กสทช. เคาะคลื่น 700 MHz หั่นเหลือใบละ 10 เมก ราคา 1.75 หมื่นล้าน เชื่อ 3 ค่ายมือถือไม่แตกแถว

มาตรการแก้ปัญหากิจการโทรคมนาคมและทีวีดิจิทัล ตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 เป็นการผูกโยงการนำคลื่น 700 MHz ที่เป็นการใช้งานในฝั่งทีวีดิจิทัล มาจัดสรรให้กับ “3 ค่ายมือถือ” ที่ต้องการขยายการจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz จาก 4 งวด 5 ปี เป็น 10 ปี การได้สิทธิดังกล่าวทั้ง 3 ผู้ประกอบการมือถือ ต้องรับจัดสรรคลื่น 700 MHz

หลังจากวันที่ 10 พ.ค. 2562 ทั้ง 3 ค่ายมือถือ TRUE DTAC AIS มายื่นใช้สิทธิขยายเวลาจ่ายเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz เรียบร้อยแล้ว แต่ “ทุกราย” ขอพิจารณา “ราคาใบอนุญาต” อีกครั้ง ก่อนรับจัดสรรคลื่น 700 MHz หลังจาก กสทช.ประกาศหลักเกณฑ์และราคาอย่างชัดเจนในวันนี้ (14 พ.ค.)

เคาะคลื่น 700 ใบละ 10 MHz ราคา 1.75 หมื่นล้าน

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (14 พ.ค.) ได้ออกประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz

โดยนำคลื่นย่าน 703-733 MHz คู่กับ 758-788 MHz เพื่อทำคลื่น 5G กำหนดจัดสรร 30 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต แบ่งเป็นใบละ 10 MHz ราคาใบละ 17,584 ล้านบาท หรือ 5 MHz ราคา 8,792 ล้านบาท การประเมินราคาดังกล่าวอ้างอิงจากราคาคลื่น 900 MHz การรับจัดสรรคลื่น 700 MHz ดังกล่าว มีอายุใบอนุญาต 15 ปี ระยะเวลาจ่ายเงิน 10 ปี เริ่มอายุใบอนุญาต วันที่ 1 ต.ค. 2563

หากผู้ประกอบการมือถือทั้ง 3 ราย มารับการจัดสรรคลื่นทั้ง 3 ใบอนุญาต จะได้รับเงินรวม 52,752 ล้านบาท  

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

 อีก 15 MHz แยกประมูล เม.ย. – มิ.ย. 63

จากเดิม กสทช.กำหนดการจัดสรรคลื่น 700 MHz จำนวน 45 MHz ใบอนุญาตละ 15 MHz ราคาประเมินก่อนหน้านี้ 25,000-27,000 ล้านบาท จำนวน 3 ใบอนุญาต ซึ่งราคาที่ กสทช.เปิดออกมาวันนี้ หากคิดจากราคา 15 MHz จะอยู่ที่ 26,376 ล้านบาท ใกล้เคียงกับราคาประเมิน

ทั้งนี้ ตามประกาศฯ ได้ปรับเป็นจัดสรรคลื่นเป็น 30 MHz โดยกันคลื่นจำนวน 15 MHz ไปประมูลอีกครั้งในเดือน เม.ย. – มิ.ย. 2563 กำหนดใบอนุญาตละ 5 MHz ราคาเริ่มต้นใกล้เคียงกับการจัดสรร ตามมาตรา 44

การลดจำนวนคลื่น 700 MHz จากเดิม 45 MHz เหลือ 30 MHz เนื่องจากพบว่าคลื่นความถี่บางส่วนที่อยู่ในคลื่น 700 MHz ใช้งานให้บริการคลื่นไมโครโฟน และจะหมดอายุสัญญาใช้งานปี 2564 ดังนั้นจึงแบ่งคลื่นอีก 15 MHz ไว้สำหรับประมูลในครั้งต่อไป และเพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการ 5G “รายใหม่” เข้าสู่ตลาด รวมทั้งรายเดิมสามารถเข้าร่วมประมูลได้เช่นกัน โดยจะประกาศ หลักเกณฑ์การประมูลและราคาออกมาอีกครั้ง

