แฟรนไชส์ค้าปลีกเนื้อหอม กสิกรไทยเตรียมปล่อยกู้อีก 10 แบรนด์

ธุรกิจแฟรนไชส์จัดเป็นสินเชื่อที่แบงก์กสิกรประเมินแล้วว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” (NPL) หรือเรียกง่ายๆ ว่าหนี้เสียต่ำมาก แทบจะไม่มีเลย เพราะก่อนจะมากู้กับธนาคาร เจ้าของแฟรนไชส์ต้องคัดเลือกมาแล้วในระดับหนึ่ง ทำให้เวลานี้มีเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ที่เคแบงก์กำลังเจรจาอยู่ไม่น้อยกว่า 10 ราย

โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจอาหาร ธุรกิจเครื่องดื่ม และธุรกิจบริการ ที่มีแนวโน้มเติบโตมากกว่าธุรกิจอื่น และอยู่ใน 3 แนวทางหรือเทรนด์ที่กำลังมาแรงตามสภาพแวดล้อมทางสังคมและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ คือ

1. แฟรนไชส์ที่ตอบสนองเทรนด์สังคมสูงวัย (Aging Society) ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจของแฟรนไชส์ เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ บริการด้านขนส่งและการเดินทาง บริการทัวร์ผู้สูงอายุ บริการดูแลสัตว์เลี้ยง ธุรกิจซักอบรีด ฯลฯ

2. แฟรนไชส์ที่ตอบสนองคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนและกำลังซื้อมากขึ้น มีพฤติกรรมเร่งรีบ ใช้เทคโนโลยีซื้อสินค้าและบริการ ใช้เวลากับกิจกรรมอื่นนอกจากงานที่ทำ เช่น กีฬา ท่องเที่ยว ฯลฯ และยังต้องการเรียนรู้ทักษะต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงาน ซึ่งแฟรนไชส์ที่เหมาะกับกลุ่มนี้ เช่น การดูแลและบำรุงรักษารถ แฟรนไชส์ซักอบรีด แฟรนไชส์ส่งอาหารและสินค้าเดลิเวอรี่ และแฟรนไชส์ด้านพัฒนาทักษะต่างๆ เช่น ภาษา ศิลปะ กีฬา เทคโนโลยี ฯลฯ 

และ 3. แฟรนไชส์ที่อิงกับ E-Commerce ในยุคการเติบโตของการค้าออนไลน์ ที่ส่งผลให้ความต้องการธุรกิจสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องมีเพิ่มขึ้น เช่น ไปรษณีย์ รับบรรจุขนส่งพัสดุ

สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมแนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10% ในปี 2561 มีมูลค่าตลาด 2.3 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.5 แสนล้านบาท ในปี 2562 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 543 ราย เป็น 571 ราย

ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าว่า สินเชื่อใหม่ของธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2562 อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกปล่อยกู้ไปแล้ว 350 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อคงค้าง 2,530 ล้านบาท เติบโต 5.5% จากปี 2561 และคาดว่าภายสิ้นปีนี้จะมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 2,700 ล้านบาท เติบโต 6%

ปัจจุบันเคแบงก์มีแฟรนไชส์ 60 แบรนด์ เช่น การปล่อยสินเชื่อให้กับร้านอาหารในเครือไมเนอร์ ฟู้ด คือ พิซซ่าฮัท ร้านไอศกรีมสเวนเซ่นส์ และร้านไอศกรีมแดรี่ควีน และคาดว่าภายในปีนี้จะเพิ่มอีก 10 แบรนด์

เคแบงก์สนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ ไทร์พลัสธุรกิจบริการดูแลรถยนต์ครบวงจรแบบควิกเซอร์วิส หรือ fast fit ของมิชลิน โดยใช้ Full Solution Service มาสร้างความทันสมัยและมาตรฐานให้กับศูนย์บริการไทร์พลัส เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้ โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว

ธุรกิจฟาสต์ฟิตเติบโตและเป็นโอกาสเหมาะให้เคแบงก์ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจนี้ในตอนนี้ ปัจจัยแรก มาจาก การเติบโตของตลาดรถยนต์ ในประเทศไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะทำให้มีปริมาณรถอยู่ถึง 10 ล้านคัน

อีกปัจจัย คือ การขยายตัวของชุมชนออกไปอยู่รอบนอกเมืองมากขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปมีการมองหาประสบการณ์ที่ดีจากการใช้สินค้าหรือบริการ จึงเลือกใช้บริการที่ได้คุณภาพมาตรฐานมากกว่าสร้างความมั่นใจ และโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการความสะดวก แม้ว่าจะต้องจ่ายค่าบริการสูงกว่า แต่ต่างกันไม่มาก เช่น เปลี่ยนยาง 4 เส้น ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1,000 บาทเมื่อเทียบกับร้านแบบเดิมทั่วไป

