จากจุดเริ่มต้นการประกาศหาคนมาทำงานให้กับ LINE Thailand ผ่าน LINE CAREER ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำการตลาดอะไรเลย กลับมีคนมาติดตามถึง 1 ล้านคน ปิ๊งไอเดียต่อยอดเกิดเป็น LINE JOBS แพลตฟอร์มการหางานผ่าน LINE จนวันนี้มีอายุครบ 1 ขวบแล้ว
น้องใหม่ในตลาดเข้ามาด้วยจุดแข็งผู้ใช้งานราว 44 ล้าน User ในระบบของ LINE โดยร่วมมือกับ S coutOut start-up ด้าน recruitment พัฒนาระบบ ก่อนจะชูจุดเด่น เน้นการงานจากโลเคชั่นรอบๆ ตัว แนะนำงานจากความสนใจและประสบการณ์ที่มี สุดท้ายคุยกันได้เลยไม่ต้องโทรอีกให้ยุ่งยาก
เจาะตลาดแรงงานสำหรับกลุ่มปฏิบัติการหรือ semi-skilled อาทิ อาชีพงานแรงงานทั่วไป แรงงานด้านการผลิต พนักงานบริการ พนักงานขาย เสมียน เจ้าหน้าที่ทั่วไป ที่ถือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีสัดส่วนถึง 42% ของตลาดแรงงานไทยทั้งหมด
และยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราการลาออกสูงถึง 30 – 300% ต่อปี จึงเป็นกลุ่มแรงงานที่ผู้จ้างงานต้องหาลูกจ้างมาเติมในธุรกิจอยู่ตลอดเวลา และยังไม่มีแพลตฟอร์มหางานใดที่เข้ามาจับตลาดในกลุ่มนี้อย่างจริงจัง
ขวบปีผ่านไปประสบความสำเร็จเกินคาด มีผู้ติดตามในระบบกว่า 7 ล้านคน มีงานที่เปิดรับสมัครใน LINE JOBS แล้วมากกว่า 390,000 อัตรา สถิติการกดสมัครเร็วสุด “22 วินาที” หลังลงประกาศ
มีผู้จ้างงานกว่า 18,000 บริษัท นี่คือตัวเลข Activ User ที่ยอมจ่ายเงินโดยมีแพ็กถูกสุด 750 – 29,500 บาท และพบว่ามีผู้ส่งใบสมัครงานกว่า 1 ล้านใบสมัคร โดยมีการเรียกสัมภาษณ์งานกว่า 200,000 ครั้ง
LINE JOBS ยกตัวอย่างบริษัทที่ใช้แล้วปลื้ม Skootar ได้พนักงานส่งพัสดุ 2,000 คน ด้วยการระบุที่ตั้งสาขา, Major มีการติดต่อกับผู้สมัครกว่า 20,000 คน ภายในระยะเวลา 2 เดือน, Markro ใช้หาพนักงาน 125 สาขาทั่วไทย และ CRG พนักงานใหม่ราว 40% ในปีที่ผ่านมาหาได้ในนี้
เมื่อมองลึกเข้าไปยังกลุ่มผู้หางานใน LINE JOBS พบเป็นหญิง 68% ชาย 32% อยู่ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 22 ปี 25% อายุ 22 – 30 ปี 45% อายุ 30-40 ปี 22% อายุ 40 ปีขึ้นไป 8% ระดับการศึกษา 38% ปริญาตรี รองลงมามัยธยมปลาย 27% และ ปวช. ปวส. 15% และปริญญาโท 1% ที่เหลือต่ำกว่ามัยธยมปลาย
งานบริการร้านอาหารและเครื่องดื่มคือ 3 ประเภทงานที่นิยมสูงสุด โดยเงินเดือนในระบบเฉลี่ย 14,000 บาท/เดือน สูงสุดผู้จัดการแผนกบัญชี 80,000 บาท/เดือน ส่วนใหญ่ 85% จ้างงานแบบประจำ อีก 15% งานพาร์ตไทม์ 15%
กรุงเทพ นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี และเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีผู้สมัครหางานมากที่สุด โดยบัญชี ธุรการ Part-time เป็น 3 อันดับคำที่ผู้สมัครค้นงานมากที่สุดเกี่ยวกับงาน ส่วนประเภทธุรกิจ ได้แก่ ร้านอาหาร ร้านค้า ที่พักและโรงแรม
ธนิยา ตรัยวัฒนา หัวหน้าธุรกิจ LINE JOBS กล่าวว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงของการเรียนรู้ เพราะนี่คือธุรกิจใหม่ในเมืองไทย อีกทั้งเป็นตลาดที่ LINE ยังไม่เคยทำมาก่อน ที่สำคัญประเภทงานส่วนใหญ่เป็นออฟไลน์ซึ่งไม่ใช่สายที่ถนัดงานมาก เวลาที่ผ่านมาจึงต้องเรียนรู้ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ
สำหรับในปี 2019 LINE JOBS ตั้งเป้าจำนวนผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน โดยคาดว่าจะมีผู้ส่งใบสมัครไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านใบสมัคร และจะมีการเรียกสัมภาษณ์งานไม่น้อยกว่า 240,000 ครั้ง โดยตั้งเป้าอัตราการเพิ่มขึ้นของใบสมัครและจำนวนการถูกสัมภาษณ์ผ่านทาง LINE JOBS ไม่ต่ำกว่า 40%
อีกทั้งยังต้องการขยายฐานการใช้งานไปทั่วประเทศจึงได้ปรับปรุงระบบใหม่ เพิ่มประเภทงานจาก 8 เป็น 22 ประเภทงาน เพิ่มประเภทธุรกิจ จาก 6 เป็น 40 ประเภทธุรกิจเพิ่มประเภทงานสัญญาจ้าง และสามารถเลือกประเภทการจ่ายค่าจ้างได้
“ความท้าทายสำหรับ LINE JOBS ในวันนี้คือบริษัทส่วนใหญ่คิดว่าแพง เราจึงต้องเร่งสื่อสารว่าไม่ได้แพงอย่างที่คิด เมื่อเทียบกับรายอื่นๆ ราคายังถือว่าถูกกว่ามาก แต่ทั้งนี้ต้องดูจังหวะด้วย เพราะตลาด HR ต้องอยู่ที่ความต้องการด้วย ไม่เหมือนกับขายของทั่วไปที่ออกโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคซื้อไว้ก่อนได้”
อย่างไรก็ตาม LINE JOBS ไม่ได้มีแห่งเดียว ในอินโดนีเชียใช้ชื่อ LINE JOBS เหมือนกัน แต่เน้นขายโฆษณา ส่วนในไทยรายได้หลักยังมาจากค่าบริการ ส่วนการหารายได้จากโฆษณากำลังอยู่ในระหว่างการวางแผน