ปรากฏการณ์เติบโตของการซื้อของออนไลน์ กลายเป็นกระแสหลักให้ทุกธุรกิจต้องขยับตัวเข้าสู่ e-commerce อีกช่องทางขายในยุคออนไลน์บูม แต่การทำให้ได้ผล ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสินค้าใดเหมาะ เพราะ e-commerce อาจไม่ได้เป็นการทดแทนช่องทางขายเดิม แต่เป็นการเพิ่มยอดขายอีกทางหนึ่ง รวมทั้งการทำตลาดบน “มาร์เก็ตเพลส” และ “เว็บไซต์แบรนด์” แตกต่างกัน
ศุภฤกษ์ ตังเจริญศิริ กรรมการผู้จัดการ รีไพรส์ ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย กล่าวว่า หากดูพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่ทำกิจกรรมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต พบว่าที่มาเป็นอันดับ 1 สัดส่วน 90% คือ เสิร์ชหาสินค้าหรือบริการที่ต้องการซื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาด “อีคอมเมิร์ซ” เติบโต และธุรกิจต่างๆ ต้องมุ่งสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
นอกจากนี้ยังพบว่า 85% เมื่อหาสินค้าเจอ จะไปที่ “ร้านค้าออนไลน์ของแบรนด์” หรือเว็บไซต์แบรนด์ สัดส่วน 80% ของคนที่มีกิจกรรมบนโลกออนไลน์ จะซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ “คาดการณ์ได้เลยว่าผู้บริโภคที่หาข้อมูลสินค้าบนออนไลน์ ส่วนใหญ่จะตัดสินใจซื้อ”
อีกข้อมูลที่ต้องรู้ในการทำตลาดอีคอมเมิร์ซ คือ จำนวน 32% มาจากการซื้อขายผ่านเดสก์ท็อป หรือ แล็ปท็อป และ 71% ซื้อขายผ่าน “มือถือ” ดังนั้นหากต้องการทำตลาดอีคอมเมิร์ซ จะต้องนำเสนอสินค้าที่เหมาะกับโมบายไซต์ และแอปพลิเคชั่น
คนไทยช้อปออนไลน์จ่ายเงินแบบไหน
ด้านระบบ “เพย์เมนต์” พบว่า 82% ของคนที่ทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์ มีบัญชีกับธนาคารอยู่แล้ว โดยเกือบ 10% มีบัตรเครดิต สะท้อนให้เห็นว่าการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยยังนิยม “โอนเงิน” ที่ผ่านมาธนาคารต่างๆ จึงยกเลิกค่าธรรมเนียมโอนเงินข้ามธนาคาร
สัดส่วน 19% ซื้อออนไลน์และจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งการโอนเงินและจ่ายบิลออนไลน์ ดังนั้นช่องทางการจ่ายเงินผ่านอีคอมเมิร์ซจะต้องนำเสนอระบบเพย์เมนต์หลากหลายรูปแบบ
จากจำนวนคนที่มีบัญชีธนาคาร 82% ในจำนวนนี้ 74% ใช้ “โมบายแบงกิ้ง” ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารนำเสนอและปรับปรุงรูปแบบการให้บริการผ่าน โมบายแบงกิ้งอยู่ตลอดเวลา ทั้งเว็บไซต์และโมบายแอป โดย 47% หรือเกือบครึ่งเป็นกิจกรรมการโอนเงินผ่านโมบายแบงกิ้ง
สินค้าไหน “เวิร์ก” ทำอีคอมเมิร์ซ
แม้อีคอมเมิร์ซเป็นเทรนด์ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดย ปี 2019 ETDA คาดการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย เติบโต 20% ด้วยมูลค่ากว่า 3.8 ล้านล้านบาท
แต่การทำตลาดอีคอมเมิร์ซ ก็ไม่ได้เหมาะกับสินค้าทุกประเภท และการมีช่องทางอีคอมเมิร์ซก็ไม่ใช่การเข้ามาแทนที่ช่องทางเดิม แต่เป็นการเข้ามาเป็นอีกช่องทาง “เพิ่มยอดขาย”
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ช่องทางอีคอมเมิร์ซ “ไปได้ดี” ในกลุ่มผู้บริโภคไทย ที่นิยมซื้อสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ ในปี 2018 ประกอบด้วย
- ธุรกิจท่องเที่ยว จองโรงแรม มูลค่า 4,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.32 แสนล้านบาท) เติบโต 28% จากปัจจัยความสะดวกและการเปรียบเทียบราคา
