“วัตสัน” ลุยความงามเต็มสูบ! ยกเครื่องร้านใหม่ เติมเทคโนโลยี ตั้งเป้าเป็น “Mask Destination”

ทุกๆ 3-4 ปีวัตสันร้านเพื่อสุขภาพและความงามที่เข้ามาบุกเมืองไทยได้ 23 ปีแล้ว จะยกเครื่องรูปแบบของใหม่สักครั้งหนึ่ง หากการยกเครื่องในปี 2019 ซึ่งใช้ชื่อคอนเซ็ปต์ว่า “G8” หรือ Generation 8 พบว่า การเปลี่ยนแปลงหลักๆ มุ่งไปที่กลุ่มความงามมากกว่าสุขภาพ

การปรับตัวในครั้งนี้ไม่น่าแปลกใจมากนัก เพราะอย่างที่รู้จักผู้หญิงไทยไม่เคยหยุดสวย ตลาดความงามจึงไม่หยุดโตข้อมูลจาก ลอรีอัล อ้างอิง ยูโรมอนิเตอร์ ระบุว่า ตลาดความงามไทยปี 2561 มีมูลค่า 1.92 แสนล้านบาท เติบโต 7.3% โดยเซ็กเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดคือสกินแคร์คิดเป็นสัดส่วนกว่า 45%

ตัวเลขนี้สอดคล้องไปกับยอดขายของวัตสันสินค้า 2 กลุ่มหลักที่ขายดีคือสกินแคร์และเวชสำอางหากการเปลี่ยนมาใช้ฟอร์แมต G8 ที่มุ่งเจาะความงาม ไม่ได้หมายความว่า แค่เพิ่มพื้นที่ของสินค้าความงามเท่านั้น แต่ได้เติมเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไป เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคยุคดิจิทัล

ร้านแรกที่ถูกปรับปรุงอยู่ที่สยามสแควร์ ภายในมีโซนใหม่ๆ ทั้ง StyleMe เทคโนโลยีเสมือนจริง (ARที่สามารถให้บริการแต่งหน้าเสมือนจริง, TRY ME เทคโนโลยีแสดงสินค้าผ่านรูปแบบวิดีโอ รวมไปถึง Makeup Studio มุมแต่งหน้าและทดลองสินค้า กับมี Free WiFi ให้ใช้

ที่สำคัญมีการร่วมมือกับลอรีอัลในการเปิดช้อปอินช้อปภายในร้าน เบื้องต้นเป็นแบรนด์ Maybelline New York, มีจุดให้ชำระเงินด้วยต้นเอง และยังมีการปรับปรุงบริการใหม่ โดยแบ่งตะกร้าออกเป็น 2 สี เพื่อไม่ให้รบกวนลูกค้าที่ต้องการความเป็นส่วนตัว

สาขารูปแบบใหม่ได้เพิ่มพื้นที่เข้าไปด้วยจากเดิมเฉลี่ย 250 ตารางเมตร มาเป็น 400 – 500 ตารางเมตร โดยปี 2019 วางแผนเปิดทั้งหมด 50 สาขา แบ่งเป็นต่างจังหวัด 60% กรุงเทพฯ กับภาคกลาง 40% และจะมีการปรับโฉมทั้งหมด 75 สาขา

สำหรับสาขา G8 ได้เปิดไปแล้วที่ไอคอนสยาม, เดอะมอลล์ บางกะปิ และสยามสแควร์ ใช้งบลงทุนรวมทุกด้าน 630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%

การบุกความงามของวัตสันยังวางแผนที่จะเป็น “Mask Destination” เพราะในต่างประเทศมาสก์หน้าถือเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคใช้ทุกวัน แต่สำหรับเมืองไทยแม้ยอดขายจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คนทั่วไปก็ยังไม่ได้รู้จักมากนัก สิ่งที่วัตสันจะทำนอกเหนือจากการทำโปรโมชั่น การสื่อสารที่มากขึ้นแล้ว ยังจะให้ความรู้เรื่องมาร์คกับผู้บริโภคด้วย

