สปีดแรง ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ธุรกิจเกิด

3G ทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยนแปลง และจะนำมาซึ่งธุรกิจใหม่ นี่คือเหตุผลที่จุดประกายให้ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ธุรกิจแบบซีเรียส และธุรกิจบันเทิง ต่างเร่งชิงพื้นที่ทำเลทองที่จะเกิดขึ้น เมื่อสปีดของการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายเร็วขึ้น

เอไอเอส คือตัวอย่างของผู้เล่นรายใหญ่ ที่กำลังโดดเข้ามาสู่อุตสาหกรรมโฆษณาบนมือถืออย่างเต็มตัว โดย “ปรัธนา ลีลพนัง” ผู้อำนวยการสำนักการตลาดบริการเสริม เอไอเอส บอกว่า ผลกระทบของ 3G ในด้านไลฟ์สไตล์ของคนคือ 1.ทำให้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คเติบโตมากขึ้น เพราะ 3G เปลี่ยนวิธีการเข้าถึงโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค จากเดิมที่เข้าผ่านคอมพิวเตอร์ มาเป็นโทรศัพท์มือถือ ทำให้เกิดการเข้าถึงเครือข่ายสังคมเร็ว และกว้างขวางขึ้น 2.ความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และได้ข้อมูลมากขึ้น ด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลกว่าเดิม ทำให้คนใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการใช้งานมากขึ้นถึง 4 เท่าจากปัจจุบัน

ผลกระทบในด้านธุรกิจคือ 1.จะทำให้ธุรกิจด้านคอนเทนต์เติบโต มีการดาวน์โหลดฟังเพลงมากขึ้น การดูข้อมูลมากขึ้น การบอกตำแหน่งของสถานที่ หรือระบุตำแหน่งของกลุ่มเป้าหมาย บริการด้านความบันเทิง และส่งภาพวิดีโอมากขึ้น และ 2.โทรศัพท์มือถือและออนไลน์จะกลายเป็นธุรกิจมีเดียที่เติบโต

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ล่าสุดเอไอเอสไม่ลังเลที่จะประกาศรุกธุรกิจ ”โมบาย มีเดีย” โดยเข้ามามีส่วนร่วมกับวงการโฆษณา เพื่อทำให้การใช้มือถือเป็นสื่อโฆษณาสะดวกและครบวงจรมากขึ้น เพราะในปี 2009 ที่แม้จะยังไม่มี 3G เกิดขึ้น ยังคาดว่ามูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านโทรศัพท์มือถือจะมีถึง 1,000 ล้านบาท ปี 2010 จะเติบโตถึง 30% และหากมี 3G เกิดขึ้นจะมากกว่าอีกถึงเท่าตัว

“3G ทำให้การส่งข้อมูลเร็วขึ้น การโฆษณาผ่านมือถือมีลูกเล่นได้มากขึ้น ซึ่งในหลายประเทศออนไลน์และมือถือได้กลายเป็นสื่อนี้ที่ได้เม็ดเงินโฆษณามากกว่าสื่อดั้งเดิมแล้ว”

“ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์” ผู้บริหารบริษัทครีเอ้ และเว็บไซต์เพย์กราวน์ ซึ่งมีดีแทคถือหุ้นใหญ่ บอกว่า เว็บไซต์ของเพย์กราวน์ ซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีฟีเจอร์เรียลไทม์เป็นจุดขาย จะบริการได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากเปรียบเทียบกับบริการเดิมที่ให้อยู่บน 2จี กับ 3G สามารถเปรียบกันได้ดังนี้

บน 2จี การอัพโหลดรูปและวิดีโอขึ้นบนหน้าเว็บจะกินเวลานาน ไม่สะดวกต่อการใช้งานแบบเรียลไทม์ การอัพโหลดรูปจะใช้เวลาประมาณ 1 นาที ขณะที่วิดีโอนาน 5 นาที ทำให้ผู้ใช้ต้องรอ ช่องว่างทางเวลานี้มีผลต่อจำนวนของผู้ใช้งานที่ยังมีจำกัด แอพลิเคชั่นและวิดเจ็ต ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ หรือได้เพียง 10% ของความสามารถจริงที่ทำได้