แต่หากค่ายมือถือทั้ง 3 ราย ที่มายื่นใช้สิทธิขยายเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz มี “รายใด” ไม่มารับการจัดสรรคลื่นในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ จะไม่ได้รับสิทธิขยายเวลาจ่ายค่าคลื่น 900 MHz หากมีผู้ประกอบการมารับจัดสรรคลื่น 700 MHz ไม่ครบทั้ง 3 ราย กสทช.จะนำคลื่นดังกล่าวไปรวมกับ 15 MHz ที่เหลืออยู่ ไปประมูลรวมกันในเดือน เม.ย. – มิ.ย. 2563

“ถึงวันนี้ กสทช. เชื่อว่าค่ายมือถือทั้ง 3 ราย จะเข้ามารับจัดสรรคลื่น 700 MHz ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้  เพื่อนำเงินไปชดเชยและแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล ตามมาตรา 44”

ไทม์ไลน์รับจัดสรรคลื่น 700 MHz 

สำหรับ “ไทม์ไลน์” จัดสรรคลื่นความถี่ในย่าน 700 MHz ตามประกาศ สำนักงาน กสทช. มีดังนี้

  • วันที่ 14 พ.ค. 2562 นำร่างประกาศการอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม คลื่น 700 MHz รับฟังความคิดเห็นสาธารณะทางเว็บไซต์
  • วันที่ 14–30 พ.ค. 2562 เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทางเว็บไซต์
  • วันที่ 22 พ.ค. 2562 จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โรงแรมสุโกศล
  • วันที่ 1–7 มิ.ย. 2562 คาดนำส่งประกาศหลักเกณฑ์ฯ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
  • วันที่ 8 มิ.ย. 2562 ออกประกาศฯ ขอรับจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz
  • วันที่ 19 มิ.ย. 2562 เปิดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz

จ่ายเงินชดเชยทีวีดิจิทัล 3,000-3,800 ล้าน

สำหรับความคืบหน้าการพิจารณาจ่ายเงินทีวีดิจิทัล “คืนใบอนุญาต” 7 ช่อง วันพฤหัสที่ 16 พ.ค.นี้ คณะอนุกรรมการฯ จะประชุมพิจารณาตัวเลขเงินชดเชยทีวีดิจิทัล โดยดูจากข้อมูลผลประกอบการที่ทีวีดิจิทัลส่งเอกสารมาให้

เบื้องต้น สำนักงาน กสทช. ประเมินเงินชดเชยคืนช่องอยู่ที่ 3,000-3,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าใกล้เคียงกับเงินสนับสนุนค่าโครงข่าย MUX ที่มาตรา 44 สนับสนุน หากทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่องยังประกอบกิจการอยู่ โดยวงเงินแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลทั้งหมด ทั้งการจ่ายเงินประมูลงวด 5 และ 6 ค่าโครงข่าย MUX ระยะเวลา 9.5 ปี และการจ่ายเงินชดเชยทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ยังอยู่ในกรอบวงเงิน 32,000 ล้านบาท ที่จะได้รับจากเงินประมูลคลื่น 700 MHz

การจ่ายเงินทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่อง จะใช้เงินกองทุน กทปส. ก่อนนำเงินประมูลคลื่น 700 MHz มาจ่ายคืน เพราะหลังจากทีวีดิจิทัลแจ้งคืนช่องแล้ว จะได้รับผลกระทบทั้งการประกอบกิจการที่จะมีรายได้จากโฆษณาเข้ามาลดลง รวมทั้งต้องจ่ายเงินเลิกจ้างให้กับพนักงาน คาดว่าทีวีดิจิทัล คืนช่อง จะยุติออกอากาศในเดือน ส.ค.นี้ และได้รับเงินชดเชย โดยต้องการให้พิจารณาจ่ายเงินเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานหรือมากกว่า

สำหรับโครงข่าย MUX เอง ที่มี 5 โครงข่าย คือ ททบ. 5 จำนวน 2 ใบอนุญาต, หลังจากทีวีดิจิทัล “คืนช่อง” ทำให้มีผู้ใช้บริการลดลง ดังนั้นจะมีการพิจารณาเงินชดเชย โครงข่าย MUX ที่ต้องการคืนใบอนุญาตด้วยเช่นกัน.