- สินค้าอิเลคทรอนิกส์ กล้องถ่ายรูป มูลค่า 1,043 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (33,300 ล้านบาท) เติบโต 24% แม้เป็นสินค้าที่หาซื้อผ่านสโตร์ได้ แต่ก็เลือกซื้อออนไลน์ เพื่อต้องการให้ได้ดีลพิเศษ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สินค้าใช้ดึงลูกค้าช้อปออนไลน์
- แฟชั่นและบิวตี้ มูลค่า 908 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (29,000 ล้านบาท) เติบโต 17% สินค้ากลุ่มนี้ต้องดูความเหมาะสมของแพลตฟอร์มที่ใช้ เช่น ไอจี ที่เหมาะกับสินค้ากลุ่มนี้ แต่ต้องดูด้วยว่ามีช่องทางจ่ายเงินที่เหมาะสมหรือไม่
- เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (21,000 ล้านบาท) เติบโต 22% มาจากช่องว่างเรื่องการขนส่ง ซึ่งการซื้อขายออนไลน์ทำได้สะดวกกว่า
- ของเล่นและฮอบบี้ มูลค่า 575 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (18,371 ล้านบาท) เติบโต 25% เพราะหาซื้อได้ง่ายและสะดวก
- อาหารและเพอร์ซันนอลแคร์ มูลค่า 571 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (18,243 ล้านบาท) เติบโต 30% ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการอาหารเดลิเวอรี่
2 ออปชั่นปั้นตลาดอีคอมเมิร์ซ
สำหรับสินค้าและแบรนด์ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ จะมี 2 ออปชั่นหลักๆ คือ มาร์เก็ตเพลสต่างๆ ที่ให้บริการอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีเซ็นทรัล ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำเร็จรูปให้สินค้าใช้งานได้ทันที และ “อีคอมเมิร์ซ สโตร์” หรือเว็บไซต์ของแบรนด์
ต้องบอกว่าทั้ง 2 ออปชั่นในการทำตลาดอีคอมเมิร์ซ จะได้ “ประโยชน์” แตกต่างกัน
ประโยชน์ของ “มาร์เก็ต เพลส”
- เริ่มต้นได้ง่ายและการลงทุนต่ำ เพราะมาร์เก็ต เพลส มีแพลตฟอร์มให้ใช้งานอยู่แล้ว จึงเป็นสิ่งที่ทำได้เร็วและง่ายสำหรับการเริ่มต้น
- มาร์เก็ตเพลส จะมีผู้ดูแลระบบอยู่แล้ว ดังนั้นสินค้าจึงมีหน้าที่ดูแลเฉพาะคอนเทนต์ที่จะนำเสนอและขายสินค้าบนมาร์เก็ตเพลสเท่านั้น จึงไม่มีค่าใช้จ่ายด้านการดูและและรักษาระบบ
- สามารถเข้าถึง (Reach) คนได้จำนวนมาก เพราะมาร์เก็ตเพลส เป็นแหล่งรวมสินค้าจึงดึงคนเข้ามาใช้บริการได้จำนวนมาก จึงมีทราฟฟิกดี
- สามารถรองรับสินค้าได้จำนวนมาก จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการอัพเกรดสปีดและระบบต่างๆ ที่จะมีต้นทุนเพิ่ม
- มาร์เก็ตเพลส เป็นการค้นหาสินค้าที่ Optimized รองรับการเสิร์ชของลูกค้า ทำให้สินค้ามีโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายง่ายขึ้น
- ทราฟฟิกจากมาร์เก็ตเพลสที่เข้ามายังเว็บไซต์ จะมีต้นทุนต่ำกว่า
ประโยชน์ของ “อีคอมเมิร์ซ สโตร์” ผ่านเว็บไซต์แบรนด์
- สามารถควบคุมขั้นตอนการทำงานได้ จากการเชื่อมโยงข้อมูลที่สามารถผสมผสานหน้าเว็บกับระบบหลังบ้าน การดูแลสต็อกสินค้าทำได้ดี
- การ Customized ระบบต่างๆ บนเว็บไซต์ทำได้ง่ายกว่า
- ความยืดหยุ่นในการควบคุม “แบรนดิ้ง” การทำ Customer Experience Stores
- ลดความเสี่ยงการเปลี่ยนแบรนด์ เพราะในมาร์เก็ตเพลสมีแบรนด์ให้เลือกหลากหลาย หากลูกค้าหาแบรนด์ไม่เจอ แต่การมาที่เว็บไซต์แบรนด์ เป็นการล็อกลูกค้าให้อยู่กับแบรนด์โดยไม่เปลี่ยนใจ
- เว็บไซต์สามารถเก็บข้อมูล (ดาต้า) การซื้อสินค้าของลูกค้าได้ เพื่อนำมาใช้เพิ่มยอดขายได้
- นำเสนอสินค้าและโปรโมชั่นเฉพาะบุคคล ทำให้สามารถ Personalize รายบุคคล ทั้งสินค้า โปรโมชั่น และราคา