จับตา ทีวีเรตติ้ง MRDA VS นีลเส็น กสทช.จะเลือกใคร

มาตรการปลดล็อกทีวีดิจิทัล ตามคำสั่ง คสช.ล่าสุดนั้น ประเด็นการจัดสรรเงิน 431 ล้านบาท ค่าทำเรตติ้งทีวีดิจิทัล เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองมากว่า กสทช.จะจัดสรรอย่างไรให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุดกับวงการทีวีดิจิทัลทั้งระบบได้อย่างแท้จริง

ที่สำคัญการตัดสินของ กสทช.จะทำให้ธุรกิจการวัดเรตติ้งพลิกโฉมหน้าไปด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องน่าติดตาม

ปัจจุบันระบบการจัดทำเรตติ้งของฟรีทีวีทั้งระบบ มีนีลเส็นเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว มาตั้งแต่ปี 2515 เริ่มต้นในชื่อบริษัท ดีมาร์ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น “นีลเส็น” เมื่อปี 2541

จากที่มีการวัดเรตติ้งฟรีทีวีอยู่เพียงรายเดียวเป็นเวลานาน ทำให้เกิดมีคำถามว่า ระบบการวัดเรตติ้งมีความแม่นยำมากน้อยขนาดไหน ในช่วงที่ฟรีทีวีในประเทศที่มีเพียงแค่ 6 ช่อง นีลเส็นถูกตั้งคำถามจากช่อง 3 มาตลอด และไม่ยอมรับในผลเรตติ้งที่ออกมา เพราะรู้สึกว่าไม่ตรงกับกระแสของคนดู จนนำไปสู่การตัดสินใจไม่ซื้อเรตติ้งของนีลเส็นอยู่หลายปี และเป็นที่มาของความพยายามในการหาผู้วัดเรตติ้งรายใหม่

ไอทีวี เองก็เคยพยายามหาผู้วัดเรตติ้งรายใหม่มาแข่งขันกับนีลเส็น ถึงกับพาสื่อมวลชนไปดูติดตั้งกล่องที่ใช้วัดผลถึงบ้านกลุ่มตัวอย่าง จนในปี 2546 มีการรวมตัวในกลุ่มคนวงการโฆษณา ทีวี และผู้ผลิตรายการทีวี ในนาม คณะกรรมการร่วมอุตสาหกรรมโฆษณา Joint Industry Committee (JIC) เปิดประมูลผู้ทำเรตติ้งรายใหม่ แต่ก็ได้ นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ซ รายเดิม แต่ใช้ชื่อใหม่กลับเข้ามาอีกครั้ง

ในปี 2558 สมาคมมีเดียเอเจนซี่และธุรกิจสื่อในประเทศไทย (MAAT) ต้องการให้มีการวัดเรตติ้งขึ้นใหม่ จากการที่มีทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้น และรองรับการชมแบบมัลติสกรี จึงจัดตั้งหน่วยงาน Media Research Bereau ( MRB) ที่ภายหลังเปลี่ยนเป็นสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (MRDA) เพื่อเปิดประมูลจัดทำเรตติ้ง โดยมี 3 บริษัทเข้าร่วม คือ จีเอฟเค, วีดีโอ รีเสิร์ช และกันตาร์ มีเดีย โดย “กันตาร์ มีเดีย” เป็นผู้ชนะประมูล

แม้จะได้ผู้ชนะมา แต่ช่องทีวีอย่างช่อง 7 และช่อง 8 ไม่อนุมัติเข้าร่วมซื้อเรตติ้งใหม่ ต้องการใช้เรตติ้งของนีลเส็นต่อไป

นอกจากนี้ การประมูลในครั้งนั้น “นีลเส็น” ไม่ได้เข้าร่วมด้วย โดยมีกระแสข่าวว่าเป็นเพราะ  MAAT ได้กำหนดเงื่อนไขว่า หากนีลเส็นแพ้ประมูล จะต้องยอมออกจากธุรกิจนี้จากประเทศไทยทันที เพราะ MAAT ต้องการให้มีระบบการวัดเรตติ้งในประเทศไทยเพียงรายเดียวเช่นกัน

แต่ในที่สุด MRDA ได้ยกเลิกสัญญาที่ทำกับกันตาร์ มีเดียเพราะหาสมาชิกลงขันร่วมจ่ายเงินไม่ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งยังเจอปัญหาที่ กสทช.ไม่สามารถจัดสรรเงินกองทุน กสทช.มาจัดสรรให้ได้ตามที่มีการร้องขอ กสทช.ให้เหตุผลว่า การทำทีวีเรตติ้ง ไม่ได้เป็นไปตามวัตุประสงค์การใช้จ่ายเงินของกองทุน เนื่องจากเป็นการดำเนินการของภาคเอกชน

