ในงาน F8 2019 ที่ผ่านมาไม่กี่วันก่อน Facebook ได้เปิดตัวหน้าตาเว็บไซต์และแอปมือถือที่ออกแบบขึ้นใหม่ล่าสุด โดยเรียกว่า FB5 เบื้องต้นมีการวิเคราะห์ว่าจุดเด่นของดีไซน์ใหม่เรื่องการมุ่งเน้นไปที่ฟีเจอร์ Groups และ Messager นั้นถูกสร้างเพื่อให้ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้แบบส่วนตัว ซึ่งคาดว่าจะเป็นอนาคตของ Facebook ยุคใหม่
ดีไซน์ใหม่เหล่านี้คาดว่าจะทยอยเปิดใช้งานจริงต่อเนื่อง ตลอดช่วงหลายเดือนข้างหน้านี้ ซึ่งหลังจากเปิดตัวไปแล้วหลายคนก็มองว่า ออกแบบใหม่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่มองคล้าย Instagram เข้าไปทุกที
ที่ผ่านมาจุดเด่นของ Instagram ไม่ได้อยู่ที่ฟีดภาพที่ไม่สิ้นสุด แต่อยู่ที่เรื่องราวสดใหม่และการส่งข้อความโดยตรงหรือ Direct Messages ซึ่งเป็นกุญแจที่ทำให้ Instagram เป็นแพลตฟอร์มที่กระตุ้นการตอบสนองจากผู้ชมจนทำให้ปริมาณการมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นสูง
การออกแบบใหม่ของ Facebook จึงถูกมองว่ากำลังพยายามเลียนแบบความสำเร็จของ Instagram โดยเน้นสิ่งที่ผู้ก่อตั้งอย่าง Mark Zuckerberg ซึ่งกล่าวว่าเป็นหนึ่งในส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดของ Facebook คือบริการ Groups
ประเด็นนี้ Facebook แถลงว่าผู้ใช้บริการกลุ่มหรือ Groups จำนวนมากกว่า 400 ล้านคนในวันนี้พาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มที่สนใจและ ”มีความหมาย” เป็นพิเศษ สถิตินี้ทำให้ Facebook ตั้งแท็บ Groups ไว้โดดเด่นเป็นสง่าบน Facebook เวอร์ชันเว็บไซต์
เพื่อรวมการโพสต์ทั้งหมดจากกลุ่มส่วนตัวที่ผู้ใช้เป็นสมาชิกอยู่ กลายเป็นฟีดส่วนตัวหนึ่งเดียวที่ทำให้ผู้ใช้กดอ่านได้เร็วขึ้นกว่าการถูกซ่อนไว้ในแถบด้านข้างหรือ sidebar เหมือนปัจจุบัน
We just announced a fresh, new design for Facebook that makes communities as central as friends. FB5 is simpler, faster, more immersive and makes it easier to find what you’re looking for and get to your most-used features. #f82019 pic.twitter.com/YWIGEnpO4M
— Facebook (@facebook) 30 เมษายน 2562
การปลดแถบสีฟ้าเอกลักษณ์ของ Facebook ออกไปยังถูกมองว่ามองเหมือน Instagram เช่นกัน เพราะการเลือกใช้สีขาวโปร่งสบาย เหนือบริการ Stories ที่วางไว้กึ่งกลางหน้าเพจ ยังมีการวางแท็บไว้กึ่งกลางหน้าซึ่งมองเหมือน Instagram บนพื้นหลังสีเทาอ่อนที่ช่วยขับทุกองค์ประกอบโดดเด่นขึ้นบนหน้าเว็บไซต์
อย่างไรก็ตามการออกแบบใหม่ถือเป็นก้าวสำคัญครั้งแรกของ Facebook ในการสนับสนุนแถลงการณ์ล่าสุดของ Mark Zuckerberg ที่ระบุว่าจะมุ่งเน้นไปที่การสื่อสารส่วนตัวและบริการที่มุ่งเน้นความเป็นส่วนตัว โดยอาจจะรวม Messenger, Instagram และ Whatsapp อยู่บนระบบหลังบ้านเดียวกัน
นำไปสู่ความกังวลว่า Facebook จะเพิ่มความสามารถติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นว่าผู้ใช้กำลังพูดกับใคร รวมถึงการเพิ่มโครงสร้างด้านเทคนิคที่อาจทำให้ Facebook มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้คนและแสดงโฆษณาที่ตรงเป้าหมายยิ่งขึ้น
ครั้งนั้น Zuckerberg แก้ต่างว่าไม่เกี่ยว เพราะวิสัยทัศน์ของเขาคือการเน้นให้ Facebook เป็นเครื่องมือสำหรับการแบ่งปันที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น สิ่งที่ Zuckerberg ไม่ตอบคือเสียงค้านจากนักวิจารณ์ที่มอง Facebook มักมีจุดอ่อนที่ทำให้ผู้พัฒนาสามารถใช้ข้อมูลของชาว Facebook ในทางที่ผิด
รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้อย่างไม่เหมาะสมโดยไม่ได้รับความยินยอมและไม่ได้มีการเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยซึ่งเมื่อ Facebook ไม่สามารถควบคุมปัญหาเหล่านี้ทั้งที่โพสต์ถูกตั้งเป็นแบบสาธารณะ หากโพสต์และข้อความถูกตั้งเป็นส่วนตัวและเข้ารหัสลับ การควบคุมก็จะยิ่งทำได้ยากมากขึ้น
ท้ายที่สุดแล้ว Facebook ก็ยืนยันว่ามุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยและความสมบูรณ์ของชุมชน บนเม็ดเงินลงทุนที่จริงจังต่อเนื่อง