ทำไม “ไมเนอร์” ต้องชิงบริหารพื้นที่พาณิชย์สุวรรณภูมิ แจงปมโดนตัดสิทธิ์ จี้ ทอท.ทบทวนใหม่

ค่ายไมเนอร์ เจ้าของธุรกิจอาหารและโรงแรม ปรากฏรายชื่อเป็นหนึ่งในผู้ที่เสนอตัวเข้ามชิงสัมปทานดิวตี้ฟรี และสิทธิ์บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจาก “คิงเพาเวอร์” เป็นผู้ถือสิทธิ์บริหารดิวตี้ฟรีมายาวนาน 30 ปี

แต่ยังไม่ทัน บมจ. การท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT จะเปิดซองผู้เสนอราคาสูงสุด ในวันศุกร์นี้ (31 พ.ค.) ชื่อของ “ไมเนอร์” ต้องหายไปจากรายชื่อผู้เสนอราคาแล้ว

การประมูลครั้งสำคัญนี้ ทอท. เปิดให้เอกชนซื้อซองเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2562 และเปิดให้ “ยื่นซอง” โครงการบริหารจัดการพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 เพื่อเข้ารับสัญญาสัมปทานครั้งใหม่ระหว่างวันที่ 27 ก.ย. 2563 – 23 มี.ค. 2574 อายุ 10 ปี 6 เดือน

โดยแบ่งการประมูลเป็น 2 สัญญา คือ 1. สิทธิบริหารพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดภาษีอากร (ดิวตี้ฟรี) สุวรรณภูมิ สัญญานี้มีเอกชนซื้อซอง ทีโออาร์ 5 ราย คือ 1. บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด 2. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท โฮเต็ล ล็อตเต้ จำกัด 3. บริษัท รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป และ WDFG UK 4. บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และ 5. บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ในกลุ่มนี้ มี 2 บริษัท คือ เซ็นทรัลและไมเนอร์ ไม่ยื่นซองเอกสารเทคนิค จึงเหลือผู้ชิงประมูล 3 ราย

สัญญาที่ 2. สิทธิบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (Commercial area) สนามบินสุวรรณภูมิ มีเอกชนซื้อซอง ทีโออาร์ 4 ราย 1. บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด 2. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด

การเปิดให้เอกชน “ยื่นซอง” เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ในสัญญานี้ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ไม่ยื่นซองประมูล ส่วน ไมเนอร์ ถูก ทอท. ตัดสิทธิ์เข้าร่วมประมูล ด้วยเหตุผลผิดเงื่อนไขตามทีโออาร์ ข้อ 3 และ ข้อ 5 จากการอ้างอิงเอกสารประสบการณ์ของบริษัทลูก ทำให้สัญญาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์เหลือผู้ผ่านเกณฑ์เข้าชิงเพียง 2 ราย คือ คิงเพาเวอร์ และ เซ็นทรัลพัฒนา

กรอบเวลาหลังจากนี้ คือวันที่ 29 – 30 พ.ค. นี้ ทอท. กำหนดให้ผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติมานำเสนอแผนบริหารโครงการ จากนั้นวันศุกร์ 31 พ.ค. นี้ จะเปิดซองราคาและประกาศผลผู้ชนะทั้ง 2 สัญญา

ไมเนอร์แจงปมตัดสิทธิ์คุณสมบัติ

หลังจาก “ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ถูกตัดสิทธิ์คุณสมบัติเข้าร่วมประมูลในวันที่ 22 พ.ค. จากนั้น วันที่ศุกร์ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

แจกแจงประเด็นที่ ทอท. ชี้ว่าผิดเงื่อนไขการประมูล ที่ระบุว่า ไมเนอร์ ขาดประสบการณ์ในการดำเนินงาน ตามเงื่อนไข คือ การบริหารพื้นที่ศูนย์การค้าขนาด 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี และมีประสบการณ์บริหารธุรกิจค้าปลีก จำหน่ายสินค้า อาหารและเครื่องดื่มในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า พื้นที่ขนาด 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ดำเนินการต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี เป็นเพราะนำเสนอประสบการณ์ โดยอ้างอิงการทำงานของบริษัทลูก ที่ดำเนินธุรกิจโรงแรม ค้าปลีก และร้านอาหาร

