ในภาวะที่ “ตลาดเบียร์ไทย” มูลค่ารวม 1.8 แสนล้านบาท กำลังอยู่ในภาวะความซบเซาจากภาวะชะลอตัวจากสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายโดยรวมในทุกเซ็กเมนต์ การทำโปรโมชั่นอย่างเดียวอาจจะทำให้ตลาดกลับมาคึกคักได้ไม่มากนัก ทางออกคือการหาสินค้าใหม่ๆ ที่จะสร้างความว้าวเพื่อปลุกตลาดให้ตื่นอีกครั้ง
ช่วงที่ผ่านมาสินค้าที่สร้างสีสันและ Talk of the town ให้กับผู้บริโภคมากที่สุด เห็นจะเป็นการเปิดตัวเซ็กเมนต์ใหม่ “เบียร์ 0%” ซึ่งแบรนด์เรียกชื่อว่า “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์” หรือ “เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์” ก็ย่อมได้
“Heineken” ผู้จุดกระแส
แบรนด์ที่จุดกระแสนี้คือ “Heineken” เจ้าตลาดในเซ็กเมนต์เบียร์พรีเมียม ได้เปิดตัว “Heineken 0.0” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์แต่คงรสชาติแบบ Heineken เอาไว้ โดยเปิดตัวครั้งแรกในปี 2017 ในประเทศเนเธอร์แลนด์ สเปนและเยอรมนี ตามมาด้วยอังกฤษและฝรั่งเศส
ขณะนี้มีวางจำหน่ายในตลาด 38 แห่งทั่วโลก รวมทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ส่วนการเข้ามาในเมืองไทยเป็นแห่งที่ 2 ในเอเชียแปซิฟิก ต่อจากสิงคโปร์
Heineken ชูจุดเด่น 0% แอลกอฮอล์ ที่ไม่สามารถดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาจจะไม่ต้องการดื่มในบางเวลา โดยให้พลังงาน 69 แคลอรีต่อขวด โดย Heineken ย้ำว่าไม่ได้หวังใช้ผลิตภัณฑ์นี้เพื่อการ “โฆษณา”
แต่ชื่อ “Heineken 0.0” นอกจากสร้างการรับรู้ได้ และการเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ก็ไม่ผิดกฎหมาย สามารถโฆษณาได้ในทุกช่องทางไม่เหมือนเบียร์ ที่ถูกกำจัดไว้ตอนดึกเท่านั้น
“บาวาเรีย” ขอแจมด้วย
ขณะเดียวกัน “บาวาเรีย” ก็เป็นอีกรายที่ลุกขึ้นมาทำตลาดอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน แม้จะเข้ามาในเมืองไทยได้ 5 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการทำตลาดที่จริงจังมากนัก ล่าสุดได้ลุกขึ้นมา Active โดยนำเข้าสินค้าใหม่ทั้ง รสแอปเปิล เลมอน สตรอวเบอร์รี่ ภายใต้แบรนด์ “บาวาเรีย 0.0% มอลต์ ดริ้งค์”
การลุกขึ้นมาทำตลาด “เบียร์ 0%” พร้อมๆ กันทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมตลาดนี้ถึงได้น่าสนใจนัก เพราะในเมืองไทยไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไหร่ ?
