ต้องบอกว่าศึก Premier league ปี 2019 นี้กำลังจะกลายเป็น “เกมพลิก” แม้ก่อนหน้านี้ Facebook จะได้สิทธิ์จากการประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดปี 2019/2020 -2021/2022 ในเมืองไทยและครอบคลุมอีก 3 ประเทศคือลาว, กัมพูชาและเวียดนาม โดยทุ่มเงินกว่าทุ่มเงิน 200 ล้านปอนด์ หรือราว 8.8 พันล้านบาท เฉือนเอาชนะ BeIN Sports ผู้ถือลิขสิทธิ์ปัจจุบัน และ Fox Sports Asia
แต่เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2019 ที่ผ่านมา ดีลดังกล่าวกลับไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถตกลงเงื่อนไขร่วมกันได้ ดีลดังกล่าวจึงถูกยกเลิกไปอย่างน่าเสียดาย
จริงๆแล้วหาก Facebook ยังคงได้สิทธิ์การถ่ายทอดสด 3 ปี เจ้าของสื่อยักษ์ใหญ่ของไทยถึง 2 ค่ายคือกลุ่มปราสาททองโอสถเจ้าของช่อง PPTV36 และกลุ่ม CP เจ้าของ True Vision พร้อมที่จะเจรจานำ Premier league มาลงแพลตฟอร์มของตัวเองทั้งคู่
โดยทั้งสองค่ายพร้อมจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์เต็มที่ ให้สมศักดิ์ศรีกับความเป็นช่องและแพลตฟอร์มคอนเทนต์ระดับโลก และเวิลด์คลาสทั้งคู่
แต่ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาด อีกทั้งทาง Premier league ต้องเตรียมเปิดขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดใน 4 ประเทศอาเซียนใหม่ภายในระยะเวลาจำกัด เนื่องจากการเจรจาต้องแล้วเสร็จก่อนเปิดฤดูกาล 2019-20 ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2019 นี้
จนถึงตอนนี้เหลือเวลาไม่ถึง 4 เดือนสุดท้ายดีลนี้จะกลายเป็น “ส้มหล่น” หรือ “เผือกร้อน” ขึ้นอยู่กับผู้ที่ได้ไปว่าจะจัดการออกมาอย่างไร สุดท้ายจะซ้ำรอย “CTH” ที่ได้ไปในราคาแพงแล้วขาดทุนย่อยยับจนหายเงียบไปหรือไม่ ศึกครั้งนี้จึงน่าติดตามไม่น้อย
PPTV ขอผ่านไม่คุ้มประมูลเอง พร้อมเสียบแมตช์สำคัญดีกว่า
สำหรับ PPTV ผู้รั้งเรตติ้งเบอร์ 12 ด้วยตัวเลขเฉลี่ย 0.164 ในปีที่ผ่านมายังคงยืนยันคำเดิม พร้อมซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอล Premier league ให้ผู้ชมได้รับชมอย่างที่ผ่านมา ตามแผนงานของ PPTV ที่ชูความเป็น World Class TV and More
จากคอนเทนต์กีฬาเวิลด์คลาส ภายใต้งบลงทุนทั้งหมดกว่า 2,000 ล้านบาท ที่จะใช้ซื้อคอนเทนต์ใน 2019 แน่นอนว่าลิขสิทธิ์ที่จะซื้อพรีเมียร์ลีกก็พร้อมอยู่ในงบก้อนนี้แล้ว
แม้ตามแผนของปี 2019 PPTV กำลังต้องการเปลี่ยนภาพ “ภาพลักษณ์” จากสถานีสปอร์ตและข่าวที่มีผู้ชมเป็นผู้ชายถึง 60% มาสู่ “ช่องวาไรตี้และบันเทิง” เพื่อขยายไปสู่ผู้ชมระดับแมสทั่วประเทศและฐานผู้ชมผู้หญิงมากขึ้น
ผ่านการเพิ่มคอนเทนต์บันเทิงจากสัดสัดส่วน 30% เป็น 50% ส่วนกีฬาลดลงเหลือ 20% ซึ่งกีฬาจะรีรันเฉพาะแมตช์ใหญ่จริงๆ เท่านั้น ส่วนข่าว 30%
แต่สำหรับ Premier league ถือเป็นลีกกีฬาชื่อดังที่แม้แต่ PPTV ยังพลาดไม่ได้ต้องทุ่มงบเข้าสู้แม้ตัวเลขผลประกอบการที่ผ่านมายังอยู่ในภาวะ “ขาดทุน” ที่สำคัญยังเพิ่มขึ้นทุกปีอีกด้วย
โดยรายได้ย้อนหลัง 5 ปีของ PPTV มีดังนี้
- ปี 2013 รายได้รวม 21,405.53 บาท ขาดทุน 97,292,543.399 บาท
- ปี 2014 รายได้รวม 55,283,278.45 บาท ขาดทุน 1,102,611,292.49 บาท
- ปี 2015 รายได้รวม 195,913,758.01 บาท ขาดทุน 1,799,181,675.83 บาท
