บนเส้นทางธุรกิจทีวีดิจิทัลของ “พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” หรือ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” นับตั้งแต่ชนะประมูลปลายปี 2556 จำนวน 2 ช่อง “ไทยทีวีและโลก้า” มูลค่ารวม 1,976 ล้านบาท เป็นรายแรกที่บอกเลิกประกอบกิจการทีวีดิจิทัล หลังผ่านไป 1 ปีของสัญญา 15 ปี นำไปสู่คดีฟ้องร้อง กสทช. และชนะคดีที่ศาลปกครองกลาง
ในวันที่มีคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ออกมาแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล โดยยกเว้นการจ่ายเงินค่าประมูลงวดสุดท้ายและค่าเช่าโครงข่ายตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลือ พร้อมเปิดโอกาสให้ “คืนช่อง” มาถึงวันนี้ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ก็ยังมีความเคลื่อนไหวกับธุรกิจทีวีดิจิทัลเช่นเดิม โดยเปิดบ้านซอยลาดพร้าว 101 เพื่อให้มุมมองมาตรา 44 ในการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล
แม้จะมีคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เปิดทางให้ทีวีดิจิทัล “คืนช่อง” ได้ในวันนี้ แต่ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ก็ย้ำว่า “การตัดสินใจเลิกประกอบกิจการทีวีดิจิทัลรายแรก ปล่อยให้จอดำในปี 2558 ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ถูกต้อง เป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ตัดสินใจเรื่องใหญ่และตัดสินใจได้ถูกต้องว่าต้องยุติเลือดออก เพราะเห็นแล้วว่าการเข้าไปขอความช่วยเหลือจาก กสทช. ในช่วงนั้นไม่ได้รับการตอบสนอง”
ต้องบอกว่าการเข้ามาประมูลทีวีดิจิทัลในปลายปี 2556 เป็นความฝันของคนทำคอนเทนต์ที่ต้องการมีสถานีเป็นของตัวเอง เพื่อไม่ต้องเช่าเวลาฟรีทีวีที่ปรับเปลี่ยนผังรายการทุกปีและรายการที่ทำก็อาจหลุดผังได้
ก่อนประมูลทีวีดิจิทัล “ทีวีพูล” เป็นผู้นำข่าวบันเทิงทั้งรายการทีวีและนิตยสารบันเทิง มีรายได้สูงสุด 900 ล้านบาท มีพนักงาน 500 คน นิตยสารทีวีพูล ยอดขายสัปดาห์ละ 3 แสนฉบับ จ่ายค่ากระดาษเดือนละ 30 ล้านบาท
ในวันที่ทำทีวีดิจิทัล เพียงปีแรกทุกอย่างผิดแผน ไม่มีรายได้เข้ามา มีแต่รายจ่าย “เราอยู่ในภาวะเลือดสาดและต้องหยุดเลือด ด้วยการขอเลิกประกอบกิจการ”
เจ๊ติ๋ม บอกว่าในวันที่ทำทีวีดิจิทัล ต้องขายบ้านที่สหรัฐอเมริกา 4 หลัง บ้านที่อังกฤษ 1 หลัง บ้านที่คู้บอน 1 หลัง เพื่อนำเงินมาใช้ลงทุนทีวีดิจิทัล
มาถึงวันนี้ ทีวีพูลเป็นผู้ผลิตรายการข่าวบันเทิงให้ช่อง 5 และสปริง 26 ทำสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และนิตยสาร มีรายได้ปีละ 40 ล้านบาท มีพนักงาน 40 คน นิตยสารทีวีพูลปรับจากรายสัปดาห์เป็นรายเดือน มียอดขายหลัก “หมื่นเล่ม” ต่อเดือน
วันนี้ยังรอคอยการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ที่อุทธรณ์คดีเพื่อขอให้ กสทช.จ่ายค่าเสียหายให้ ไทยทีวี ที่ดำเนินการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลผิดพลาด รวมมูลค่า 1,134 ล้านบาท โดยใช้มาตรา 391 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
หวังประโยชน์ “ทางอ้อม” มาตรา 44
ปัจจุบันการใช้คำสั่ง คสช. มาตรา 44 มาแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล ไทยทีวีไม่ได้เสียดายในจุดนี้ และ “ต้องถือว่า กสทช.แมนมากที่ออกมายอมรับผิด และเป็นซูเปอร์ฮีโร่สำหรับทุกคนในวงการสื่อ และเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อทำผิดก็ออกมารับผิดชอบและแก้ไขสถานการณ์ แต่ต้องแก้ให้เร็ว จะมีประโยชน์มากหากช่องบอกเลือกจำนวนมาก และเหลือ 10 – 15 ช่อง เพราะหากเหลือมาก เลือดจะสาดเหมือนเดิม เพราะเงินโฆษณาทีวีมี 70,000 ล้านบาทเท่าเดิม”
คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลังจาก “เลือดออก” และลำบากมาก มาตลอด 5 ปี
“เมื่อได้ยินเรื่องมาตรา 44 ด้วยความที่พี่เป็นคนแอคทีฟทุกเรื่องอยู่แล้ว จึงต้องการรู้ว่า ไทยทีวีจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน จึงได้ทำหนังสือถามไปยังสำนักงาน กสทช.”
