่วมวงกับไอ-โมบายทันที ด้วยการร่วมทำแพ็กเกจให้บริการผ่อนเครื่อง ทั้งมือถือ 3G และเน็ตบุ๊ก ”เอเซอร์” ที่ไอ-โมบายเสนอขายพร้อมซิมให้กับลูกค้าที่ต้องการใช้เน็ตผ่าน 3G นอกจากนี้ยังมีมือแบรนด์อื่นๆ เช่น เอชทีซี โซนี่ อิริคสัน แอลจี โนเกีย ที่ ”วัฒน์ชัย” บอกว่ากลยุทธ์นี้คือการเสนอทางเลือกให้กลุ่มเป้าหมาย และอำนวยความสะดวกมากขึ้น เพราะ ”ไอ-โมบาย” มีบทบาทใหม่ในการเป็นผู้ให้บริการ ไม่ได้ขายเครื่องเพียงอย่างเดียว

นอกเหนือจากนี้อีกหนึ่งอาวุธสำคัญคือการสร้างคอนเทนต์ ที่ ”ธนานันท์” บอกว่า ไอ-โมบาย ได้ตั้งบริษัทลูกชื่อ ”เบรนซอร์ส” เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถือไอ-โมบาย

“Push Social Network Service” คือตัวอย่างของแอพพลิเคชั่นล่าสุด เป็นบริการเตือนเช่นเดียวกับ Push e Mail แต่บริการนี้จะเตือนมีเครือข่ายโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คที่คุณสมัครไว้ ไม่ว่าจะเป็น Twitter หรือ Facebook มีความเคลื่อนไหว หรือคนที่คุณตามใน Twitter อัพเดตข้อมูล บริการเตือนนี้จะปรากฏบนหน้าจอทันที

นี่คือความพยายามของไอ-โมบาย 3G ในการนำเสนอแอพฯ ที่เกาะติดไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ที่กำลังเข้าสู่โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คกันอย่างคึกคัก นอกเหนือจากคอนเทนต์พื้นฐานที่เตรียมบริการอยู่แล้ว ตั้งแต่เพลง หมอดู ไปจนถึงคอนเทนต์กีฬาที่ลูกค้า 3G ของไอ-โมบาย จะสามารถดูรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาไทยพรีเมียร์ลีกได้

กลยุทธ์การทำตลาดเพื่อสื่อสารถึงลูกค้าได้เตรียมงบประมาณ 40 ล้านบาทใช้ 3 เดือน โดยเน้นกิจกรรม Below the line โดยไม่มีทีวีซี เพราะแม้ 3G จะเป็นเทคโนโลยีที่คนไทยได้ยินมานาน แต่ตลาดก็ยังต้องการคำแนะนำในการใช้บริการในรูปแบบแสดงและให้ทดสอบได้ประสบการณ์การใช้งาน เพราะขณะนี้ 3G ยังไม่ถึงเวลาของ Mass

“วัฒน์ชัย” บอกว่า โมเดลธุรกิจ MVNO คือโอกาสสำหรับเอกชนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดโทรศัพท์มือถือ แม้ไอ-โมบายจะเป็นผู้เสนอโมเดลให้กับทีโอทีจนเกิด MVNO แล้วอย่างน้อย 5 ราย และ i-mobile 3G X เริ่มต้นและพร้อมกว่าคนอื่น แต่ ณ วันนี้กับเครือข่ายที่ยังไม่วางทั่วประเทศ 3G สำหรับไอ-โมบายจึงยังเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น