- ปี 2016 รายได้รวม 232,616,122.11 บาท ขาดทุน 1,996,374,458.88 บาท
- ปี 2017 รายได้รวม 317,156,058.71 บาท ขาดทุน 2,028,758,383.87 บาท
สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารช่อง PPTV กล่าวว่า
“PPTV ยังคงสนใจได้สิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกมาออกอากาศทางช่อง PPTV36 แม้ว่า Facebook จะล้มดีลไปแล้วก็ตาม แต่เนื่องจาก PPTV เป็นช่องฟรีทีวีย่อมไม่สามารถที่จะถ่ายทอดสดได้ครบทั้ง 380 แมตช์ตลอดฤดูกาลได้จึงไม่มีแผนที่จะเข้าร่วมประมูลเองแต่มองในลักษณะการเป็นพันธมิตรร่วมถ่ายทอดสดคู่สำคัญในแพลตฟอร์มฟรีทีวีเป็นหลัก”
อย่างไรก็ตาม จากเงื่อนไขเรื่องของเวลาที่เหลือน้อยในการทำตลาด จึงคาดเดาได้ยากว่าจะมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลครั้งใหม่นี้มากน้อยเพียงใด รวมถึงราคาในการประมูลก็คาดเดาได้ยากเช่นกัน ว่าจะสูงขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด ซึ่งอย่างน้อยที่สุดเชื่อว่า True Vision จะเป็นรายหลักๆ ที่เข้าร่วมประมูลใหม่ในครั้งนี้
หาก True Vision ได้ไปย่อมต้องให้ทางช่อง True 4U ซึ่งเป็นฟรีทีวีของตนเองได้สิทธิ์ในการร่วมถ่ายทอดสดแมตช์สำคัญด้วยตามเงื่อนไขของทาง Premier league แต่ทาง PPTV เชื่อว่าทางช่อง PPTV เองพร้อมที่จะร่วมเป็นพันธมิตรฟรีทีวีถ่ายทอดสดอีกช่องหนึ่งเช่นกัน
แต่หากไม่เป็นไปตามนั้นก็ต้องยอมรับความจริง ส่วนจะมีแผนสำรองรับมือหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ PPTV ขอดูสถานการณ์ก่อน แม่ทัพ PPTV กล่าวทิ้งทาย
ย้อนรอย 20 ปีลิขสิทธิ์ Premier league ในไทย
สำหรับความนิยมของคนไทยที่ชื่นชอบในการรับชมการแข่งขันฟุตบอล Premier league มีมานานนับสิบปี ซึ่งในช่วงแรกสุดคนไทยจะดู Premier league ผ่านทีวีระบบบอกรับสมาชิก หรือ Pay TV ผ่านทางแพลตฟอร์ม True Vision ซึ่งแรกสุดสามารถรับชมทางช่อง ESPN บ้างหรือสตาร์สปอร์ตบ้าง
หลังจากนั้นทาง True Vision ได้เข้าประมูลสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด Premier league เองและได้ลิขสิทธิ์ตั้งแต่ฤดูกาล 2007/2008 จนถึง 2012/2013 โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมากลายเป็นว่า Premier league ผูกขาดลิขสิทธิ์ Premier league แต่เพียงรายเดียวในไทย
และถือได้ว่า Premier league เป็นคอนเทนต์แม่เหล็กสำคัญที่ทำให้ True Vision มีฐานสมาชิกที่แข็งแกร่งและเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้ในระดับต้นๆ
โมเดลการสร้างรายได้ของ True Vision จาก Premier league จึงไปเข้าตา CTH เข้าในการที่ต้องการเป็น Pay TV ที่แข็งแกร่งพอจะเทียบสู้กับ True Vision ได้เพียงใช้ระยะเวลาอันน้อยนิดผ่านทางลัดหากยังจำกันได้ครั้งนั้น CTH ใช้กลยุทธ์ด้วยการชิงประมูลไปด้วยเม็ดเงินร่วม 5,000 ล้านบาทสูงจากปกติที่ True Vision จ่ายไปกว่า 4-5 เท่า
ทำให้ Premier league ในช่วงฤดูกาล 2013/2014, 2014/2015 และ 2015/2016 เป็นของบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไปต่อเพราะขาดทุนย่อยยับ ต่อมาในปี 2016/2017- 2018/2019 หรือ 3 ปีล่าสุดที่ผ่านมาช่อง beIN Sports ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอด โดยเฉือนเอาชนะคว้าลิขสิทธิ์ออกอากาศในไทยด้วยเม็ดเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9,900 ล้านบาท)