ข้อมูลจาก Global Market Insights แสดงให้เห็นว่า มูลค่าตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ในทวีปเอเชียแปซิฟิก มีมูลค่ามากกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.95 หมื่นล้านบาทในปี 2016 ซึ่งตลาดหลักในทวีปเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ตลาดเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ในประเทศสหราชอาณาจักรเติบโตกว่า 15% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (อ้างอิงจากข้อมูลเว็บไซต์ beveragedaily.com)
ขณะเดียวกันกระแสการบริโภคเครื่องดื่มที่แปลกใหม่ทำให้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ หรือเบียร์ 0.0% ได้รับความสนใจ และเพิ่มความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก
3 ค่ายเบียร์หลัก ลงชิงชัยสมรภูมิแอลกอฮอล์ต่ำ
ก่อนหน้านี้ 3 ค่ายเบียร์หลักในบ้านเราต่างออกสินค้าที่มีแอลกอฮอล์ต่ำจากปรกติซึ่งอยู่ราว 5-8% ลงตลาดอย่างคึกคัก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในทุกเซ็กเมนต์ รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันอันแสนดุเดือด
โดย กลุ่มบริษัททีเอพี ซึ่งเป็นผู้ทำตลาดของ Heineken มีสินค้า 2 ตัว ได้แก่ ไทเกอร์ แรดเลอร์ แอลกอฮอล์ 2% และ เชียร์ส Siam Weizen แอลกอฮอล์ 4%
ส่วน ค่ายเบียร์สิงห์ ก็ไม่พลาดที่จะออก ยูเบียร์ แอลกอฮอล์ 4.5%, มายเบียร์ แอลกอฮอล์ 4.5% และสโนว์วี่ ไวเซ่น by est.33 แอลกอฮอล์ 4%
แน่นอน ค่ายช้าง ของเจ้าสัวเจริญจะอยู่นิ่งได้อย่างไร จัดไปทั้ง ฮันทส์เมน Cloudy Wheat Beer แอลกอฮอล์ 4% และแบล็ค ดราก้อน เบียร์แดง แอลกอฮอล์ 4%
สรรพสามิตกำลังหาช่อง “รีดภาษี”
อย่างไรก็ตาม “เบียร์ 0%” จะสะดุดหรือไม่? เพราะล่าสุดกรมสรรพสามิตกำลังหาช่อง “รีดภาษี” อยู่ โดย “พชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมสรรพสามิต เผยว่า จะเปิดพิกัดภาษีใหม่ สำหรับภาษีสรรพสามิตเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ หรือเบียร์ 0% ป้องกันไม่ให้ไปประชาชนทดลองไปดื่มเบียร์ 0% จนนำไปสู่การดื่มเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ในอนาคต
ปัจจุบัน เบียร์ 0% เสียภาษีสรรพามิตประเภทเครื่องดื่มเหมือนน้ำอัดลม ที่อัตรา 14% บวกกับค่าความหวาน โดยเบียร์ 0% ที่จำหน่ายในประเทศไทยตอนนี้มีทั้งนำเข้าและผลิตในประเทศ ราคาอยู่ที่กระป๋องละ 33 – 99 บาท เสียภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 4 – 12 บาท
ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขต้องการให้กรมสรรพสามิตเก็บภาษีเบียร์ 0% เท่ากับเบียร์ปกติทั่วไปที่เสียภาษีอยู่ที่ 22% ของราคาขายปลีก แต่กรมสรรพสามิตไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะกฎหมายของกรมสรรพสามิตกำหนดไว้ชัดว่าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมต่ำกว่า 0.5% ให้เสียภาษีประเภทเครื่องดื่ม
ดังนั้นการเก็บภาษีเบียร์ 0% จึงต้องกำหนดอัตราภาษีใหม่ ซึ่งในหลักการภาษีต้องสูงกว่าอัตราภาษีเครื่องดื่ม แต่ต้องต่ำกว่าภาษีเบียร์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบภาษี ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ช่วงหลังสงกรานต์
ทั้งนี้ การกำหนดเบียรอัตราภาษีใหม่เบียร์ 0% ต้องไม่ไปกระทบกับยาบางประเภท เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย ที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์อยู่ด้วย
ทางกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า การโฆษณาเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ถือว่าผิดกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพราะไม่ได้ถือว่าเป็นเบียร์ จึงใช้คำว่าเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ไม่ได้ แต่เป็นเครื่องดื่มมอลต์ก็ต้องใช้ว่า เครื่องดื่มมอลต์ปราศจากแอลกอฮอล์
เจอศึกหนักตั้งแต่แจ้งเกิดได้ไม่กี่เดือนเลยทีเดียวสำหรับ “เบียร์ 0%” ต้องติดตามต่อไปว่า หลังเทศกาลสงกรานต์ 2562 ผ่านพ้นไป กรมสรรพสามิตจะว่าอย่างไรบ้าง!
อ้างอิง : MGR Infographics