เจาะแนวคิด ‘True Media’ กับการอัพเกรด ‘True’ ให้เป็นมากกว่าบริษัท ‘Telecom’

ถ้าหากพูดถึงอีโคซิสเต็มส์ของ ‘True’ เชื่อว่าหลายคนคงจะพูดออกมาไม่หมด เพราะมีมากมายหลายขาเหลือเกิน ซึ่งแน่นอนว่าการที่ทำหลายอย่างย่อมทำให้มี ‘คู่แข่ง’ เพิ่มขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่คุณพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้าน Strategic Content & Public Affairs บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กลับมองว่าในปัจจุบันนี้ หมดยุคของ ‘ไซโลบิสซิเนส’ ณ วันนี้ผู้ที่คิดแบบนี้ ได้กลายเป็น ‘เบอร์ 3’ ไปแล้ว และจากนี้ True จะไม่ใช่บริษัท Telecom แต่เป็น ‘Digital Media Company’

คุณมีแค่มือถือเท่ากับคุณ ‘อ่อนแอ’

ในอดีต หากมีบริษัทที่ทำทุกอย่างรวมกันหมด คนคงมองว่าไม่ฉลาด แต่ทำเพราะ ‘บ้าบิ่น’ เพราะต้องเข้าแข่งขันในเลเวลที่ต่าง มีคู่แข่งมากมาย รบรอบด่าน น่าจะไม่ดี แต่ปัจจุบันหมดยุคของ ‘ไซโลบิสซิเนส’ เพราะโลกกลายเป็นโลกของดิจิทัลแพลตฟอร์ม กลายเป็นว่าคุณมีแค่มือถือเท่ากับคุณ ‘อ่อนแอ’ เพราะว่าคุณไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มเต็มศักยภาพ อย่างในสหรัฐอเมริกา บริษัท AT&T ที่ควบรวมกับบริษัทเป็นบริษัท Time Warner ที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์ระดับสุดยอดอย่างสตูดิโอ Warner Bros. ช่องหนัง HBO มี CNN ช่องข่าวอันดับ 1 รวมถึงมีสตูดิโอผลิตเกม

ดังนั้น AT&T บอกกับทุกคนว่าจากนี้ไม่ใช่บริษัท Telecom อีกต่อไป แต่เป็น New Media Company ซึ่งนั่นคือทิศทางที่ True จะต้องไป เพราะว่าเทรนด์โลกมันเป็นแบบนั้น ต่อไป True จะเป็น Media Company ที่มี Telecom โดยมี Content ที่สร้างถูกทาง วางถูกที่ จะทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่แข่งกันเรื่องโปรโมชั่นอย่างในอดีต เพราะอย่างคู่แข่งออกแพ็กเกจใหม่ พูดตรง ๆ ว่าอาทิตย์ต่อไปเราออกเหมือนกันได้เลย ดังนั้น ค่ายที่ไม่มีคอนเทนต์ชูโรง ไม่ใช่ว่าจะสร้างความแตกต่างไม่ได้ แต่มันจะมีความยากกว่าในเชิงของการสื่อสาร

อย่างแอป ทรูไอดี ทิ่เป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่เปิดกว้างให้ผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายเข้าถึงได้ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญ เพื่อใช้สื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจศักยภาพของอินฟราฯ เป็นการใช้ Content Lead Marketing เมื่อมีประสบการณ์ในการบริโภคคอนเทนต์ เพราะคนจะรู้ว่าเน็ตเวิร์กมันดี คือ วิดีโอต้องไม่กระตุก และการที่จะใช้ค่ายไหนก็ได้ ลูกค้าจะมีจุดเริ่มต้นในการเปรียบเทียบ โดยปัจจุบัน ทรูไอดีมีการใช้งาน 60% เป็นลูกค้าทรู อีก 40% เป็นลูกค้าค่ายอื่น

เป็น ‘พันธมิตร’ ดีกว่าแข่งขัน

แม้ว่าปัจจุบันจะเห็นคู่แข่งรายใหญ่เข้าสู่ตลาด OTT จำนวนมาก แน่นอนว่าต้องมีการแย่งผู้ชม แต่สำหรับผู้ที่มี ‘Digital Platform’ จะไม่ได้มองว่าต้องไปแข่งขัน แต่มองเป็นบวก และเราสามารถเป็นพันธมิตร อย่างกล่อง ‘ทรูไอดีทีวี’ ที่เพิ่งเปิดตัวไป ก็มี ‘Netflix’ ให้ชม และใน Netflix ก็มีออริจินอลคอนเทนต์ของทรูอย่างซีรีส์ ‘Voice’ นั่นแปลว่าเขาเสริมเรา เราเสริมเขาในเชิงของบริการสำหรับผู้บริโภค และการมีเขาทำให้เราไม่ต้องลงทุนในตอนเทนต์แบบเขา แปลว่าเม็ดเงินที่เราเคยลงทุนในคอนเทนต์แบบเขา เราเปลี่ยนมาลงทุนในออริจินอลคอนเทนต์ของเราได้ และก็ขายเขาได้