True Vision ขอทวงคืน
ครั้งนั้น True Vision ได้ซื้อลิขสิทธิ์ต่อจาก beIN Sports มาถ่ายทอดสดอีกทีสัญญา 3 ปีเต็ม ในการถ่ายทอดฤดูกาลปี 2016/17 จนถึงปี 2018/19 ครบ 380 แมตช์ จึงได้อาจกล่าวได้ว่า Premier league กลับมาสู่ True Vision อีกครั้ง
ส่วนครั้งต่อไปหรือ 3 ปีหลังจากนี้ True Vision พร้อมที่จะคว้าลิขสิทธิ์ Premier league มาลงบนแพลตฟอร์มของตัวเองให้ได้อย่างแน่นอน ทั้งในรูปแบบการประมูลเองหรือผ่านช่องกีฬาที่ได้ลิขสิทธิ์ไป
ก่อนหน้านี้เมื่อครั้งที่ Facebook ประมูลได้ทาง True Vision ก็บอกเองว่าพร้อมที่จะเจรจาสิขสิทธิ์กับ Facebook เพื่อนำ Premier league มาลงจอของตัวเองโดยสาเหตุที่ True Vision ต้องทุ่มหนัก เพราะที่ผ่านมาแม้ฐานผู้ใช้งานของ True Vision จะเพิ่มทุกปี แต่รายได้ต่อเดือนก็ลดลงอย่างน่าใจหายเช่นเดียวกัน
- ปี 2014 ฐานลูกค้า 2,471,770 คน รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ 715 บาทต่อเดือน
- ปี 2015 ฐานลูกค้า 3,063,475 คน รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ 523 บาทต่อเดือน
- ปี 2016 ฐานลูกค้า 3,930,035 คน รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ 379 บาทต่อเดือน
- ปี 2017 ฐานลูกค้า 3,964,985 คน รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ 311 บาทต่อเดือน
- ปี 2018 ฐานลูกค้า 4,056,625 คน รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ 298 บาทต่อเดือน
ขณะเดียวกันรายได้ของ True Vision ยังอยู่ในภาวะ “ขาดทุน” เมื่อนับรวมทั้งเครือที่มี 12 บริษัทกิจการร่วมค้า 1 บริษัทและบริษัทร่วม 1 บริษัท แต่หากนับเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Pay TV โดยตรงจะมี 2 บริษัทด้วย ได้แก่
บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน)
- ปี 2015 รายได้รวม 17,108,718 บาท ขาดทุน 774,394,603 บาท
- ปี 2016 รายได้รวม 39,400,814 บาท กำไร 28,276,613 บาท
- ปี 2017 รายได้รวม 7,615,330 บาท ขาดทุน 13,161,447 บาท
บริษัท ทรูวิชั่นส์ เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน)
- ปี 2015 รายได้รวม 143,707,840 บาท ขาดทุน 155,154,807 บาท
- ปี 2016 รายได้รวม 97,015,719 บาท ขาดทุน 55,489,746 บาท
- ปี 2017 รายได้รวม 78,373,471 บาท ขาดทุน 49,526,961 บาท
ดังนั้นหากสามารถดึง Premier league มาไว้ในมือได้ คงช่วยให้ True Vision สามารถเพิ่มรายได้และพลิกกลับมามีกำไรอีกครั้ง เพราะสามารถทำโปรโมชั่นและดึงค่าโฆษณาได้เต็มๆ โดยแหล่งข่าวจากทาง True Vision กล่าวว่า
True Vision เข้าร่วมประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษทุกครั้ง ซึ่งช่วงหลังมีทั้งได้บ้างไม่ได้บ้าง และครั้งนี้ทรูวิชั่นส์พร้อมที่จะประมูลเช่นเดียวกัน แต่ต้องคุ้มที่จะลงทุนด้วย
ดังนั้น 3 เดือนจากนี้จึงเป็นเงื่อนไขของการประมูล Premier league ที่สำคัญที่จะส่งผลต่อราคาที่ประมูล เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่สั้นไม่เพียงพอต่อการทำการตลาด รวมถึงการหาสปอนเซอร์หรือขายสมาชิก
สุดท้ายพรีเมียร์ลีกจะกลายเป็น “ส้มหล่น” หรือ “เผือกร้อน” ในกำมือใคร และคนไทยจะได้ชมผ่านช่องทางใดนั้น ผู้ที่ได้ไปคือผู้ตัดสิน ภายใต้การบริหารจัดการที่ต้องเจนสนามพอตัว