ผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2562 ของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของไทยที่ทยอยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่ารายได้เฉพาะบริการธุรกิจมือถือเอไอเอส มีรายได้รวมมากที่สุด 33,555 ล้านบาท โตขึ้น 1.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ได้รายได้ 31,208 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้าในระบบทั้งหมด 41.49 ล้านราย มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 321,500 ราย
ค่ายทรู มีรายได้จากการให้บริการมือถือรองลงมาเป็นอันดับ 2 ด้วยรายได้รวม 19,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้ได้อยู่ที่ 17,756 ล้านบาท โดยที่กลุ่มทรูมีจำนวนลูกค้ามือถือในระบบทั้งหมด ณ สิ้นไตรมาส 1 อยู่ที่ 29.6 ล้านราย เพิ่มขึ้น 338,000 ราย
ส่วนดีแทค อยู่ในอันดับ 3 มีรายได้จากบริการมือถืออยู่ที่ 15,124 ล้านบาท ลดลง 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้อยู่ที่ 16,041 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้าทั้งหมด 20.72 ล้านราย มียอดลูกค้าลดลงไป 476,000 ราย
แต่เมื่อเทียบรายได้ต่อเลขหมายของทั้ง 3 ค่ายแล้ว เอไอเอสเป็นรายที่มีรายได้ต่อเลขหมายสูงสุดที่ 253 บาท ดีแทคอยู่ในอันดับ 2 ที่ 242 บาทต่อเลขหมาย และทรูอยู่ในอันดับ 3 มีรายได้ 205 บาทต่อเลขหมาย
เมื่อเทียบอัตราการเติบโตตลาดรวมของธุรกิจมือถือของไทยในไตรมาสแรกนี้ กับการเติบโตทั้งปีของปี 2561 จะพบว่ามีการเติบโตในอัตราใกล้เคียงกัน โดยในปี 2561 ค่ายทรูโต 7.3% เอไอเอส 1.3% และดีแทคติดลบ 2.8% ทำให้เห็นว่า อัตราการเติบโตของตลาดมือถือในไทยกำลังจะเข้าสู่จุดอิ่มตัว ที่จะต้องขยายต่อยอดบริการอื่นๆ บนโครงข่ายแทน
ตลาดบรอดแบนด์แข่งกันแรงจัด เอไอเอสโต 27% แต่ทรูลด 2.3%
สำหรับธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ที่มีเพียงทรูและเอไอเอสให้บริการอยู่เพียง 2 รายเท่านั้น ในไตรมาสแรกปีนี้ พบว่า เอไอเอสมียอดรายได้เติบโตสูงถึง 27% โดยมีรายได้รวมจากธุรกิจนี้อยู่ที่ 1,288 ล้านบาท เพิ่มจาก 1,013 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2561 เอไอเอสมียอดผู้ใช้บริการรวมอยู่ที่ 795,000 ราย เพิ่มขึ้น 64,500 ราย มีรายได้ 563 บาทต่อลูกค้า 1 ราย ทั้งนี้เอไอเอสตั้งเป้าจะมีลูกค้าบรอดแบนด์ทั้งปี อยู่ที่ 1 ล้านราย
ส่วนทรูที่เป็นเจ้าตลาดในธุรกิจนี้มาอย่างยาวนาน เป็นไตรมาสแรกที่มีรายได้ลดลง 2.3% โดยมีรายได้รวมบริการนี้อยู่ที่ 6,186 ล้านบาท จากไตรมาสแรกของปี 2561 มียอดรายได้รวมอยู่ที่ 6,329 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทรูมียอดลูกค้ารวมถึง 3.5 ล้านราย และมีตัวเลขยอดลูกค้าเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ 55,000 ราย โดยเป็นยอดลูกค้าติดตั้งใหม่ที่น้อยกว่าเอไอเอส แต่ยังมี ARPU สูงกว่าเอไอเอส อยู่ที่ 587 บาทต่อลูกค้า 1 ราย
สาเหตุที่รายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์ของทรูลดลงเป็นครั้งแรก เพราะสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง นอกจากเอไอเอสแล้ว ก็ยังมี 3BB ของกลุ่มจัสมิน ที่เป็นอีกหนึ่งรายใหญ่ในตลาดเข้าไปแข่งกันในทุกที่
โดยที่ทรูออนไลน์ระบุว่า ในไตรมาสต่อไป ได้มุ่งเน้นเพิ่มฐานลูกค้าคุณภาพสูง และทำแพ็กเกจร่วมกับ TrueID TV OTT box เพื่อผลักดันยอดเติบโตต่อไป
รายได้รวม 3 ค่ายไตรมาสแรก เกือบแสนล้าน กำไรถ้วนหน้า
ในส่วนของรายได้รวมของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่นี้ ในไตรมาสแรก ทั้ง 3 ค่ายทำรายได้รวมกันถึง 95,439 ล้านบาท เป็นกำไรรวมกัน 10,522 ล้านบาท
เอไอเอส มีรายได้มากที่สุด จากบริษัทมือถือ บรอดแบนด์ และรายได้เสริมจากเครือข่าย โดยมีรายได้รวมทั้บริษัทอยู่ที่ 43,824 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 40,933 ล้านบาท และมีกำไร 7,615 ล้านบาท แต่เป็นอัตราลดลง 5.3% จากไตรมาสแรกปีที่แล้วที่มีกำไรอยู่ที่ 8,037 ล้านบาท
ค่ายทรู ที่มีธุรกิจตั้งแต่มือถือ บรอดแบนด์ ทีวี เพย์ทีวี และธุรกิจออนไลน์ มีรายได้รวม 32,955 ล้านบาท ลดลง 0.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีรายได้ 33,087 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากนโยบายการลดการทำโปรโมชั่น subsidy อุปกรณ์มือถือ และมีรายงานกำไรอยู่ที่ 1,509 ล้านบาท จากปีที่แล้วขาดทุนอยู่ที่ 673 ล้านบาท ทั้งนี้ตัวเลขกำไรของทรูยังไม่รวมผลการเพิ่มมูลค่าของกองทุน Digital Infrastructure Fund ที่จะทำให้มีสัดส่วนกำไรลดลง
ดีแทค เบอร์ 3 ของตลาด ที่มุ่งเน้นการให้บริการเครือข่ายมือถืออย่างเดียว มีรายได้รวม 19,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีรายได้รวม 19,255 ล้านบาท และยังสามารถทำกำไรได้ที่ 1,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จาก 1,314 ล้านบาทในปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ค่ายเพิ่งแจ้ง กสทช.ขอเข้าโครงการเลื่อนการชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz ตามคำสั่ง คสช.4/2562 และแจ้งความประสงค์เบื้องต้นให้ความสนใจเข้าประมูลคลื่น 700 MHz ที่นำมาจากกิจการทีวีดิจิทัลเพื่อมาให้กลุ่มโทรคมนาคมประมูลไปให้บริการ 5G.