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่การเงินส่วนกลางและวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไมเนอร์ “ไม่เห็นด้วย” กับ ทอท. ในการตัดสิทธิ์ไมเนอร์ ที่มีประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจด้านอาหาร เครื่องดื่มและการค้าปลีกในประเทศไทยตามข้อกำหนดของเอกสารการยื่นข้อเสนอ

“ไมเนอร์” เป็นผู้ประกอบการในธุรกิจด้านอาหารและค้าปลีกในประเทศไทย ซึ่งดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง ผ่านบริษัทลูกที่ไมเนอร์ เป็นเจ้าของและเป็นผู้ถือหุ้นหลัก 80 – 90%

  1. บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ผู้ดำเนินธุรกิจประเภทร้านอาหาร
  2. บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ผู้ดำเนินธุรกิจประเภทจัดจำหน่ายสินค้าด้านแฟชั่น และไลฟ์สไตล์
  3. บริษัท รอยัล การ์เด้น พลาซ่า จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ ศูนย์การค้า รอยัล การ์เด้น พลาซ่า พัทยา และ ศูนย์การค้า เทอร์เทิล วิลเลจ พลาซ่า
  4. บริษัท เจ้าพระยา รีซอร์ท จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ ศูนย์การค้า ริเวอร์ไซด์ พลาซ่า

“ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผู้ซื้อซองและยื่นซองประมูล อีกทั้งเป็น “เจ้าของ” ที่มีอำนาจในการบริหารและกำหนดทิศทางการดำเนินงานของ 4 บริษัทลูกที่มีประสบการณ์ตามเงื่อนไขเข้าประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิตามที่ ทอท. กำหนด

การที่ ทอท. ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอของไมเนอร์ เนื่องจากขาดคุณสมบัติจึงไม่ถูกต้อง จึงขอให้ ทอท. พิจารณาทบทวนการตัดสินของ ทอท. อย่างเร่งด่วนอีกครั้ง เพื่อความเป็นธรรมการประมูลครั้งนี้

หลังจากยื่นหนังสือให้ ทอท. ทบทวน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังรอผลตอบกลับจาก ทอท. แต่ก็เหลือเวลาอีกไม่มาก เพราะตามกำหนดผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติจะต้องเสนอแผนบริหารพื้นที่ในวันที่ 29 – 30 พ.ค. นี้

ชิงพื้นที่เชิงพาณิชย์หนุนธุรกิจหลัก

ปัจจัยที่ทำให้ “ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” สนใจเข้าร่วมประมูลบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ ชัยพัฒน์ อธิบายว่าต้องการพัฒนาพื้นที่สุวรรณภูมิให้เป็นสนามบินที่ติดอันดับโลก เพื่อเป็น “ประตู” ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทยให้ได้จำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์และธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้ประโยชน์ทั้งหมด รวมทั้งธุรกิจของกลุ่มไมเนอร์

ปัจจุบัน ไมเนอร์มีธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท อยู่ใน 64 ประเทศ ใน 5 ทวีป รู้ข้อมูลพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติดีว่าต้องการรับบริการประเภทใด เพื่อที่จะนำมาพัฒนาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สุวรรณภูมิ

หวังดันรายได้ไมเนอร์โตแกร่ง

“ไมเนอร์ กรุ๊ป” เป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรม อาหาร และไลฟ์สไตล์ ที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ภายใต้แผนระยะยาวช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ตั้งเป้าเติบโต 15 – 20% การเข้าประมูลบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ ถือเป็นการขยายธุรกิจใหม่ ที่จะช่วยผลักดันการเติบโตของไมเนอร์ ให้แข็งแกร่งมากขึ้นและเติบโตได้สูงกว่าเป้าหมายแผน 5 ปีที่บริษัทวางไว้

สำหรับผลประกอบการ “ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทำรายได้เติบโตต่อเนื่อง

  • ปี 2562 ไตรมาสแรก รายได้ 29,029 ล้านบาท กำไร 583 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 79,328 ล้านบาท กำไร 5,444 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 58,643 ล้านบาท กำไร 5,415 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 56,972 ล้านบาท กำไร 6,590 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 48,149 ล้านบาท กำไร 7,040 ล้านบาท