3G จะทำให้การพัฒนาแอพลิเคชั่นเพื่อรองรับการใช้งานได้ไม่สิ้นสุด เช่น Navigation หรือโปรแกรมที่เกี่ยวกับการนำทาง รวมทั้งแผนที่แบบเรียลไทม์ตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ในกรุงเทพฯ จะมีให้ลูกค้าใช้งานมากขึ้น ฐานข้อมูลของลูกค้าจึงกว้างตาม ซึ่งจะทำให้การทำธุรกิจค้าบนมือถือ หรือการโฆษณาทำได้มากขึ้น การอัพโหลดรูปวิดีโอ เร็ว และมีลูกเล่นได้สนุกขึ้น การใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ที่ผู้คนจะใช้เวลาอยู่กับหน้าจอนานขึ้น ทำให้เพลย์กราวน์สามารถขยายกลุ่มกว้างขึ้น หลายช่วงอายุ รสนิยม ความสนใจพิเศษต่างๆ ทำให้ความเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์กว้างขึ้น

นี่คือโอกาสของเพลย์กราวน์ ที่มองเห็นหลังจาก 3G เกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของเม็ดเงินที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ซึ่งไอดีซีได้ประเมินว่ามูลค่าของธุรกิจคอนเทนต์เหล่านี้จะสูงถึง 7,000-8,000 ล้านบาท

3G จึงไม่ใช่เพียงแค่เครือข่ายใหม่เท่านั้น แต่คือเม็ดเงินที่พร้อมจะสะพัดมหาศาลในอนาคต

มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านโทรศัพท์มือถือ
ปี 2007 500 ล้านบาท
ปี 2008 765 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52%
ปี 2009 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30%
ปี 2010 1,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% (คาดการณ์)

บันเทิงยิ่งกว่าเดิม
สำหรับธุรกิจบันเทิงของ “ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท Fukduk Production 3G ก็มีประโยชน์ไม่น้อย ตั้งแต่ข้อจำกัดเรื่องเวลา และสถานที่ ที่มือถือ 3G จะทำให้การดูรายการต่างๆ ทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น และตรงกับเวลาที่ต้องการได้ด้วยการดาวน์โหลดที่เร็วขึ้น ไปจนถึงการทำตลาดของธุรกิจบันเทิงที่ฉีกกฎการตลาดได้หลายข้อ ดังนี้

ลืมกฎ 80:20 ซะ
ก่อนหน้านี้เราเชื่อว่า 80% ของยอดขายทั้งหมดมาจากลูกค้าชั้นดี (ขั้นครีม) เพียง 20% ความคิดนี้ถือว่าทำให้เกิดรายได้ที่น้อยมาก เพราะมันสะท้อนว่าเราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ในจำนวนเพียง 20% ในท้องตลาดเท่านั้น ถ้ามีการสื่อสารผ่านช่องทางใหม่เช่นทางมือถือ เราจะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทั้ง 100% และได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม สามารถเก็บลูกค้าอีก 80% ที่เหลือในตลาดได้อย่างครบถ้วน

The right content for the right user
การทำรายการทีวีป้อนบนอินเทอร์เน็ตทั้ง 20 รายการ ทำให้เห็นว่าสามารถเก็บตลาดได้หมด เพราะเราอยู่บนโลกเสมือนที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทุกตลาดในเวลาเดียวกัน และเราสามารถวัดผลในแง่ Demographic ได้อย่างแม่นยำ เพราะเรารู้ว่าคนที่อยู่หน้าจอเป็นใคร เราสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ตรงตามความต้องการว่าจะสื่อสารไปถึงใคร อายุเท่าไหร่ เพศใด ในสารแบบใด เช่น “อยากได้ผู้ชายอายุ 15-17 ปี” เพื่อสื่อสารแบบ SMS โฆษณาโรงเรียนกวดวิชา เป็นต้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นก็จะได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นในคนกลุ่มนี้ และอีกหลายๆ กลุ่มที่จะตามมา

หู ตา และเพิ่มปาก
ในขณะที่สื่อเดิมถูกจำกัดแค่ภาพและเสียง แต่กับมือถือเราจะได้อะไรที่มากกว่าโดยคนจะสามารถตอบโต้กันได้มากขึ้น อย่างเช่นเมื่อก่อนที่รายการ “ฮิวโก้โชว์” พยายามจะให้คนดูทางบ้านตอบโต้กับรายการมากขึ้น หากมี 3G ในอนาคตเราจะทำสิ่งนี้ได้ดี มาก และหลากหลายขึ้น

