ไขทุกข้อสงสัย! เหตุใดถึงต้องเปลี่ยน LINE@ เป็น LINE Official Account กับ “ราคา” ที่สูงขึ้น

กลายเป็นที่มาของคำถามครึกโครมในกลุ่มนักการตลาดรวมไปถึงกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป เมื่อ 18 เมษายน ที่ผ่านมา LINE ตัดสินใจยกเครื่อง “LINE@“ ใหม่ทั้งหมด เติมฟีเจอร์ เปลี่ยนราคาที่หลายคนกังวลว่าแพงมากขึ้นพร้อมกับใช้ชื่อใหม่ “LINE Official Account” ส่วนรูปแบบเดิมจะถูกยกเลิกไปเลย

ที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร Commercial Director ของ LINE ประเทศไทย อธิบายว่า เดิม LINE@ เกิดขึ้นมาเมื่อ 2 ปีก่อน เพื่อเป็นช่องทางสำหรับให้ร้านค้า กลุ่ม SME ไว้ติดต่อกับกลุ่มลูกค้า ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างมาก การเติบโตของเมืองไทยเทียบเท่ากับญี่ปุ่นที่มีผู้ใช้งานที่สุด

ส่วนประเทศอื่นที่ใช้งานใกล้เคียงกับไทย เช่นไต้หวันยังสู้ไม่ได้เลย เนื่องจากคนไทยใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากและเก่งด้านการขายของในนี้ ถึงอย่างนั้นผลกระทบที่ตามมาคือ แพ็กเกจเดิมไม่ได้จำกัดข้อความ แต่จำจัดเฉพาะ Target Reach หรือผู้ติดตามที่ไม่ได้บล็อกและใช้ LINE เป็นประจำ

แพ็กเกจและค่าบริการของ LINE@

ส่งผลให้ผู้ใช้ LINE@ ส่งข้อความถี่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งของ E-Commerce ทั้ง 11/11 และ 12/12 บางรายมีการส่งข้อความทุกนาที เกิดเป็นต้นทุนด้านระบบที่ LINE ต้องแบกรับ ที่สำคัญยังกระทบกับฝั่ง User ของ LINE ซึ่งมี Feedback เข้ามา ด้วยมีข้อความเข้ามาไม่หยุดหย่อน โดยการสำรวจพบต่อ 1 วันผู้ใช้ 1 คนจะได้รับข้อความจาก LINE@ เฉลี่ย 60 ข้อความ

การที่ส่งข้อความมากเกินไปถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก เพราะแม้ผู้ใช้จะเห็นก็จริงแต่ก็เหมือนจะจำไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันพฤติกรรมของผู้ใช้ไม่ชอบข้อความยัดเยียด แม้ไม่ชอบจริงๆ บางคนก็เลือกจะบล็อกไปเลย ถึงบางคนยังสนใจอยู่แต่ไม่อยากได้ข้อความเยอะๆ

ผู้บริโภคต้องการเป็นส่วนตัว และต้องการเข้าถึงเฉพาะสิ่งที่ตัวเองสนใจ จึงเป็นหน้าที่ของ LINE ในการบาลานซ์จุดที่น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน ทั้งการสื่อสารและการทำมาค้าขาย ให้ Happy ทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะกับ User ให้ใช้แล้ว Enjoy ไม่ใช่ใช้แล้วบ่นไป

นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร Commercial Director ของ LINE ประเทศไทย

สำหรับการเปลี่ยนในวันที่ 18 เมษายน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทย เป็นเหมือนกันทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ระบบมีความอินเตอร์มากขึ้น โดยหลักๆ แล้วรูปแบบใหม่มีดีไซน์ใหม่ ปรับแชทสามารถใช้แบบ 1:1 เพิ่ม Tag จัดประเภทของลูกค้าได้, ใช้ Rich Message และ Rich Video ได้ฟรี

สามารถ Broadcast เฉพาะกลุ่มได้ และปรับข้อมูลสถิติให้ดูง่ายมากขึ้น เช่น จำนวน Follower จำนวนข้อความที่ส่งออกไป จำนวนข้อความแชท และการมีส่วนร่วมของแต่ละโพสต์บน Timeline และที่สำคัญคือ การเปิดการเชื่อมต่อ API กับ LINE ได้อย่างอิสระ ส่วน Sponsored Sticker ก็มีให้ใช้เช่นเดียวกัน แต่ขายราคาเดียวกับแบรนด์ใหญ่ๆ ไม่ได้ลดลง

