Pepsi ล้มแผนโฆษณาบน “อวกาศ”

(Image: © StartRocket)

Pepsi เจ้าพ่อซอฟต์ดริงค์รายใหญ่ของโลกประกาศล้มเลิกแผนการโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตัวเองในอวกาศผ่านบริษัทสตาร์ทอัปรัสเซีย การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงเสียงวิจารณ์จากสาธารณชนที่มองว่าการใช้บิลบอร์ดอวกาศนั้นเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ยุติธรรมกับคู่แข่งทั่วโลก

ย้อนไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าว Futurism ตีพิมพ์ว่าบริษัทลูกของ PepsiCo ในรัสเซียกำลังทำงานกับบริษัท StartRocket สตาร์ทอัปที่ระบุว่าจะส่งแคปซูลดาวเทียมขึ้นไปยิงโลโก้สินค้าบนท้องฟ้า เพื่อให้ผู้คนบนโลกได้มองเห็นแบบไม่ต้องสวมแว่นใดๆ รายงานระบุว่าความร่วมมือนี้เกิดขึ้นเพื่อทำแคมเปญโฆษณาเครื่องดื่มเสริมพลังงานชื่อ “Adrenaline Rush” 

รายงานลงรายละเอียดว่าความพิเศษของโครงการนี้คือการใช้กลุ่มดาวเทียมขนาดเล็กบินไปเพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์ด้วยอะลูมิเนียมเคลือบสาร Mylar เพื่อสร้างโลโก้หรือข้อความโฆษณาอื่น ที่มองเห็นได้จากพื้นดินในช่วงเวลาฟ้ามืด คือหลังจากพระอาทิตย์ตกดินถึงก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

หลักการนี้จะทำให้ท้องฟ้าไม่ได้มีแต่พระจันทร์และดวงดาวเท่านั้น เพราะภาพประกอบหนึ่งบนเว็บไซต์ของ StartRocket แสดงว่า โลโก้ของเครื่องดื่มสามารถปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืนเหนือเมืองได้ชัดเจน แถม StartRocket ยังมั่นใจว่าในอวกาศจะต้องสวยงามด้วยโลโก้แบรนด์บนท้องฟ้าที่ทำให้ทุกคนทุกเพศทุกวัยประหลาดใจในทุกคืน

เก๋เกินไป?

Olga Mangova โฆษกของ PepsiCo Russia กล่าวกับสำนักข่าว Futurism ว่าบริษัทได้ตกลงร่วมมือกับ StartRocket เพื่อทำแคมเปญโฆษณาในวงโคจรอวกาศ จุดนี้ผู้บริหาร PepsiCo Russia เรียกรูปแบบการแสดงโฆษณาพันธุ์ใหม่ว่า Orbital billboards พร้อมกับยกให้ Orbital billboards เป็นป้ายโฆษณาที่ปฏิวัติตลาดการสื่อสารยุคใหม่ แต่สำนักงานใหญ่ของ PepsiCo ในสหรัฐอเมริกาได้ล้มเลิกความคิดนี้เรียบร้อยแล้ว

โฆษกของ PepsiCo Russia ยอมรับว่าบริษัทได้ร่วมทดลองกับ StartRocket ทำการทดสอบเชิงสำรวจสำหรับการทำโฆษณาในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (stratosphere) โดยใช้โลโก้ของเครื่องดื่ม Adrenaline GameChangers แต่การทดสอบนี้เป็นอีเวนต์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ซึ่งบริษัทไม่มีแผนที่จะทดสอบหรือใช้เทคโนโลยีนี้ในเชิงพาณิชย์อีกต่อไปนับตั้งแต่นี้

เบื้องต้น PepsiCo Russia ไม่ได้อธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการทดสอบ “stratosphere advertisements” หรือการโฆษณาในชั้นสตราโตสเฟียร์ แต่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการทดสอบเทคโนโลยีบอลลูนเพดานบินสูงที่ StartRocket วางแผนจะดำเนินการในเดือนเมษายน โดยจะมีการร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Skolkovo ของรัสเซีย ซึ่งรู้จักกันดีในชื่อ Skoltech

สำหรับ StartRocket นั้นเป็นบริษัทน้องใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา และยังไม่ได้สิทธิ์ใช้งานดาวเทียมใด ในวงโคจร เรื่องราวของ StartRocket จึงไม่ชัดเจนทั้งในแง่เงินทุนและเทคโนโลยีที่จำเป็นในการขยายธุรกิจ ซึ่ง StartRocket แจ้งในเอกสารว่ากำลังดำเนินการเพื่อระดมทุนรอบใหม่มูลค่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ไม่ใช่เรื่องใหม่

แนวคิดการยิงโฆษณาจากอวกาศในลักษณะที่มองเห็นได้จากพื้นดินไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่ยังไม่เคยมีการดำเนินการใดมาก่อนหน้านี้ ครั้งนั้นบริษัทสัญชาติอเมริกันก็เริ่มจุดประกายแนวคิดนี้ในช่วงต้นปี 1990 ผ่านบริษัทชื่อ Space Marketing Inc. แต่แนวคิดทั้งหมดก็ถูกคัดค้านและไม่มีการสานต่อนับตั้งแต่นั้น

ตามกฎหมายของหลายประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกา นั้นมีการจำกัดไม่ให้มีการโฆษณาในอวกาศที่ล่วงล้ำซึ่งหมายถึงการโฆษณาในอวกาศที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้โดยไม่ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีอื่น ที่ผ่านมา แบรนด์จึงทำได้เพียงติดโลโก้ไว้ด้านข้างของจรวด หรือสถานีฐานสำหรับปล่อยตัว รวมถึงยานอวกาศ

การบัญญัติกฎที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาบนอวกาศนั้นถือเป็นการป้องกันการก่อกวนของท้องฟ้ายามค่ำคืน ซึ่งแม้แต่กรณีของดาวเทียม นักดาราศาสตร์ยังว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่มนุษยชาติต้องควบคุมให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแง่ลบตามมาแบบไม่ทันตั้งตัว.

ที่มา