เก็บภาษีไม่สำเร็จ! กสทช.ชงเก็บเงิน “โอทีที” ค่าใช้โครงข่าย เสนอที่ประชุมอาเซียน ส.ค. นี้

ความพยายามของ กสทช. ล่าสุด กับแนวทางจัดเก็บรายได้จาก “โอทีที” ผู้ให้บริการดิจิทัล แพลตฟอร์มที่กำลังเติบโตในตลาดไทย โดยคำนวณจากปริมาณทราฟฟิกที่ใช้งาน เนื่องจากเป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศไทย ที่ต้องใช้งบประมาณลงทุนสูง หลังจากก่อนหน้านี้มีแนวคิดจัดเก็บภาษีแต่ไม่สำเร็จ

แนวทางดังกล่าวถูกนำเสนอโดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ที่ได้กล่าวไว้ในงาน “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยมองว่าเมื่อ 5G เกิดขึ้นในประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการใช้งานดาต้าเพิ่มมากขึ้นถึงประมาณ 40 เท่าของการใช้งานในระบบ 3G และ 4G ซึ่งปี 2561 การใช้งานดาต้าเฉลี่ยประมาณ 6 ล้านเทราไบต์ต่อปี จึงเป็นความท้าทายของ “รัฐ” ที่จะดำเนินการอย่างไร ในการจัดเก็บเงินรายได้จากการใช้งานดังกล่าว

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

เลขาธิการ กสทช. จึงเสนอหลักการว่า “หากรัฐจะจัดเก็บเงินรายได้จากการใช้งานปริมาณทราฟฟิกที่นำเข้ามาใช้งาน เพราะถือว่าเป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งต้องมีการพัฒนาและบำรุงรักษาอยู่ตลอดเวลา”

โดยเป็นการจัดเก็บรายได้จากธุรกิจที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตบนโครงข่ายโทรคมนาคม (Over The Top หรือ OTT) เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ ไลน์ รวมทั้งดิจิทัล แพลตฟอร์มต่างๆ ที่ให้บริการจากต่างประเทศ

หลักการดังกล่าวคือ กสทช. จะให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศจัดทำรายละเอียดของการใช้งาน ทราฟฟิกที่นำเข้าจากต่างประเทศว่ามีปริมาณหรือจำนวนเท่าใด

โดย สำนักงาน กสทช. จะยกร่างหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการใช้งานทราฟฟิกที่นำมาใช้งานในประเทศ ในระดับใดหรือจำนวนเท่าใดที่จะใช้งานได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน ขนาดหรือจำนวนเท่าใดถึงจะกำหนดว่าเป็นประเภทธุรกิจ

ในกรณีที่เป็นธุรกิจที่จะต้องกำหนดต่อไปว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ กสทช. จะกำหนดให้ผู้ที่นำเข้าทราฟฟิกในปริมาณมากจะต้องมาจ่ายค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ แต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน แต่ในทางตรงกันข้ามจะส่งผลดีต่อรายได้ของประเทศในภาพรวมต่อไป

ภาพจาก pixabay

ย้ำไม่จัดเก็บจากประชาชนใช้งานปกติ

เลขาธิการ กสทช. ได้ทวิตข้อความผ่านบัญชี @TakornNBTC แจงแนวคิดการจัดเก็บรายได้โอทีทีเพิ่มเติม โดยย้ำว่า “ไม่ได้” จัดเก็บจากประชาชนผู้ใช้บริการที่ยังสามารถใช้งานเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ และดิจิทัล แพลตฟอร์มอื่นๆ ได้ปกติ

แนวคิดการจัดเก็บรายได้โอทีทีต่างประเทศ จากเข้ามาใช้ทราฟฟิกในประเทศไทย เตรียมเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนทางด้านโทรคมนาคม หากแนวคิดดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมอาเซียน จะต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน และฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ประการโทรคมนาคมและผู้ให้บริการโอทีทีก่อนที่จะนำไปใช้

ทั้งนี้ แนวคิดเรื่องการจัดเก็บรายได้จากผู้ให้บริการโอทีที เป็นข้อหารือในหลายๆ ประเทศมาไม่น้อยกว่า 2-3 ปีแล้ว สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนเองได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวด้วย

เนื่องจากผู้ให้บริการโอทีที ได้ให้บริการโดยใช้โครงข่ายพื้นฐานโทรคมนาคมของแต่ละประเทศจำนวนมาก แต่ไม่มีการเสียภาษีเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ และปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคมที่ต้องมีการสร้าง และมีการปรับปรุง บำรุงรักษาอยู่ทุกปี

จัดเก็บภาษีไม่สำเร็จ

ที่ผ่านมาหลายประเทศมีแนวทางที่จะจัดเก็บ “ภาษี” จากผู้ประกอบการโอทีที รวมทั้งประเทศไทย ที่ 2 ปีก่อนด้มีความพยายามเช่นกัน โดยเสนอให้โอทีทีลงทะเบียนในประเทศไทย แต่ก็ไม่สามารถบังคับโอทีทีให้เข้ามาลงทะเบียนในประเทศไทยได้ นอกจากนี้หลายประเทศในอาเซียนก็ได้มีความพยายามให้โอทีทีไปลงทะเบียนในประเทศของตนเช่นกัน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

แนวทางการจัดเก็บค่าบริการจากการใช้ทราฟฟิกของผู้ให้บริการโอทีที ยังเป็นเพียงแค่แนวคิดยังไม่ได้ข้อสรุป และมีผลบังคับใช้แต่อย่างใด

หากที่ประชุมอาเซียนให้ความเห็นชอบ สำนักงาน กสทช. จึงจะทำการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อให้ได้แนวทางดีที่สุด