หลักจาก กสทช.เปิดให้ทีวีดิจิทัล “คืนใบอนุญาต” และรับเงินชดเชยเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา แม้มีการวิเคราะห์ว่ากลุ่มทรู ที่ถือใบอนุญาตอยู่ 2 ช่อง คือ ช่องวาไรตี้ “ทรูโฟร์ยู” และช่องข่าว “ทีเอ็นเอ็น” อาจจะตัดสินใจ “คืน 1 ช่อง” เพื่อลด “ต้นทุน” เพราะนับตั้งแต่เริ่มต้นออนแอร์ ปี 2557 ยังแบกขาดทุนมาต่อเนื่อง
โดยทรูคอร์ปอเรชั่น ได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ย้ำว่าบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่ง บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด (TNN) และบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (True4U) ในฐานะผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล มีความประสงค์จะดำเนินธุรกิจต่อไป โดยไม่คืนใบอนุญาต
“ทรูโฟร์ยู” ปี 61 ขาดทุนลดลง
สำหรับ “ทรูโฟร์ยู” ช่องวาไรตี้ ประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลมาด้วยมูลค่า 2,315 ล้านบาท นับตั้งแต่เริ่มออนแอร์ปี 2557 นำเสนอการถ่ายทอดสดรายการกีฬาทั้งไทยและต่างประเทศที่กลุ่มทรูได้ลิขสิทธิ์ รวมทั้งรายการวาไรตี้ ซีรีส์ ละคร ที่ผลิตเองและลิขสิทธิ์ต่างประเทศ โดยเฉพาะจากค่ายเกาหลี ที่ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ ซีเจ อีเอ็นเอ็ม ชูกลยุทธ์เป็นช่อง “ติ่งเกาหลี” หวังสร้างฐานผู้ชมช่องจากแฟนคลับผู้ชื่นชอบบันเทิงเกาหลี แต่เรตติ้ง “ทรูโฟร์ยู” ปี 2561 ยังคงไม่ติดท็อปเท็น รั้งอันดับ 13 เรตติ้ง 0.14
ในด้านรายได้ 5 ปีของทรูโฟร์ยู ยังอยู่ในภาวะขาดทุนต่อเนื่อง แต่เริ่มเห็นสัญญาณลดลง โดยบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด รายงานข้อมูลผลประกอบการไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดปี 2561 “ขาดทุนลดลง” 3.4%
- ปี 2557 รายได้ 275 ล้านบาท ขาดทุน 135 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้ 601 ล้านบาท ขาดทุน 403 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 726 ล้านบาท ขาดทุน 633 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 794 ล้านบาท ขาดทุน 328 ล้านบาท
- ปี 2561 รายได้ 831 ล้านบาท ขาดทุน 317 ล้านบาท
“ทีเอ็นเอ็น” สัญญาณบวก
ด้านช่องข่าว “ทีเอ็นเอ็น” ที่ประมูลทีวีดิจิทัลมาด้วยมูลค่า 1,316 ล้านบาท แม้เรตติ้งยังอยู่ท้ายตาราง ปี 2561 อยู่อับดับที่ 23 เรตติ้ง 0.02 แต่สถานการณ์การ “คืนใบอนุญาต” ทีวีดิจิทัล เมื่อวันที่ 10 พ.ค.รวม 7 ช่อง ในจำนวนนี้มีช่องข่าว 3 ช่อง คือ สปริงนิวส์ 19, วอยซ์ทีวี และไบรท์ทีวี ก่อนหน้านี้ ไทยทีวี ช่องข่าว ได้ปิดตัวตั้งแต่ปี 2558 ทำให้ช่องข่าวที่เปิดประมูล 7 ช่อง หลังคืนใบอนุญาตและยุติออกอากาศในเดือน ส.ค.นี้ จะเหลือช่องข่าวเพียง 3 ช่อง คือ เนชั่นทีวี นิวทีวี และทีเอ็นเอ็น
หากมองโอกาสดึงผู้ชมจากช่องข่าวที่เตรียมลาจอ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ ส่วนอันดับเรตติ้ง หายไป 7 ช่อง ก็ต้องขยับขึ้นแน่นอน แต่อีกสัญญาณบวกของ “ทีเอ็นเอ็น” มาจากผลประกอบการปี 2561 ซึ่งบริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด แจ้งข้อมูลต่อ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าตัวเลขขาดทุนลดลง 190% และรายได้เพิ่มขึ้น 112%
- ปี 2557 รายได้ 363 ล้านบาท ขาดทุน 131 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้ 390 ล้านบาท ขาดทุน 200 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 395 ล้านบาท ขาดทุน 164 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 395 ล้านบาท ขาดทุน 125 ล้านบาท
- ปี 2561 รายได้ 841 ล้านบาท ขาดทุน 43 ล้านบาท
แม้การคืนใบอนุญาต ทรูโฟร์ยูและทีเอ็นเอ็น จะทำให้ทรูได้เงินชดเชยกลับมากว่า 1,000 ล้านบาท แต่กลุ่มทรูที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เดือน พ.ค.2562 กว่า 1.6 แสนล้านบาท คงไม่เลือกเส้นทางนั้น อีกทั้งตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ยังครองตำแหน่งมหาเศรษฐีไทยอันดับ 1 มูลค่า 9.41 แสนล้านบาท จากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes Thailand ปี 2562 การมีสื่อทีวีดิจิทัลในมือน่าจะเป็นช่องทางต่อยอดธุรกิจในเครือและโอกาสการหารายได้ในอนาคตได้มากกว่ามูลค่าชดเชยจาก กสทช. ณ วันนี้.
ข่าวเกี่ยวเนื่อง
- ก่อนคืน 2 ช่อง “ช่อง 3 กลับมาทำกำไร” “อริยะ” ปลุกพนักงานสู้ บุก “ออฟไลน์-ออนไลน์
- เปิดรายได้ 2 ช่องทีวีดิจิทัล ปี 61 ช่อง 7 กำไร 1.6 พันล้าน – พีพีทีวี ขาดทุน 1.8 พันล้าน เป็นปีที่ 5