ต้องมีคุณสมบัติแบบไหนถึงจะมาคุม LINE ประเทศไทย ต่อจาก “อริยะ พนมยงค์” กับโจทย์ใหญ่ที่ต้องทำให้ประสบความสำเร็จกว่าเดิม

ตกเป็นข่าวครึกโครมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อ Positioning รายงานว่า กลุ่ม บีอีซี เวิลด์ ได้ทาบทามอริยะ พนมยงค์กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย มารับตำแหน่งใหญ่ตำแหน่งใหม่ President ก่อนจะมีการคอนเฟิร์ม และอริยะย้ายไปเริ่มงานใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อ 18 เมษายน

คำถามถัดมาคือ แล้วใครมาดู LINE ประเทศไทย แทน? ในที่สุด LINE คอร์ปอเรชั่น สำนักงานใหญ่ญี่ปุ่น ได้ตัดสินใจส่งอึนจอง ลีปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโส ฝ่ายบริหารธุรกิจระดับโลก ที่ LINE คอร์ปอเรชั่น ซึ่งรับผิดชอบดูแล การบริหารธุรกิจของ LINE ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม

โดยจะรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการคนใหม่

“อึนจอง ลี” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโสฝ่ายบริหารธุรกิจระดับโลกที่ LINE คอร์ปอเรชั่น

LINE คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า อึนจอง ลี มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการการตลาด การสร้างแบรนด์ และการพัฒนาธุรกิจมานานกว่า 20 ปีจากองค์กรชั้นนำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Ogilvy & Matters , Bain & Company , GS Home Shopping และ Samsung Card

โดยเธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์จาก Seoul National University ประเทศเกาหลีใต้ และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก Kellogg School of Management ใน Northwestern University ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดังนั้นในระหว่างนี้จึงอยู่ในช่วงสรรหากรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย คนใหม่อยู่ Positioning จึงหยิบเอาคำถามที่ว่า ต้องมีคุณสมบัติแบบไหนถึงจะมาคุม LINE Thailand ต่อจาก “อริยะ พนมยงค์ได้ โดย อึนจอง ลี ตอบคำถามนี้ว่า

“อริยะ พนมยงค์” ปรากฎตัวครั้งแรกในตำแหน่งใหม่ ในงานชี้แจงหลักเกณณ์การคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม

อย่างแรกเลยบุคคลที่จะเข้ามารับหน้าที่ต่อจากอริยะ ต้องมีความเป็นผู้นำที่ดี และเหมาะสมในการเข้ามาบริหารจัดการทีมงานที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องมีมุมมองและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สามารถต่อยอดจากสิ่งที่ LINE ทำอยู่ในปัจจุบัน ไปจนถึงการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตได้

เนื่องจาก LINE มีวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่มากในประเทศไทย ในการวางให้ LINE ประเทศไทย เป็นบริษัทของคนไทย ที่เข้าไปช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้สามารถเติบโตได้ ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเข้ากับวัฒนธรรมของ LINE ได้ แม้ว่าองค์กรจะมีขนาดใหญ่ แต่ยังต้องรักษาแนวทางในการทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ จึงอยากได้บุคคลที่เข้าใจแนวคิดดังกล่าว เพื่อให้มาทำงานร่วมกับทีม

ขณะเดียวกันยอมรับว่า การเข้ามารับตำแหน่งรักษาการกรรมการ LINE ประเทศไทย ในเวลานี้ ถือเป็นงานที่ท้าทายมาก จากการที่เป็นผู้บริหารชาวต่างชาติ ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องความเข้าใจผู้บริโภค รวมถึงภาษาในการสื่อสารกับทีมงาน ที่แม้ว่าจะพยายามเท่าไหร่ก็เทียบไม่ได้กับผู้บริหารชาวไทย

อริยะ พนมยงค์ ในวันแรกที่เข้าทำงานในช่อง 3

ดังนั้นการบริหารบริษัทในแต่ละท้องถิ่น จึงจำเป็นที่ต้องมีผู้นำที่เป็นคนของประเทศนั้นๆ อย่างที่เห็นว่ามีผู้บริหารญี่ปุ่นดูแลในประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกับในไต้หวันที่มีผู้บริหารที่เป็นคนไต้หวัน และก่อนหน้านี้ประเทศไทยก็มีอริยะดูแลอยู่ และเชื่อในแนวทางนี้

LINE ไม่อยากรีบเกินไปในการหาคน เพราะอยากได้คนที่เหมาะสมมากที่สุด แม้ว่าจะอยากได้ให้เร็วที่สุดก็ตาม โดยโจทย์ใหญ่ของกรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทยคนใหม่คือ ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ ก็ต้องการประสบความสำเร็จมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ LINE ไม่ได้จำกัดว่า คนที่ขึ้นมาต้องเป็นคนในองค์กรหรือคนนอก หากเหมาะสม LINE  ก็พร้อมจะแต่งตั้งทันที