โดยต่อไป LINE@ ซึ่งมีอายุ 2 ปี จะไม่มีอีกแล้ว เหลือแค่ LINE Official Account  เนื่องจาก LINE มองว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรัน 2 ระบบพร้อมกัน จะกลายเป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับเสียเปล่าๆ

ขณะเดียวกันราคาได้มีการปรับราคาใหม่ จากเดิมเป็นแพ็กเกจตายตัวราคา 198 – 6,888 บาท/เดือน มาคิดตามการเข้าถึงแบบข้อความ โดยราคามีตั้งแต่ 0.3 บาทต่อความ ลดลงไปเรื่อยๆ หากส่งเยอะขึ้น

โดยการคำนวณข้อความคิดจาก Target Reach ซึ่งหมายถึง Follower ที่ไม่บล็อกและใช้งาน LINE เป็นประจำ เช่น ส่งข้อความ 1 ครั้ง Target Reach 600 คน ก็จะเท่ากับ 600 ข้อความ

ส่วนราคาที่หลายคนกังวลว่าแพงมากขึ้นนั้นนรสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆ ราคานี้ถือว่าถูกกว่าประเทศญี่ปุ่น 10-20% เนื่องจากหากใช้ราคาเท่ากันจะส่งผลกระทบกับกลุ่มผู้ใช้หลัก ซึ่งก็คือกลุ่ม SME

โดย 3 กลุ่มใหญ่ที่สุดได้แก่แฟชั่น 20-30%, เครื่องสำอาง 15% และร้านอาหาร 15% ที่เหลือก็จะเป็นกลุ่มการศึกษา ติวเตอร์ อสังหาริมทรัพย์ กีฬา ไอที และรีเทล

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ LINE อยากกระตุ้นให้ไปใช้ Timeline ซึ่งแพ็กใหม่นี้สามารถใช้ได้ไม่จำกัด เนื่องจาก Timeline สามารถเข้าถึงผู้ใช้ได้ 100% โดยในไทยมีการเข้าใช้ Timeline พอๆ กับญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการใช้งาน LINE ราว 80-90% ของประชากร โดย LINE แนะนำว่า การส่งข้อความที่เหมาะสมที่สุดใน LINE@ มากที่สุดอาทิตย์ละ 1 ครั้งพอ

รายละเอียดแพ็กเกจรายเดือน LINE Official Account

วันนี้กลุ่มผู้ใช้หลักยังไม่มี Feedback เรื่องราคาเข้ามา ส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่รู้ ดังนั้น LINE จึงต้องเร่งให้ความรู้ เนื่องจากตั้งแต่ 18 เมษายน ผู้สมัครใหม่จะเป็น LINE Official Account ส่วนกลุ่มผู้ใช้เดิมหากยังไม่อัพเกรด ภายในเดือนกันยายนจะถูกย้ายทั้งหมดอัตโนมัติ ส่วน Feedback ที่เข้ามามีแค่กลุ่ม Publisher เท่านั้น

สำหรับกลุ่ม Publisher ที่กังวลเรื่องราคาที่ต้องจ่าย เนื่องจากส่วนใหญ่ใน LINE@ ถูกใช้เป็นช่องทางสำหรับส่งคอนเทนต์ไปหาผู้อ่าน จึงไม่มีรายได้โดยตรงจากช่องทางนี้นรสิทธิ์แนะนำว่า นอกจากเปลี่ยนไปโพสต์บน Timeline แล้ว ยังสามารถติดต่อเข้ามาเพื่อเข้า “LINE Idol” ซึ่งวางตัวเองเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวม อินฟลูเอนเซอร์” ไว้ด้วยกัน

อ่านเต็ม : “LINE Idol” ร่วมสงครามนักปั้น “อินฟลูเอนเซอร์

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3-4 นี้ใน LINE Official Account จะเพิ่มฟีเจอร์ “Shopping” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สามารถซึ่งขายสินค้าและจบในแชทได้เลย โดยจะมีการเชื่อมต่อกับทั้งระบบชำระเงินและโลจิสติกส์ในตัว

ปัจจุบัน LINE@ และ LINE Official Account มีผู้ใช้งานรวมกัน 2.7 ล้าน Account ภายในสิ้นปีนี้ต้องการเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว