นับตั้งแต่ 18 เมษายนที่ผ่านมา LINE คอร์ปอเรชั่น ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบของ LINE@ ทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยแค่แห่งเดียว โดยเปลี่ยน LINE Official Account ทั้งหมด และยกเลิกบริการรูปแบบเดิมไปเลย รูปแบบใหม่ทยอยให้ผู้ใช้บริการ LINE@ เปลี่ยนเองจนถึงเดือนกันยายนที่จะถูกบังคับเปลี่ยนทั้งหมด
ท่ามกลางฟีเจอร์ที่ LINE ระบุว่า จะสร้างประโชยน์ให้กับผู้ใช้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้าถึงลูกค้า เพราะสามารถ เพิ่ม Tag จัดประเภทของลูกค้า Broadcast เฉพาะกลุ่มได้ และปรับข้อมูลสถิติให้ดูง่ายมากขึ้น
เช่น จำนวน Follower จำนวนข้อความที่ส่งออกไป จำนวนข้อความแชท และการมีส่วนร่วมของแต่ละโพสต์บน Timelime และที่สำคัญคือ การเปิดการเชื่อมต่อ API กับ LINE ได้อย่างอิสระ
ขณะเดียวกันหลายคนก็กังวลกับ “ราคา” ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้เหมาเหมือนแพ็คเกจเดิม แต่คิดจากจำนวน Target Reach ซึ่งหมายถึง Follower ที่ไม่บล็อกและใช้งาน LINE เป็นประจำ
LINE ยืนยันว่า ราคานี้ถือว่าถูกกว่าประเทศญี่ปุ่น 10 – 20% และยังไม่มีลูกค้ารายที่ใช้ LINE Official Account อยู่แล้ว Feedback เรื่องราคาเข้ามา
อ่านเต็มๆ : ไขทุกข้อสงสัย! เหตุใดถึงต้องเปลี่ยน LINE@ เป็น LINE Official Account กับ “ราคา” ที่สูงขึ้น
แต่ในวันนี้เอง (18 พฤษภาคม) ได้มีหนึ่งในผู้ใช้ LINE Official Account ได้ออกมาประกาศยกเลิกการสื่อสารกับลูกค้าในช่องทางนี้ นั้นคือ Grab โดยเมื่อเวลา 11.00 น. ได้มีการส่งข้อความไปหาผู้ติดตามว่า
“Grab กำลังจะย้ายช่องทางการสื่อสารจากทางแอปไลน์ ไปที่ แอป Grab ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 62 เป็นต้นไป
คุณสามารถเข้าไปดูข่าวสารมากมายง่ายๆ ได้ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชันพิเศษ ดีลเด็ด ส่วนลดจากพาร์ทเนอร์ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ และอีกเพียบ
แค่เปิด Grab แอปเดียว ก็มีครบจบทุกเรื่อง! หรือสามารถเข้าไปติดตาม Grab เฟซบุ๊ค แฟนเพจ เพื่อติดตามข่าวสารต่างๆ ได้เช่นกัน และหากต้องการแจ้งปัญหาหรือมีข้อสงสัยก็สามารถ inbox ไปถามได้เลย!”
จริงๆ แล้วหากมองในแง่ของราคาที่เปลี่ยนแปลงไปก็ไม่แปลกนักที่จะตัดสินใจยกเลิกเพราะ Grab มีจำนวน Followers ถึง 7,813,834 User (จำนวนเมื่อเวลา 12.05 น.) แต่เนื่องจากในเว็บไซต์ “linebiz” เปิดให้คำนวนจำนวนผู้ติดตามถึงแค่ 5 ล้าน User ส่วนที่มากกว่านี้สามารถติดต่อเอเยนซี่ที่ดูแลได้
ก่อนหน้านี้ “นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร” Commercial Director ของ LINE ประเทศไทย ให้ข้อมูลกับ Positioning ไว้ว่า ราคาที่อยู่กับเอเยนซี่จะเป็นราคาเงินที่จ่ายด้วยเงินบาท และเป็นราคา “คงที่” ไม่เหมือนกับกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ราคาจะเปลี่ยนแปลงไปตามค่าเงิน USD ซึ่งอัตราเงินบาทที่จ่ายจริง จะเป็นตามอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น
ดังนั้นหากคำนวณด้วยสูตรที่แสดงอยู่ในเว็บไซต์จะพบว่า ต่อการส่งข้อความ 1 ครั้ง สำหรับมีผู้ติดตาม 5,000,000 Followers พบว่าจะมีค่าใช้จ่ายเงินเป็นจำนวน 350,400 บาท หรือ 11,269.90 USD ถือเป็นงบไม่ใช่น้อยๆ เลยทีเดียว
จริงๆ แล้วหากไม่นับราคาที่ต้องจ่ายการยกเลือกใช้ช่องทาง LINE ในครั้งนี้ของ Grab อาจไม่ต้องการให้คู่แข่งในสมรภูมิ Food Delivery ซึ่งทั้ง Grab Food และ LINE MAN ต่างโชว์ว่าตัวเองเป็นเบอร์ 1 กันอยู่ รู้ว่าตัวเองทำโปรโมชั่นอะไรบ้าง และฐานลูกค้ากลุ่มไหนตอบสนองกับโปรโมชั่นแบบไหน
เพราะคงปฎิเสธไม่ได้ว่า LINE ซึ่งเป็นเจ้าของแฟลตฟอร์ม หากจะตอบว่าไม่รู้คงเป็นไปไม่ได้ จริงไหม!