Destroying Physical Challenge
กำจัดสิ่งต่างๆ ที่ร่างกายทำไม่ได้ด้วยอุปกรณ์จอเล็กและใหญ่ (มือถือและโน้ตบุ๊ก) ที่เราสามารถพกติดตัวไปด้วยได้ เช่นการเก็บข้อมูลเป็นตั้งๆ หนังสือเป็นหอบๆ กล่องใส่คาสเซตและซีดีต่างๆ ในรูปแบบของซอฟต์แวร์ ภาระของการนำข้อมูลติดไปกับตัวเราจึงถูกกำจัดให้หมดไป

Complementary base media
ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับความบันเทิงจะแตกแขนงต่อยอดออกไปมากขึ้น เช่นซีรี่ส์ CSI ที่สามารถจะมี Complementary หรือตอนพิเศษเฉพาะที่อยู่บนมือถือ หรือจะเป็นข่าวในแง่มุมที่ลึกมากขึ้นและฉีกแนวออกไป ที่เราไม่สามารถหาดูได้ตามโทรทัศน์เพราะเวลาที่มีจำกัดในการถ่ายทอด หรือภาพยนตร์เรื่องนเรศวร ที่มีตอนพิเศษเช่น “พระราชมนู Mobile Movie” ที่หาชมไม่ได้ในโรงภาพยนตร์ แต่คนก็สามารถมาดูได้บนมือถือ เป็นต้น

Alternate Business
เราสามารถใช้มือถือส่งออกคอนเทนต์ได้จนถึงภาคสากล “แสดงสิ่งที่ต่างชาติอยากรู้และคนไทยสามารถส่งออกได้” เช่นเราอาจทำวิดีโอแนะนำการทำอาหารซึ่งคนไทยสามารถทำตัวเป็นสื่อได้เองในเมืองไทย ไม่ต้องเปิดสาขาที่อเมริกา เพียงแค่นั่งอยู่ที่บ้านกับคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องเท่านั้น Global Media จึงเกิดขึ้นได้ ไม่จำเป็นแต่เฉพาะด้านอาหาร แต่เราสามารถส่งออกความเป็นไทยไปสู่ทั่วโลกได้ในหลากหลายรูปแบบที่ล้วนแล้วแต่สร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ของเราซึ่งก็คือประเทศไทยได้นั่นเอง

– Decentralize Business หมดยุคธุรกิจบันเทิงผู้ทรงอิทธิพล
เมื่อก่อนเราอาจจะยอมรับในความเป็นผู้ทรงอิทธิพลของสื่อใหญ่ จำพวกช่อง 3 หรือช่อง 7 อาร์เอส แกรมมี่ แต่การเข้ามาของเทคโนโลยีที่อยู่บนมือถือทำให้ธุรกิจกระจายตัวเองออกไปในมุมกว้างที่เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีช่องว่างระหว่างสื่อและผู้รับสื่อ การกระจายตัวจะเป็นไปแบบ One-to-One ผู้ที่มีอิทธิพลจะเปลี่ยนรูปแบบไปนั่นคือกลายเป็นผู้ที่สามารถตอบสนองผู้รับสื่อให้มีความพอใจสูงสุดได้ ดังนั้น สิ่งที่แข่งกันคือคอนเทนต์และความบันเทิงที่จะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ตลาดบันเทิงจะขยายขึ้นอย่างมหาศาลท่ามกลางการใช้ต้นทุนที่ต่ำลงอย่างเหลือเชื่อ อุตสาหกรรมนี้จะแข็งแกร่งมากขึ้นเพราะศักยภาพในตลาดกระจายตัวเป็นผู้เล่นรายเล็กรายน้อยมากมาย : from only one winner to every one is the winner

– Built Personal โอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจบันเทิง
ปกติธุรกิจบันเทิงจะมีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อใจของคนดูและคาแร็กเตอร์ที่แสดงออกมาผ่านสื่อ “ผมชอบวู้ดดี้ เพราะวู้ดดี้เป็นเช่นนั้น ผมชอบโอปราห์ วินฟรีย์ หรือแม้แต่มาร์ธา สจ๊วต เพราะเธอเป็นเช่นนี้” ดาราสามารถเข้าถึงแฟนๆ ได้มากขึ้น สามารถติดต่อแฟนได้โดยตรงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ในขณะเดียวกันก็สามารถ Built Personal ที่เป็นธีมส่วนตัวของแต่ละคน สร้างการจดจำในหัวผู้คนไม่ต่างจากตราสินค้าแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง เกิดการต่อยอดทางธุรกิจมากมายมหาศาล จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าสื่อนั้นจะใหญ่หรือเล็ก คน 1 คน เช่น Blogger ก็สามารถเข้าถึงคนทั้งประเทศได้มากขึ้นหลังมี 3G