ปัจจุบัน ทรูคอร์ปอเรชั่นเป็นผู้ที่ลงทุนในคอนเทนต์มากที่สุดในไทย ราว 7,000 ล้านบาท เป็นเบอร์ต้น ๆ ของไทย สิ่งที่เราลงทุนมากที่สุด คือ กีฬา เราตั้งใจเป็น king of sport และทุกกีฬาถูกออกแบบมาให้เป็นเพย์ทีวี ดังนั้นเราได้เปรียบเพราะเรามีทรูวิชั่นส์ แต่สิ่งที่เราต้องทำมากขึ้นคือ ‘เอนเตอร์เทนเมนต์’ เมื่อก่อนเราเป็นผู้ซื้อที่ใหญ่ที่สุด แต่เมื่อเราพาร์ตเนอร์กับ Netflix เราจึงไปทุ่มให้กับการสร้างออริจินอลได้ โดยที่ผ่านมาเราได้สร้างบริษัทร่วมทุน True CJ Creation เป็นบริษัทโปรดักส์ชั่นที่ในเบื้องต้นเรานำซีรีส์เขามารีเมคในแบบโลคอลไรเซชั่น อย่าง Voice และในปีนี้จะมีฟอร์มใหญ่ 6-8 เรื่อง เป็นฟอร์มใหญ่

ปั่นรวมทุกแพลตฟอร์มต่อยอดสู่ Addressable Advertising

Addressable Advertising หรือก็คือ การเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ใช้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการรับชมผ่านทีวีดิจิทัล ชมผ่านแพลตฟอร์ม OTT ซึ่งการรับรู้ถึงข้อมูลทั้งหมด จะทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาเติบโตขึ้นหลายสิบเท่า เพราะโฆษณาท้องถิ่นมีโอกาสเข้ามาโฆษณามากขึ้น เพราะสามารถยิงเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคที่สนใจได้โดยตรง ไม่ต้องหว่าน ราคาต่อชิ้นถูกลง เพราะมีโฆษณามากขึ้น ดังนั้นมันจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และบริษัทเหล่านี้ได้ประโยชน์ เพราะ ROI ได้มากขึ้น คุ้มค่ามากกว่า

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจคอนเทนต์ไทยอยู่ระหว่างทาง ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปไกลพอ ยังขาดการเติบโตของดิจิทัลมีเดีย เพราะดิจิทัลทีวีมันไม่เติบโต แต่ถ้าอยู่ในจุดที่สัดส่วนทั้ง 2 เท่ากันจนเป็นออมนิมีเดีย ทุกสื่อมีความสำคัญเท่าเทียมกันและเข้าถึงผู้บริโภคในหลาย ๆ จุดของไลฟ์สไตล์ เพื่อให้รับรู้ถึง ‘พฤติกรรม’

ขณะที่ True ปัจจุบันมีเครื่องมือครบ ทั้งช่องในทีวีดิจิทัล (ช่องทรูโฟร์ยู) มีกล่องเซต-ท็อป- บ็อกซ์ (กล่องทรูไอดี ทีวี) มีเพย์ทีวี (ทรูวิชั่นส์) และแอปพลิเคชัน (ทรูไอดี) ทำให้สามารถดำเนินกลยุทธ์ Convergent คือ ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นอินฟราสตรัคเจอร์ ทำให้ทุกแพลตฟอร์มรู้ว่าผู้บริโภคเป็นใคร ใช้บริการอะไร เช่น ตอนนี้ใช้มือถือ ใช้เน็ตผ่านมือถือ ผ่านคอม ดูทีวีผ่าน OTT ดูช่องอะไร ทำให้เราได้ Big Data จากนั้นก็ยิงโฆษณาตามแต่พฤติกรรมที่ลูกค้าสนใจ ซึ่งก็คือ Addressable Advertising

ตั้งเป้าเติบโตดับเบิลทุกปี

ในปี 2019 ที่ผ่านมา ทรูวิชั่นส์มีฐานลูกค้ารวมประมาณ 4 ล้านรายและมีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง TrueID มีฐานผู้ใช้บริการต่อเดือนที่เติบโตกว่าสองเท่าจากปีก่อนเป็น 24.6 ล้านราย นอกจากนี้ กล่องทรูไอดี ทีวี มียอดขายกว่า 5 แสนกล่อง ขณะที่การขายโฆษณาของเรา ณ วันนี้ ขายเป็นออมนิชาแนล หรือบันเดิลแพ็กเกจ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าการเติบโตนี้จะมาจาก ‘ดิจิทัลมีเดีย’ โดยพยายามจะ Keep การเติบโตของเทรดดิชันแนลมีเดียไว้เท่าเดิม โดยในปี 2019 ดิจิทัลมีเดียของเรามีรายได้แซงเทรดดิชันแนลมีเดียไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ของโลก แปลว่า ณ วันนี้สัดส่วนของรายได้ของทรู วิชั่นส์กรุ๊ป เท่าเทียมกันกับเทรนด์ของโลก และพอไม่มีใครในอุตสาหกรรมโฟกัสในแบบเรา เรามีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเติบโแบบดับเบิลได้ทุกปีใน 3 ปี