ในยุคดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ รวมทั้งวิถีการทำงานที่ไม่ติดยึดกับกรอบเดิมๆ อีกต่อไป หากพูดถึง “อาชีพ” ที่มาแรงก็ต้องยกให้ “ฟรีแลนซ์” ที่วันนี้กระจายตัวอยู่ในหลากหลายวงการ และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำไม่แพ้อาชีพประจำ
Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำรวจสายงาน “ฟรีแลนซ์” ชาวไทย พบว่ามีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นพนักงานขาย อาจารย์ นักวิจัย นักแสดง นักวาด นักเขียน ล่าม เทรนเนอร์ ช่างแต่งหน้า บริการขับรถรับส่งผู้โดยสาร ไปจนถึงอาชีพที่คนทั่วไปมักเข้าใจว่าต้องทำงานประจำเท่านั้น เช่น แพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย นักบัญชี และที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน เป็นต้น
สรุปรวมฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างทั่วไป 34% รองลงมาคืองานสอนและงานวิจัย 11% พนักงานขาย 10% งานสายครีเอทีฟ 10% และขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ 9%
เปิดโผฟรีแลนซ์รายได้สูงสุด
แม้ฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มีรายรับต่อเดือนน้อยกว่าคนทำงานกลุ่มอื่นๆ แต่ชาวฟรีแลนซ์ 5% บอกว่ามีรายได้สูงกว่า 100,000 บาทต่อเดือน อายุเฉลี่ยของชาวฟรีแลนซ์รายได้สูงอยู่ที่ 44 ปีเท่านั้น เทียบกับมนุษย์เงินเดือนรายได้เกินแสน มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 46 ปี
อาชีพ “ฟรีแลนซ์” ที่ทำรายได้หลัก “แสนบาท” ต่อเดือน ก็คือ แพทย์, ตัวแทนขายประกันชีวิต/ที่ดิน, ผู้ตรวจสอบบัญชี, นักกฎหมายและทนายความอิสระ, งานครีเอทีฟ, ที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน, พนักงานขาย, วิทยากร, งานสอนและวิจัย
เมื่อก้าวเข้าสู่อาชีพฟรีแลนซ์ และต้องการหารายได้หลักแสนบาทต่อเนื่อง มี 3 ปัจจัยหลักที่ต้องนำไปปฏิบัติ
1.เรียนสูง ประสบการณ์มาก โอกาสได้เงินแสน
หลายคนอาจคิดว่ารายได้ของชาวฟรีแลนซ์ขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัว หรือความขยันในการทำงานเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วระดับการศึกษามีผลกับรายได้ของชาวฟรีแลนซ์มากกว่า การสำรวจพบว่าชาวฟรีแลนซ์ที่จบการศึกษาสูงมีโอกาสสร้างรายได้ที่สูงกว่า
ชาวฟรีแลนซ์ที่จบปริญญาโทขึ้นไป 13% บอกว่ามีรายรับต่อเดือนเกินแสน ในขณะที่ฟรีแลนซ์ซึ่งจบปริญญาตรีมีสัดส่วนเพียง 4% หรือมีโอกาสน้อยกว่าราว 3 เท่า
แต่เมื่อเทียบกันแล้วระดับการศึกษามีผลกับระดับเงินเดือนของงานประจำมากกว่า โดยมนุษย์เงินเดือนที่จบสูงกว่าปริญญาโทมีสัดส่วนคนที่ได้เงินเดือนเกินแสนมากกว่าคนที่จบปริญญาตรีถึง 6 เท่า ตรงนี้สะท้อนได้ว่าระดับการศึกษามีส่วนสำคัญในวงการฟรีแลนซ์ก็จริง แต่ไม่มากเท่ากับในวงการมนุษย์เงินเดือน
นอกจากนี้ “ประสบการณ์ทำงาน” มีส่วนช่วยให้รายรับจากงานฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในสายงานที่ยิ่งมีความรู้รอบตัวและประสบการณ์มากก็ยิ่งได้เปรียบ เช่น อาชีพพนักงานขาย ซึ่งต้องอาศัยทั้งความรอบรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการ ไปจนถึงวิธีการเข้าหาและรับมือกับลูกค้า หรืออาชีพที่ปรึกษาทางการเงินการลงทุน ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า
2.Work Smarter, Not Harder
หลายคนมีคติประจำใจว่า Work hard, Play hard แต่ความจริงแล้ว “การทำงานให้สุด อาจจะไม่หยุดที่เงินเพิ่มขึ้นเสมอไป”
ฟรีแลนซ์ชาวไทยส่วนใหญ่ทำงานประมาณ 3-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ระยะเวลาการทำงานไม่ได้ส่งผลกับระดับรายได้เสมอไป เมื่อลองเทียบระดับรายได้ตามระยะเวลาที่ใช้ทำงานจะเห็นว่าชาวฟรีแลนซ์ที่ทำงานน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันมีสัดส่วนกลุ่มคนรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน สูงสุดคือ 26% แซงหน้าชาวฟรีแลนซ์อีกสองกลุ่มที่มีระยะเวลาการทำงานมากกว่า ตีความได้ว่า ถึงจะใช้เวลาทำงานน้อยกว่าแต่ก็มีโอกาสได้รายได้สูงพอกัน หรือในบางกรณีก็อาจจะได้สูงกว่าด้วยซ้ำ
“อาจพอสรุปได้ว่าการโหมทำงานมากๆ ก็ไม่ได้ทำให้รายรับของเรามากขึ้นด้วยเสมอไป คุณภาพของงานบางครั้งก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำ แต่ขึ้นอยู่กับทักษะ ความรู้ ประสบการณ์”
3.สร้างคอนเนกชั่น
ใครว่าคอนเนกชั่นไม่สำคัญ เพราะตัวเลขบอกว่า ชาวฟรีแลนซ์เกิน 50% หางานผ่านคอนเนกชั่นทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อด้วยตัวเองโดยตรง ผ่านการแนะนำจากคนรู้จัก หรือผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น Facebook Instagram และ Twitter เป็นต้น
แน่นอนว่าการมีสังคมกว้างขวางย่อมหมายถึงโอกาสงานที่มากขึ้น แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือชาวฟรีแลนซ์ที่มีรายได้สูงๆ มักจะเลือกหางานผ่านคอนเนกชั่นส่วนตัวมากกว่าเว็บไซต์หางาน
โดยชาวฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 9,000 บาท บอกว่าหางานผ่านเว็บไซต์ 39% และหาผ่านคอนเนกชั่นทางสังคม 54% ในขณะที่ชาวฟรีแลนซ์รายได้ต่อเดือนสูงกว่า 100,000 บาทตอบว่าหางานผ่านเว็บไซต์เพียง 16% แต่หาผ่านคอนเนกชั่นสูงถึง 62%.
ข่าวเกี่ยวเนื่อง