“ดีแทค” ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเบอร์ 2 ของตลาด ตั้งความหวังมานานกว่า 1 ปีกับ “3G” เพราะความเชื่อมั่นที่ “ทอเร่ จอห์นเซ่น” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทค เคยบอกไว้ตั้งแต่รับตำแหน่งใหม่ๆ เมื่อปีที่แล้ว ว่า 3G คือการเริ่มต้นพร้อมๆ กันของเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ซึ่งอาจเป็นได้ว่า 3G จะทำให้ดีแทคมีส่วนแบ่งตลาดขยับเข้าใกล้กับเบอร์ 1 อย่างเอไอเอสได้มากขึ้น หรืออาจถึงขั้นพลิกให้ดีแทคเป็นผู้นำตลาดได้ในที่สุด
ดีแทคตั้งทีมงานเพื่อ “3G” โดยเฉพาะมาตั้งแต่ต้นปี 2552 โดยมี “รัว วิค แอนเดรสเซน” ในฐานะรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ ที่ส่งตรงจากเทเลนอร์เป็นหัวหน้าทีม และมีทีมงานร่วมโปรเจกต์รวม 10 คน ร่วมด้วย “แอนดรูว์ แม็คบีน” ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ โปรแกรม แมเนเจอร์ “ทินกร เทียนประทุม” ผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ รับผิดชอบการพัฒนาโปรดักส์ จี และ “กษิดิศ กลศาสตร์เสนี” ผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ ดูแลการตลาด 3G
“แอนเดรสเซน” เข้าใจดีเกี่ยวกับกฎระเบียบและความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโทรคมนาคมของไทย เขาจึงตั้งรับได้อย่างดี เมื่อ 3G ผิดจากแผนที่เขาคาดไว้ว่าน่าจะประมูลได้ใบอนุญาตในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และจนถึงขณะนี้เขาและทีมงานหวังว่าจะเลื่อนไปอย่างช้าสุดคือไตรมาสแรกของปีหน้า
แต่เวลาที่ผ่านมา ไม่ได้เสียเปล่า หลังจากที่ดีแทคเปิดทดสอบบริการ 3G ที่เน้นการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านโน้ตบุ๊ก ในแผน Revolution เมื่อหลายเดือนก่อน ดีแทคได้รู้จักลูกค้าตัวจริงของบริการ 3G มากขึ้น ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงเมื่อมีการทำตลาดหลังประมูลใบอนุญาตได้แล้วก็น้อยลงไปด้วย
เทรนด์ที่มาแรงในเวลานี้ คือ โซเชี่ยลมีเดีย โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค และความต้องการเข้าถึงเครือข่ายเหล่านี้มีมาก ซึ่งจากการสำรวจของดีแทคในกลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า 50% ของผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ต ออนไลน์ถึงกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่บริการที่มีอยู่ตอบสนองไม่ได้เต็มที่ คือมีคนใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ถึง 16 ล้านคนในไทย แต่ใช้ผ่านบรอดแบนด์ ซึ่งเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพียง 2 ล้านคนเท่านั้น โดยมีพีซีอยู่ 10 ล้านเครื่อง และมือถือประมาณ 65 ล้านเลขหมาย หากมี 3G เกิดขึ้น จะสามารถตอบสนองผู้ใช้บริการได้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่สายของบรอดแบนด์ไปไม่ถึง
ตามเงื่อนไขของการประมูลรับใบอนุญาตแล้ว เอกชนต้องติดตั้งเครือข่ายให้ครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ หรือ 35 จังหวัดใน 2 ปี และ 80% ภายใน 4 ปี
“กษิดิษ” บอกว่าระหว่างนี้ทีม 3G ของดีแทคได้เชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย 3G ของดีแทคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่ม Teen ที่เป็นกลุ่มพร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยช่องทางออนไลน์ คือ Facebook ที่ขณะนี้มีเพื่อนอยู่ประมาณ 2 พันคน หลังจากเปิดมาได้ประมาณ 1 เดือน มี Twitter ผู้ตามอยู่ 1,300 คน และการสร้างคอมมูนิตี้ 3G ดีแทค ผ่าน www.onlineyourway.com ที่มีสมาชิกเข้ามาทุกวัน 500-600 คน จากที่มีผู้ลงทะเบียนไว้นับพันคน รวมไปถึงเว็บคอนเทนต์อย่าง startpage.in.th เว็บคอนเทนต์ข่าวสาร โดยมีทีมของ 3Gดีแทคดูแลรับผิดชอบ ร่วมกับบริษัทลูก คือบริษัทครีเอ้
ดีแทคยังคงย้ำ Positioning ของบริการ 3G ภายใต้แบรนด์ดีแทคว่าเป็น “โมบายอินเทอร์เน็ต” มาตั้งแต่เปิดทดลองใช้บริการ เพียงแต่ว่าหลังเรียนรู้ตลาดจากการเปิดทดลองในกลุ่มเริ่มต้นจำนวน 2,000 คนแล้ว ดีแทคต้องปรับแผนมาเน้นการใช้โมบายอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ทั้งจอเล็กและจอใหญ่ จากที่คิดว่าจะให้น้ำหนักตลาดโมบายอินเทอร์เน็ตในกลุ่มโน้ตบุ๊ก มากกว่าจอเล็กอย่างมือถือ เพราะจอเล็กในเวลานี้มาแรง ด้วยกระแสของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค และนี่คือเหตุผลที่ดีแทคเริ่มปรับกลยุทธ์ล่าสุดในการจำหน่าย “แบล็คเบอร์รี่” และอีกไม่นานจะมีอุปกรณ์สื่อสารอื่นตามมา
แม้ความไม่แน่นอนในการประมูลใบอนุญาตให้บริการ 3G จะแน่ชัดมากกว่าความแน่นอน ซึ่งการประมูลอาจเกิดได้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2553 หรืออาจยืดเยื้อไปจนข้ามไปถึงปลายปี และโลกอาจเปลี่ยนแปลงไปมากจนต้องปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมอีกหลายรอบ แต่ดูเหมือนว่า “ดรีมทีม” ชุดนี้ของดีแทคก็ยังไม่ท้อถอย ด้วยความเชื่อมั่นว่า 3G คือสิ่งจำเป็น และผู้บริโภคคนไทยต้องการ อย่างที่ “แอนเดรสเซน” บอกว่า 3G เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางปฎิเสธได้ เพราะไม่ใช่หมายถึงธุรกิจเอกชนได้ผลตอบแทน แต่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือผลประโยชน์โดยรวมที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย