รถยิ่งติดยิ่งทำเงิน! สตาร์ทอัพญี่ปุ่นลุยโฆษณาเคลื่อนที่ในไทย รับสมัครเจ้าของรถ ปั้นรายได้ 3-4 พัน/เดือน

การเป็นเจ้าของรถยนต์สักคัน แม้เป็นทรัพย์สินที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แต่ก็มาพร้อมกับภาระค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน ดังนั้นก็น่าจะดีหากรถยนต์สามารถช่วย “สร้างรายได้” อีกทาง และหากมาจากการขับขี่รถยนต์ปกติในชีวิตประจำวัน ก็ยิ่งง่ายขึ้น   

ปัจจุบันต้องบอกว่า เจ้าของรถยนต์มีมุมมองที่เปิดกว้างมากขึ้น ในการนำ “รถยนต์” มาหารายได้ ที่เห็นหลักๆ ก็มาจากการขับ Grab Car การปล่อยให้เช่า การรับส่งของ การแปะโฆษณาบนตัวรถยนต์

คาซูกิ คามิยะ ผู้ก่อตั้ง บริษัท แฟลร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ก่อตั้งในประเทศญี่ปุ่น แต่เริ่มทำธุรกิจในไทยเป็นประเทศแรก มองโอกาสจากสภาพการจราจรที่ติดขัดในเมืองใหญ่ รวมทั้งกรุงเทพฯ ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกิดความเครียดในการเดินทาง เขาจึงต้องการเปลี่ยนพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับผู้ขับรถยนต์ เพื่อสร้างรายได้จากการเป็น “สื่อเคลื่อนที่” บนท้องถนน จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Flare ธุรกิจสื่อโฆษณาเคลื่อนที่ติดรถ

คาซูกิ คามิยะ ผู้ก่อตั้ง บริษัท แฟลร์ (ไทยแลนด์) จำกัด

แปะโฆษณามีรายได้ 3-4 พันบาท/เดือน

ในฝั่งของเจ้าของรถไม่ว่าจะเป็น รถเก๋ง รถบรรทุก รถบัสโดยสาร มอเตอร์ไซค์ แอป Flare เปิดให้รถส่วนตัวเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกลงทะเบียนผ่านแอป จากนั้นจะเก็บข้อมูลเส้นทางที่ผู้สมัครใช้เดินทางในชีวิตประจำวันเป็นเวลา 1 เดือน หากผ่านหลักเกณฑ์จะได้เข้าเป็นสมาชิกกับแอป Flare

จากนั้นมีสินค้าสนใจลงโฆษณา โดยเลือกประเภทรถ สีรถ และเส้นทาง ตรงกับสมาชิกรายใด แอปจะแจ้งให้เข้ามารับงานแปะโฆษณาบนตัวรถยนต์ ซึ่งมีทั้งโฆษณาทั้งคัน ด้านข้าง และด้านหลัง โดยเจ้าของรถสามารถปฏิเสธงานได้ หากไม่ชอบชิ้นงานหรือสีของโฆษณา รถที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงโฆษณาคือ แฮทช์แบ็ก 5 ประตู

สำหรับรถที่ได้รับเลือกให้ติดชิ้นงานโฆษณาเรียบร้อยแล้ว ก็ขับขี่รถในเส้นทางที่ใช้ในชีวิตประจำวันปกติ ซึ่งหากเป็นคนทำงานออฟฟิศ ก็จะขับรถช่วงเช้าไปทำงานและเย็นกลับบ้าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รถติดอยู่แล้ว ซึ่งจะมีผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นสื่อโฆษณาจำนวนมาก รายได้ขึ้นอยู่กับความเร็วในการเคลื่อนตัวของรถ, สถานที่ที่ขับไปเป็นประจำ และช่วงเวลาในการขับ

แอป Flare จะเก็บข้อมูลของสมาชิกผู้ขับ เชื่อมโยงกับ API ของ google map ในการตรวจวัดว่ามีคนดูโฆษณาเท่าไหร่ ซึ่งจะแปลงเป็นรายได้ให้คนขับ ปกติเจ้าของรถจะขับวันละ 90-100 กิโลเมตร จะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 3,000-4,000 บาท แต่หากต้องการขับรถมากกว่าระยะทางเฉลี่ยเพื่อต้องการให้มีคนเห็นโฆษณาและมีรายได้มากขึ้น แอปได้กำหนดเพดานสูงสุดของระยะทาง เพื่อจ่ายรายได้สูงสุดไม่เกิน 6,000 บาทต่อเดือนต่อคันไว้เช่นกัน

รูปแบบธุรกิจของแอป Flare ทำให้สถานการณ์ที่ผู้ขับรถหงุดหงิดจากรถติดเปลี่ยนไป เพราะสามารถสร้างให้เกิดเป็นรายได้ จากสื่อโฆษณาเคลื่อนที่