แต่แล้วความหวังของ MRDA ก็ถูกจุดประกายขึ้นอีกครั้ง หลังจากคำสั่ง คสช. ปลดล็อกทีวีดิจิทัล พร้อมกับมีมติให้จัดสรรเงิน 431 ล้านบาท ค่าทำเรตติ้งทีวีดิจิทัล เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองมากว่า กสทช.จะจัดสรรอย่างไรให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ากับบวงการทีวีดิจิทัลทั้งระบบได้อย่างแท้จริง

โดย กสทช.ได้ตั้ง คณะทำงานขึ้นมา ให้มีหน้าที่ศึกษาและพิจารณาจัดสรรเงิน ตลอดจนดำเนินการใดๆ เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรกลางเกี่ยวกับการสำรวจเรตติ้ง โดยเป็นการนำเงินจากกองทุน กสทช.มาจ่ายให้ตามคำสั่ง คสช. และ กสทช.จะร่วมมือกับ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) ในการจัดสรรงบดังกล่าว

ทำให้ MRDA ที่ได้เคยทำข้อเสนอถึง กสทช.ของบประมาณ 431 ล้านบาทในการทำเรตติ้งรายใหม่ของประเทศ จึงกลายเป็น “ตัวเต็ง” ที่คาดว่าได้รับเงินสนับสนุน เพราะผลักดันเรื่องนี้มานาน ซึ่ง MRDA ก็ได้เตรียมในการเดินหน้าคัดเลือกผู้ที่จะมาทำหน้าที่วัดเรตติ้งแล้ว

แต่คณะทำงานยังไม่ได้สรุปว่าจะจัดสรรเงินอย่างไร เพราะมีหลายวิธี ตั้งแต่ กสทช.จัดสรรงบให้ MRDA โดยตรง, หรือ อนุมัติเงินให้กับสมาคมทีวีดิจิทัลในฐานะคนกลาง ไปทำการจัดสรรเอง หรือจัดเปิดประกวดราคา เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด และสุ่มเสี่ยงน้อยสุด

หรืออาจเปิดให้มีผู้จัดทำเรตติ้งมากกว่า 1 ราย เพราะในประเทศ อาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย และในระดับเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ที่มีผู้ทำเรตติ้งมากกว่า 1 ราย ข้อดี คือ เกิดการเปรียบเทียบ ดังนั้น ต่างฝ่ายต้องสร้างจุดเด่นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานให้มากที่สุด แต่ข้อเสีย หากเรตติ้งทั้งสองระบบมีความแตกต่างกันมาก เปรียบได้กับการที่ประเทศมีระบบเงินตรา 2 หน่วย อาจจะเกิดความโกลาหลให้มีการทุ่มเถียงไม่น้อยในวงการทีวี

ในแวดวงทีวีดิจิทัล มองว่า ข้อมูลเรตติ้งมีความสำคัญต่อทั้งอุตสาหกรรมทีวี เอเจนซี่โฆษณา เจ้าของสินค้าทั้งระบบ ด้วยมูลค่าโฆษณาทางทีวีกว่าปีละ 6 หมื่นล้านบาท ที่ใช้อ้างอิงกันทั้งวงการ ทำอย่างไรให้มั่นใจได้ว่า จะได้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นตัวจริงและมีความเที่ยงธรรม มาจัดทำระบบและออกมาเป็นข้อมูลที่เป็นมาตรฐานให้กับทั้งวงการด้วย

ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายหนึ่งให้ความเห็นว่า หากล้มระบบเดิม สร้างระบบใหม่ เท่ากับว่า ฐานข้อมูลในอดีตทั้งหมด อาจจะนำมาใช้ประเมินผลงานรายการทีวีต่างๆ ที่กำลังออกอากาศไม่ได้อีกต่อไป ทุกอย่างต้องเริ่มใหม่หมด และจะมั่นใจได้อย่างไรว่ารายใหม่จะทำได้ดีกว่ารายเดิม

แต่หากเลือกใช้รายเดิม นีลเส็นเองก็ต้องปรับตัวให้ทันกับข้อเรียกร้อง ทั้งการเพิ่มกลุ่มตัวอย่าง และต้องรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคดูแบบมัลติสกรีนซึ่งต้องใช้กลุ่มตัวอย่างเดียวกันทั้งทีวีและออนไลน์ (Single Source) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับคณะทำงานของ กสทช. จะมีแนวทางในการจัดสรรเงินอย่างไร

การวัดเรตติ้งของไทยจะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน จะเปลี่ยนจาก นีลเส็น ที่ผูกขาดธุรกิจนี้มากเกือบ 40 ปี หรือจะไปอยู่ในมือรายใหม่ MRDA หรือจะได้ทำทั้งสองราย ต้องติดตาม.