การแข่งขันในธุรกิจระดับเดียวกันมีไม่สูง เพราะมีผู้เล่นไม่มาก มีเพียง บีควิก ซึ่งบริษัทขยายสาขาเองทั้งหมด และ ค็อกพิทซึ่งเป็นดีลเลอร์ของยางบริดจสโตนเท่านั้น โดยไทร์พลัส” เป็นรายเดียวที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ และปัจจัยสุดท้ายคือค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ไม่สูงจึงมีความคุ้มค่าในการลงทุนซื้อแฟรนไชส์ไทร์พลัสไปทำธุรกิจ

การปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์ซี ของไทร์พลัส ยังพ่วงเอาบริการอื่นๆ ของธนาคาร เริ่มจาก KBank Franchise Solution แบบไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม ทั้งการก่อสร้างและปรับปรุงร้าน ให้วงเงินสูงสุด 80% รวมไปถึงบริการรับชำระเงิน เช่น EDC,K PLUS SHOP บริการจ่ายเงิน เช่น จ่ายเงินพนักงาน Direct Debit และวงเงินหมุนเวียนสำหรับซื้อสินค้ากับมิชลิน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน โดยตั้งเป้าหมายปล่อยกู้รวม 200 ล้านบาท

ผู้ประกอบการที่จะทำแฟรนไชส์ซีของไทร์พลัสจะต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า 400,000 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 200,000 บาท มีวงเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ 1-2 ล้านบาท ปัจจุบันแฟรนไชส์ไทร์พลัสมีศูนย์บริการ 133 สาขาในประเทศไทย มีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 200 สาขาภายในปี 2564 และมีโครงการที่จะขยายไปประเทศที่อยู่ใกล้กับไทย เช่น กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับมูลค่าธุรกิจฟาสต์ฟิตในไทยอยู่ที่ 34,000 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ แฟรนไชส์ด้านการศึกษายังอยู่ในโผถัดมาของกสิกรไทย สุรัตน์มองว่าในไทยมีธุรกิจแฟรนไชส์หรือแฟรนไซส์ซอร์ประมาณ 571 รายสำหรับธุรกิจยอดนิยม 3 อันดับแรกคือ กลุ่มธุรกิจอาหาร ธุรกิจเครื่องดื่มและไอศกรีม และธุรกิจการศึกษาในสัดส่วน 24% 23% และ 17% ตามลำดับ กลุ่มธุรกิจการศึกษามีอัตราการเติบโตมากถึง 23%

เมื่อลงลึก ธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาพบว่ามีมากถึง 98 ราย มูลค่าตลาดแฟรนไชส์การศึกษาในปี 2562 ประมาณ 42,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17% ของมูลค่าตลาดแฟรนไชส์ของไทย ทำให้ผู้ที่สนใจจะลงทุนเปิดแฟรนไชส์การศึกษาต้องเลือกแบรนด์ที่มั่นคงและมีอนาคต

ล่าสุด กสิกรไทยได้ร่วมมือกับ คุมอง (ไทยแลนด์) แบรนด์แฟรนไชส์โรงเรียนกวดวิชาจากญี่ปุ่น ที่มีสาขามากที่สุดในโลก และเป็นแฟรนไชส์ที่มีสาขามากเป็นอันดับที่ 4 ของโลกรองจากแบรนด์แฟรนไชส์ค้าปลีก และร้านอาหาร

ผู้อยากเปิดแฟรนไชส์คุมองหรืออยากปรับปรุงศูนย์ฯ ธนาคารสนับสนุนวงเงินสินเชื่อสูงสุด 70% ของมูลค่าการลงทุน เลือกผ่อนชำระได้นานตลอดอายุสัญญาแฟรนไชส์ไม่ต้องกังวลเรื่องหลักประกัน โดยมี บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) ค้ำประกันสินเชื่อและค่าธรรมเนียมอัตราพิเศษ

ปัจจุบัน คุมอง เปิดสาขาในไทย ตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบันมีนักเรียนกว่า 96,000 คน มี 483 สาขา หลังจากได้กสิกรไทยเป็นพันธมิตรช่วยผลักดันเรื่องเงินทุน  คาดว่าในปีนี้จะขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพิ่มอีก 22 สาขา ทำให้มีศูนย์คุมองมากกว่า 500 สาขา ใน 70 จังหวัดทั่วประเทศไทย.