ปีนี้วางเป้า 1 แสนคัน

หลังเปิดตัวแอป Flare ในเดือนกันยายน 2561 ปัจจุบันมีเจ้าของรถสมัครเป็นสมาชิกแล้ว 15,000 คัน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ เริ่มมีในต่างจังหวัด เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ โดยเป็นมอเตอร์ไซค์ 1,000 คัน รถคอนเทนเนอร์ 20 คัน ที่เหลือเป็นรถเก๋ง ปีนี้วางเป้าหมายเพิ่มเป็น 1 แสนคัน เปิดรับสมัครสมาชิกจากเจ้าของรถทั่วประเทศ

ปัจจุบันผู้ขับรถในแอป Flare เป็นเจ้าของรถยนต์ที่ขับ Grab Car ด้วยราว 20-30% ซึ่งเป็นการสมัครเข้ามาแบบรายบุคคล สำหรับสมาชิกกลุ่ม Grab Car หากมีผู้ลงโฆษณาเป็นแคมเปญเปิดตัวสินค้าใหม่ จะแจกสินค้าตัวอย่างให้ลูกค้าที่มาใช้บริการด้วย โดยหลังจากนี้บริษัทมองโอกาสร่วมเป็นพันธมิตรกับ Grab ประเทศไทย และเครือข่ายสื่อเคลื่อนที่อื่นๆ เช่น VGI ด้วยเช่นกัน

“เจ้าของรถยนต์ที่ขับ Grab Car และเป็นสมาชิกแอป Flare สามารถหารายได้จากรถยนต์ได้ 2 ทางทั้งการขับรถโดยสารและใช้รถเป็นสื่อโฆษณาเคลื่อนที่ เห็นได้ว่าแนวคิดการนำรถส่วนตัวมาหารายได้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น”

โฆษณาเคลื่อนที่บูม

ทางด้าน “ผู้ลงโฆษณา” สามารถเลือกประเภทรถ สีรถ สถานที่และเส้นทางที่ต้องการให้รถวิ่งที่กับตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยแอปสามารถแทรคกิ้ง (Tracking) ติดตามจำนวนคนเข้าถึงโฆษณาและวัดผลได้แบบเรียลไทม์

โดยแอป Flare จะวัดผล Impressions หรือจำนวนครั้งที่แสดงโฆษณาออกไป มาคำนวณ เฉลี่ยการมองเห็นอยู่ที่ประมาณ 20,000 คนต่อวันต่อคัน โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อสื่อโฆษณาเริ่มต้น 6,000 บาทต่อเดือน โดยมีแพ็กเกจโฆษณาแบบ 1 เดือน, 3 เดือน และ 6 เดือน สามารถเลือกโฆษณาตั้งแต่ 1 คัน, 50 คัน หรือ 100 คัน รวมทั้งทำเป็นรูปแบบคาราวานก็ได้

ปีนี้คาดการณ์สื่อโฆษณาเคลื่อนที่มีมูลค่า 14,000 ล้านบาท เติบโต 20% ถือเป็นโอกาสของแอป Flare ในการเข้ามาทำตลาดนี้ ปีที่ผ่านมามีลูกค้าในทุกธุรกิจทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ห้างสรรพสินค้า รถยนต์ กลุ่มเอสเอ็มอี โดยลูกค้าใช้สื่อโฆษณาแปะรถ มีทั้งเพื่อตอบโจทย์สร้างการรับรู้แบรนด์และแคมเปญโปรโมชั่น ปีที่ผ่านมาเปิดตัวช่วงไตรมาส 4 มีรายได้ประมาณ 5 ล้านบาท ปีนี้วางเป้าหมายเพิ่มขึ้น 10 เท่า หรือราว 50 ล้านบาท

โตโยต้า ทูโช ร่วมลงทุน 5%

อนุษฐา เชาว์วิศิษฐ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) กล่าวว่า บริษัทเห็นโอกาสการเติบโตขอ บริษัท แฟลร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นจากการพัฒนาแอปสื่อเคลื่อนที่ ดังนั้นจึงเข้ามาร่วมลงทุนถือหุ้น 5% ประมาณ 3 ล้านบาท และถือเป็นการเข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพครั้งแรกของโตโยต้า ทูโช เพื่อโอกาสการขยายธุรกิจด้านเทคโนโลยี ซึ่งแฟลร์จะพัฒนาเพิ่มเติมอีกในอนาคต

นอกจากนี้ โตโยต้า ทูโช จะใช้เครือข่ายรถขนส่งของบริษัทในเส้นทางต่างๆ ที่มีจำนวน 1,500 คัน ปัจจุบันใช้เป็นสื่อโฆษณาให้กับแอป Flare แล้ว 15-20 คัน โดยเฉพาะในเส้นทางตะวันออก และศึกษาโอกาสที่จะนำแอป Flare ไปขยายธุรกิจในต่างประเทศที่ โตโยต้า ทูโช เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน ที่มีปัญหารถติดเช่นกัน รวมทั้งในญี่ปุ่น

“มองว่าบิซิเนสโมเดลของแอป Flare ตอบโจทย์เจ้าของรถ ที่ต้องการใช้รถยนต์หารายได้จากโฆษณา ที่เป็นรูปแบบการหารายได้ที่ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับรูปแบบอื่น และน่าจะได้รับความสนใจจากเจ้าของรถที่เปิดกว้างในการใช้รถเป็นสื่อโฆษณา”