ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา “ทรูมูฟ” เป็นโอเปอเรเตอร์มือถือเพียงรายเดียว ที่ออกโรงกระทุ้งเรื่องเงื่อนไข และกฎเกณฑ์การประมูลใบอนุญาติ 3G จนดูเหมือนว่า ทรูจะไม่รีบร้อนนักกับบริการ 3G แต่ก็ตั้งทีมเฉพาะกิจ รับมือกับ 3G รองรับกับโมเดลธุรกิจคอนเวอร์เจนซ์
“ทุกวันนี้ยังมีหลายคนมาถามผมเลยว่า 3G คืออะไร หลายคนเข้าใจว่าเป็นโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน” เสียงสะท้อนจากศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ ทรู คอร์ปอเรชั่น บนเวทีสัมมนา เกี่ยวกับเทรนด์ใหม่ในปีหน้า เขาเห็นด้วยกับ การมาของ 3G ที่จะสร้างเพิ่มความสะดวกในการสื่อสารข้อมูลได้ตลอดเวลา เกิดบริการ และธุรกิจใหม่ๆ ตามมาอีกมากมาย
ก่อนหน้านี้ ศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ เรียกร้องการออกกฎเกณฑ์การประมูลที่เป็นธรรมและโปร่งใส จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) หน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้เอกชนในการให้บริการ 3G มีหลายเรื่องที่ทรูยังเป็นกังวล ทั้งเรื่องคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยที่อาจตกไปอยู่ในมือของบริษัทข้ามชาติ และเงื่อนไขของการเก็บค่าใบอนุญาต 3G ที่ไม่ควรคำนึงถึงเรื่องของ “ราคา” สูงเพียงอย่างเดียว แต่ควรดูความเหมาะสมของประเทศ
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทรูยืนยันเสมอว่า “พร้อม” สำหรับการลงทุน 3G เพราะอย่างไรเสีย 3G ก็ต้องเกิดขึ้น ซึ่งค่ายซีพีที่เป็นบริษัทแม่ก็พร้อมจะอัดฉีดเม็ดเงินลงทุน
แม้จะดูเหมือนว่า ทรูยังไม่ออกแรงกับบริการ 3G มากนัก เมื่อเทียบกับอีก 2 ค่าย แต่ในทางปฏิบัติ “ทรูมูฟ” เปิดทดสอบบริการ 3G ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาที่กรุงเทพฯ และเพิ่งเปิดทดสอบที่หัวหินเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเรียนรู้เทคนิค ศึกษาความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และวิธีการทำตลาด
เป็นที่รู้กันดีว่า สถานะทางการเงิน และจำนวนลูกค้าของ ”ทรูมูฟ” ยังเป็นรอง เบอร์ 1 และเบอร์ 2 ในตลาดอย่างเอไอเอสและดีแทค การมีบริการใหม่ ที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ก็ป็นความหวังใหม่สำหรับ ”ทรูมูฟ” เพราะต้องไม่ลืมว่า ทรู เป็นตัวแทนขาย “ไอโฟน” เพียงรายเดียวในไทย และยังมีกลยุทธ์ Convergence เป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะกับเครือข่าย 3G
การติดตามความคืบหน้าแผนธุรกิจของ 3G กับทีมงานเฉพาะกิจ จึงเป็นอีกภารกิจที่ “ศุภชัย” ต้องทำสม่ำเสมอในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งในทีมประกอบด้วยผู้ที่อยู่ในส่วนงานต่างๆ ของทรูมูฟ นำโดย ”พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์” ผู้อำนวยการสายงานบริการมัลติมีเดีย
แผนธุรกิจเบื้องต้นของทรูมูฟสำหรับ 3G คือการวาง Positioning เป็น Hi-speed Mobile Internet โดยเน้นจุดขายที่คอนเทนต์ และแอพพลิเคชั่น โดยใช้กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน รวมไปถึงสิทธิ์ในการเป็นผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนอย่างไอโฟน ที่ทรูมูฟสามารถทำแผนการตลาดสำหรับ “ไอโฟนรุ่น 3G” ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งไอโฟนจะทำให้โอกาสของ 3G ทรูมูฟมีจุดขายมากยิ่งขึ้น
บริการด้านคอนเทนต์ ทรูมูฟจะนำเสนอทั้งรายการด้านบันเทิงและข่าวสาร ที่ผู้ใช้ 3G ของทรูมูฟสามารถดูทีวี ดึงวิดีโอ ด้านแอพพลิเคชั่นทรูมูฟประกาศได้นำร่องไปแล้วด้วยแอพฯ QR Code หรือ 2D (Dimension) ซึ่งเป็นการสแกนบาร์โค้ดของแบรนด์ หรือสินค้าต่างๆ แล้วสามารถลิงค์เข้าสู่เว็บไซต์ของแบรนด์นั้นๆ ได้ทันที รวมไปถึงแอพฯ อีกมากมายที่ทรูได้เตรียมพร้อมในการพัฒนาแอพฯ ด้วยหน่วยงาน “ทรูฯแอพฯสโตร์” ที่สามารถสร้างเวทีให้นักพัฒนาแอพฯ ในวงการ Geek ให้มาให้ความสนใจและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ มาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา
สิ่งที่จะเป็นจุดแข็งของทรูมูฟ คือการนำโมเดลคอนเวอร์เจนซ์มาให้ ทำให้บริการ 3G ดึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ด้วยการทำแพ็กเกจร่วมของบริการในเครือ เช่น การทำแพ็กเกจใช้มือถือ 3G กับการดูทีวีของทรูวิชั่นส์ เคเบิลทีวี แพ็กเกจร่วมกับไฮสปีดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทางสาย ที่ลูกค้าสามารถใช้ได้ทั้งบรอดแบนด์และ 3G
โอกาส 3G ของทรูมูฟ อยู่ที่ 2 ล้านเลขหมาย ที่ปัจจุบันเป็นผู้ใช้บริการจีพีอาร์เอส จากฐานลูกค้าทั้งหมด 14 ล้านเลขหมาย
แม้ว่าการต่อสู้ของทรูมูฟเพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในธุรกิจ 3G นั้นยังไม่จบ และไม่รู้ว่าปลายทางจะจบที่จุดใด ในมุมอื่นๆ ทรูมูฟจึงไม่อาจนิ่งเฉย ต้องเตรียมพร้อมทุกด้าน ให้ทุกอาวุธแข็งแรง เพื่อที่ว่าเมื่อโอกาส 3G มาถึง ทรูมูฟอาจพลิกฟื้นขึ้นได้