จากการหารือก็รู้ว่า มาตรา 44 ให้สิทธิเฉพาะผู้ถือใบอนุญาตเท่านั้น และไทยทีวีไม่อยู่ในเงื่อนไข เพราะได้ยกเลิกใบอนุญาตไปแล้ว และไทยทีวีจะไม่ฉวยโอกาส เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้สิทธิ
แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไป เรื่องมาตรา 44 มีประโยชน์กับไทยทีวีหรือไม่ ซึ่ง “ทางตรง” ต้องบอกว่าไม่มีประโยชน์ แต่ “ทางอ้อม” สามารถใช้หลักเกณฑ์ที่คณะทำงานที่กำลังพิจารณาค่าชดเชยให้กับทีวีดิจิทัลที่ต้องการ “คืนช่อง” มาเทียบเคียงกับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับไทยทีวีได้
สิ่งที่ต้องการรู้คือ “สูตรชดเชย” การคืนช่อง ที่จะออกมาช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 แต่หากคืนช่อง คาดว่าจะได้เงินหลังประมูล 5 จี เดือนมิถุนายน 2563 ด้วยระยะเวลาที่นานดังกล่าว เชื่อว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเริ่มลังเล เพราะไม่รู้ว่าจะได้เงินชดเชยเท่าไหร่แน่
ขณะที่หากต้องยื่นใช้สิทธิคืนช่องในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ เมื่อประกาศออกไปแบบนั้นก็เท่ากับเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง เพราะลูกค้าที่ลงโฆษณาก็จะไม่มั่นใจ พนักงานก็ระส่ำ เจ้าหนี้ก็จะรีบมาทวงหนี้ทันที เหมือนตอนที่ไทยทีวีคืนไลเซ่นส์เจ้าหนี้ต่างเข้ามาทวงหนี้
สถานการณ์ดังกล่าวจากเดิมที่มีคนสนใจจะคืน 5 ช่อง เมื่อหลักเกณฑ์จ่ายชดเชยยังไม่ออกมา พบว่าอาจมีทีวีดิจิทัลคืนเพียง 3 ช่องเท่านั้น
การที่จะให้ทีวีดิจิทัลคืนช่อง กสทช.จะต้องจูงใจให้คืนช่อง ด้วยเงินชดเชยที่พอจะให้ไปทำธุรกิจต่อได้ โดยน่าจะจ่ายที่สัดส่วน 50% ของงบประมาณที่ใช้ในการลงทุนแต่ละปี หรืองบเงินสด ถือเป็นการแบกรับภาระกันคนละครึ่งทาง และควรจ่ายเงินให้เร็ว โดยใช้เงินกองทุน กทปส. มาจ่ายล่วงหน้า
เปิดทาง กสทช. ไกล่เกลี่ยค่าเสียหายไทยทีวี
เจ๊ติ๋ม มองว่าหากมีทีวีดิจิทัลคืนช่องไม่มากและ กสทช.จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ประมูล 5 จี ซึ่งอาจไม่พอเพราะช่องคืนน้อย กสทช.สามารถมาเจรจาไกล่เกลี่ยโดยใช้คลื่นฯ 2 ช่อง ของไทยทีวีและโลก้าที่คืนไลเซ่นส์ไปแล้ว แต่ยังมีคดีฟ้องร้องค่าเสียหายที่ศาลปกครองสูงสุด โดยใช้มาตรา 44 เทียบเคียงในการกำหนดค่าเสียหายที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับไทยทีวีได้
กรณีไทยทีวี ใช้มาตรา 391 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาพิจารณาค่าเสียหาย จากการผิดสัญญาและยกเลิก จะต้องจ่ายค่าเสียหายเต็มจำนวน หาก กสทช.ไกล่เกลี่ย ไทยทีวี ต้องได้รับความเสียหายเต็ม 100% ซึ่งเป็นคนละกรณีกับมาตรา 44 ที่คณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์ชดเชย
โดยการไกล่เกลี่ยจะยึดจำนวนเงินเดียวกับที่อุทธรณ์เรียกค่าเสียหายจาก กสทช. ที่ศาลปกครองสูงสุด จำนวน 1,134 ล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวคิดมาจากไทยทีวี การใช้คลื่นฯ ไปรวมเวลา 1 ปี 4 เดือน คิดเป็นมูลค่า 188 ล้านบาท สูตรคิด คือ เงินค่าประมูลทีวีดิจิทัล 2 ช่อง มูลค่า 1,976 ล้านบาท บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% รวมเป็นมูลค่า 2,114 ล้านบาท หารด้วยระยะเวลา 15 ปี เท่ากับปีละ 140 ล้านบาท ระยะเวลาใช้คลื่นฯ 1 ปี 4 เดือน เท่ากับมูลค่า 188 ล้านบาท โดยไทยทีวีและโลก้า จ่ายเงินงวดแรกไปแล้ว 365 ล้านบาท ดังนั้นต้องได้เงินคืนอีก 177 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีค่าเสียหายจากการดำเนินงานในการทำทีวีดิจิทัลหรืองบบัญชีเงินสด จากการลงทุนคอนเทนต์ ผลิตละคร 12 เรื่อง ซื้อลิขสิทธิ์รายการต่างประเทศ การสร้างสตูดิโอ เงินเดือนพนักงาน รวมจำนวน 750 ล้านบาท เป็นเงิน 927 ล้านบาท และดอกเบี้ยอีก 6.5% จำนวน 206 ล้านบาท รวมเป็นเป็น 1,134 ล้านบาท
การออกมาเปิดบ้านให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์เรื่องทีวีดิจิทัลของ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” หลังจากหายไปเกือบ 5 ปี ก็เพื่อจะบอกว่า มาตรา 44 ไทยทีวีอาจได้ประโยชน์ทางอ้อม จากการเปิดไกล่เกลี่ยค่าเสียหายของ กสทช. โดยไม่ต้องรออุทธรณ์คดีที่ศาล
เจ๊ติ๋มย้ำว่า ในวัย 64 ปี วันนี้หากได้เงินค่าเสียหายจะไปลงทุนสตาร์ทอัพ ทำสมุนไพร แจกจ่ายคนรายได้น้อย และสร้างงานให้คนรุ่นใหม่อีกด้วย