ยังไม่หมดเท่านั้น วัตสันยังจะเพิ่มสินค้าตราวัตสัน (Own Brand)” มากด้วย เพราะอย่างที่รู้จักการเป็นสินค้า Own Brand ย่อมสามารถทำกับไรได้มากกว่าสินค้าที่รับมาขาย

โดยปีที่แล้วสินค้าตราวัตสันเติบโตขึ้นกว่า 20% และสำหรับปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่นวัฒนกรรมผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่นและเกาหลี คาดว่าจะเพิ่มอีก 150 SKU เมื่อถึงสิ้นปีจะทำให้มีทั้งหมด 900 SKU

นอกจากนั้นวัตสันยังให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์มากขึ้นด้วย ในปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 248% มีสินค้าที่ขายในนั้นมากกว่า 10,000 SKU โดยเป็นผลิตภัณฑ์พิเศษและผลิตภัณฑ์ที่เป็นยี่ห้อของวัตสันเองมากกว่า 3,000 SKU

สำหรับกลยุทธ์ในช่องทาออนไลน์ จะเพิ่มการสร้าง Engagement ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชั่น เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ การนำเสนอโปรโมชั่นพิเศษ

ในส่วนของสมาชิกวัตสันมีการเติบโตมากขึ้นถึงกว่า 5 ล้านคนในปีที่ผ่านมา โดยในปีที่แล้ววัตสันได้เปิดตัวโปรแกรมสมาชิก Watsons elite (สมาชิกระดับวีไอพีมากกว่า 14,000 บาทต่อปี

ขณะเดียวกันในปีที่ผ่านมาวัตสันยังได้แม่ทัพคนใหม่ชื่อว่าพสิษฐ์ มั่นคงขันติวงศ์ซึ่งทำงานกับวัตสันมากกว่า 15 ปีแล้ว โดยเดิมอยู่ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) ซึ่ง พสิษฐ์ บอกว่าในทางปฎิบัติมีอำนาจไม่ต่างจากร็อด เร้าท์ลี่ย์ผู้จัดการทั่วไปคนเก่ามากนัก

การขึ้นเป็นผู้จัดการทั่วไป วัตสัน ประเทศไทยพสิษฐ์บอกความท้าทายไว้ว่า

วัตสันต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าแบบไร้รอยต่อ (Seamless experience) ซึ่งหากเราไม่พัฒนาตัวเอง แล้วเกิดอะไรขึ้นเราไปโทษคนอื่นไม่ได้ เพราะตัวเองต้องปรับปรุงพัฒนาตลอดเวลามากกว่า

ปีที่ 2018 ที่ผ่านมาวัตสันมีเติบโต 2 ดิจิ สำหรับในปี 2019 ได้ตั้งเป้าเติบโตในระดับ 2 ดิจิเช่นเดียวกัน ซึ่งหากดูข้อมูลที่ บริษัท เซ็นทรัล วัตสัน จำกัด รายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะพบว่าเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยรายได้หลักหมื่นล้าน กำไรหลักพันล้านเช่นกัน

  • ปี 2556 รายได้รวม 9,012 ล้านบาท กำไร 881 ล้านบาท
  • ปี 2557 รายได้รวม 10,278 ล้านบาท กำไร 1,057 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้รวม 11,688 ล้านบาท กำไร 1,276 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้รวม 12,826 ล้านบาท กำไร 1,390 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้รวม 14,667 ล้านบาท กำไร 1,657 ล้านบาท

ปัจจุบันวัตสันมีสาขากว่า 7,200 ร้านค้า และร้านขายยากว่า 1,500 ร้านค้าใน 13 ตลาด ทั้งในเอเชียและยุโรป มี จีนฮ่องกงไต้หวันมาเก๊าสิงคโปร์ไทยมาเลเซียฟิลิปปินส์อินโดนีเซียเวียดนามตุรกียูเครน และรัสเซีย